“คเณศชยันตี” วันประสูติพระคเณศ เทพแห่งความสำเร็จ ขจัดอุปสรรคขวากหนาม

คเณศชยันตี วันประสูติ พระคเณศ หรือ พระพิฆเณศ

“คเณศชยันตี” วันประสูติพระคเณศ หรือ “พระพิฆเนศ” ประจำ พ.ศ. 2567 ตรงกับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ถือเป็นวันเฉลิมฉลองแด่องค์พระคเณศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ผู้ขจัดอุปสรรคปัญหา รวมถึง “เทพแห่งการเริ่มต้น” (god of beginning)

ดังจะเห็นว่า ผู้น้อมนำความเชื่อแบบฮินดูหรือบูชาพระคเณศ จะบูชาพระองค์ก่อนในทุกกิจกรรมในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าการเรียน แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ประพันธ์หนังสือ การเดินทาง หรือการทำมาค้าขาย

พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าคณะพราหมณ์ สำนักพระราชวัง เล่าถึงตำนานพระคเณศที่รับรู้กันแพร่หลายที่สุด คือพระองค์เป็นโอรสของพระอิศวรกับพระอุมาเทวี มีสี่กร พระเศียรเป็นช้าง มีงาข้างเดียว พระวรกายสีเหลือง อ้วนพุงพลุ้ย และมีหนูเป็นพาหนะ

พระพิฆเนศ ภาพวาดราว ค.ศ. 1820 (ภาพจาก www.britishmuseum.org)

การกำเนิดพระคเณศนั้นมาจากพระอุมาเทวีเป็นสำคัญ เพราะพระนางได้เนรมิตพระคเณศขึ้นมาจากขมิ้นที่ทาพระวรกายให้เป็นกุมารรูปงาม เพื่อให้ทำหน้าที่เฝ้าประตูห้องสรง แต่แล้ววันหนึ่ง พระอิศวรเสด็จจะเข้าไปในห้องสรงด้วยพระอุมาฯ พระคเณศเข้าขัดขวางไว้ พระอิศวรพิโรธจึงเกิดการต่อสู้กัน ปรากฏว่าพระอิศวรสู้พระคเณศไม่ได้ ร้อนไปถึงทวยเทพต้องเข้ามาช่วย ลงเอยด้วยพระคเณศถูกพระนารายณ์ตัดเศียรขาด

เมื่อความทราบถึงพระอุมาฯ พระนางทรงพิโรธหนักจนพระอิศวรต้องชุมนุมเหล่าเทพอีกครั้งเพื่อแก้ไขเรื่องนี้ จากนั้นส่งเทพทั้งหลายไปค้นหามนุษย์หรือสัตว์ที่นอนเอาศีรษะไปทิศตะวันตก เพื่อตัดศีรษะมาต่อให้พระกุมารเสีย

ปรากฏว่าได้ศีรษะช้างเผือกเชือกหนึ่งที่นอนหันศีรษะไปทิศตะวันตกมาต่อได้สำเร็จ เป็นเหตุให้พระคเณศมีเศียรเป็นช้าง พระอิศวรยังตั้งให้พระคเณศเป็นใหญ่ในหมู่เทพรับใช้ของพระองค์ พร้อมประสาทพรให้เป็นผู้ขจัดอุปสรรคทั้งปวง เป็นเทพแห่งสติปัญญาและความสำเร็จ

เป็นที่มาที่พราหมณ์ผู้จะประกอบพิธีจะต้องบูชา “พระคเณศ” ก่อนจะบวงสรวงบูชาเทพองค์อื่น ๆ

สำหรับที่มาของการนับหรือคำนวณวันคเณศชยันตี มีหลักอ้างอิงจาก คัมภีร์มุทคลปุราณะ ที่ระบุวันประสูติของพระคเณศไว้ว่า ตรงกับ “ศุทธ มาฆจตุรถี” คือวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน “มาฆะ” ตามปฏิทินฮินดู ซึ่งจะตกราวกลางเดือนมกราคมถึงกลางกุมภาพันธ์ ช่วงนี้ของปีจึงมีเทศกาลคเณศชยันตี โดยคำว่า “ชยันตี” แปลว่า ฉลองชัย หรืองานเฉลิมฉลองวันเกิดนั่นเอง

คติความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับ คเณศชยันตี ปรากฏชัด ณ รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย เพราะที่นั่นถือเอางานฉลอง “วันเกิด” พระคเณศ เป็นงานยิ่งใหญ่ประจำปี ด้วยการจัดสร้างองค์พระคเณศขนาดต่าง ๆ ไปลอยแม่น้ำ

แม้พระคเณศจะเป็นเทพเจ้าเก่าแก่ลำดับต้น ๆ ในอินเดีย แต่คัมภีร์มุทคลปุราณะ ที่มาของวันประสูติของพระคเณศนั้นเพิ่งถูกประพันธ์ขึ้นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 เท่านั้น โดยปราชญ์ นิกายคณปัตยะ ลัทธิที่นับถือพระคเณศเป็นหลัก

ผศ. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ท่านโมรยาโคสาวี นักบุญคนสำคัญที่สุดของนิกายคาณปัตยะในแคว้นมหาราษฎร์ มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 มีวันเกิดในวัน ‘คเณศชยันตี’ พอดี คนมาราฐีมีความเชื่อที่พิเศษอันหนึ่ง คือเชื่อกันว่าท่านโมรยาโคสาวีเป็นอวตารของพระคเณศ พระมยุเรศวร (พระคเณศ) ได้มาบังเกิดเป็นท่าน ท่านจึงได้ชื่อ ‘โมรยา’ ”

นี่จึงเป็นที่มาของ คเณศชยันตี วันประสูติของพระคเณศ ที่ตรงตามวันเกิดของโมรยาโคสาวี

บทสวดมนต์บูชา “พระคเณศ”

การสวดมนต์สำหรับบูชาพระคเณศนั้น หากว่าตามแบบแผนโบราณถือว่ามีเป็นร้อยกว่าบท ทั้งพระนามของพระองค์มีมากถึง 108 พระนาม ทำให้บทสวดมีจำนวนมากตามไปด้วย

แต่ยังมีบทสั้นอันเป็นที่นิยมคือ “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ว่าแล้วขอพรตามประสงค์ จากนั้นกล่าวคำว่า “โอม ศานติ” 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

สำหรับของบูชาพระคเณศ จะเป็นบรรดาผลไม้จำพวก กล้วย อ้อย ส้ม มะพร้าว แอปเปิ้ล สับปะรด เป็นต้น รวมถึงขนมหวานต่าง ๆ ทั้งนี้ ห้ามถวายของดองและเนื้อสัตว์เด็ดขาด

อีกหนึ่งบทสวดมนต์สำหรับบูชาพระคเณศ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม มีดังนี้

“โอมนะโม พระคเณศายะ นะโม นะมะ

คันธะมาละ สิทธาหะนัม กะพะนะมะ

*สัมมาอะระหัง วันทามิ (*3 รอบ) ”

อย่างไรก็ตาม พึงระลึกว่า ความเชื่อ ความศรัทธา ควรมาคู่กับความมุ่งมั่นขยันหมั่นเพียร จึงจะทำให้ผู้บูชาพระคเณศประสบความสำเร็จด้วยประการทั้งปวงได้อย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กองบรรณาธิการข่าวสด. (2553). เทพ-เทวะ ศักดิ์สิทธ์-สักการะ. กรุงเทพฯ : มติชน.

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. (2560). ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567