“ลาวโซ่ง” กลุ่มชาติพันธุ์จากเวียดนาม เกี่ยวอะไรกับ “พระนครคีรี” ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้าง?

พระนครคีรี เพชรบุรี เขาวัง ลาวโซ่ง ไทยทรงดำ เป็น แรงงาน ก่อสร้าง
พระนครคีรีสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพ จากหนังสือประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร 2548)

ลาวโซ่ง ลาวทรงดำ หรือ ไทยทรงดำ เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ “สิบสองจุไท” (บ้างสะกด สิบสองจุไทย) หรือเมืองแถง ทางตอนเหนือของเวียดนาม ลาวโซ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ จึงเป็นที่มาของการเรียกว่า ลาวทรงดำ หรือ ไทยทรงดำ แล้วลาวโซ่งเกี่ยวอะไรกับ “พระนครคีรี” เพชรบุรี พระราชวังในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว?

ลาวโซ่ง ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสยามพร้อมๆ กับชาวลาวกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รวมทั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้กลุ่มลาวโซ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ “เขาย้อย” ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบัน

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นที่เมืองเพชรบุรี ใน พ.ศ. 2402 เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ในการเสด็จแปรพระราชฐานเยี่ยมเยียนราษฎร

สาเหตุที่สร้างที่นี่ เนื่องจากพระองค์เคยเสด็จมาประทับก่อนขึ้นครองราชสมบัติ เป็นเมืองยุทธศาสตร์และเมืองหน้าด่านที่สำคัญมาแต่โบราณ เป็นเมืองที่อากาศดี มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ มาได้โดยสะดวก

การก่อสร้างมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง และมีพระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) เป็นนายงานก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี ก็แล้วเสร็จ โดยรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามว่าพระนครคีรี

แรงงานสำคัญในการก่อสร้าง พระนครคีรี เพชรบุรี คือ “ลาวโซ่ง” ซึ่งตั้งถิ่นฐานที่เมืองเพชรบุรีสืบต่อมาหลายชั่วอายุคน และนอกจากชาวลาวโซ่งจะเป็นแรงงานในการก่อสร้างแล้ว ก็ยังเป็นผู้รับใช้บนพระนครคีรีอีกด้วย เรียกว่า “เด็กชา”

รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกชาวลาวโซ่งมาเป็นเด็กชา ด้วยทรงเห็นความดีความชอบของกลุ่มลาวโซ่ง ที่มาเป็นแรงงานก่อสร้างพระนครคีรีด้วยความอุตสาหะ ซึ่งเด็กชาจะแบ่งกันทำหน้าที่ต่างๆ เช่น หามพระคาน, หามเสลี่ยง, ยามรักษาการณ์, เข้าเวรรักษาวัง, แบกหามสิ่งของ

เด็กชาเหล่านี้ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีเช่นเดียวกับมหาดเล็ก ซึ่งเบี้ยหวัดที่ได้มีตั้งแต่ 1-10 ตำลึง และได้รับยกเว้นการเก็บส่วยภาษี

ลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ จึงเกี่ยวข้องกับพระนครคีรีเช่นนี้เอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี. “เรื่อง(ไม่)ลับ ๒๐ คำถาม พระนครคีรี”. https://bit.ly/4bbGloO

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. “เรือนลาวโซ่ง”. https://bit.ly/3QobQUy

เสมียนนารี. “เด็กชา ข้าราชการในอดีต ทำไมใช้เด็ก? แล้วที่เมืองเพชรทำไมเด็กชาเป็นโซ่ง?”


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2567