ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
สิบสองปันนา และ สิบสองจุไท คือถิ่นฐานของกลุ่มคนพูดภาษาไทกะได หรือ เผ่าไท ซึ่งอยู่ในพื้นที่เวียดนามและตอนใต้ของจีน ชื่อบ้านนามเมืองเหล่านี้หมายถึงอะไร ทำไมต้อง “สิบสอง” ?
สิบสองปันนา และ สิบสองจุไท
สิบสองปันนา กับ สิบสองจุไท มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันทั้งในแง่ประชากรศาสตร์และประวัติศาสตร์ ก่อนการแบ่งเส้นเขตแดนใหม่ในยุคล่าอาณานิคม แล้วถูกแบ่งไปเป็นส่วนหนึ่งของหลายประเทศที่อยู่รายล้อม
ปัจจุบันสิบสองปันนามีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงรุ่ง (เชียงรุ้ง) ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ส่วนสิบสองจุไทปัจจุบันคือบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ที่ติดต่อกับแขวงพงศาลีของลาว
คนไทครอบครองพื้นที่สิบสองปันนา-สิบสองจุไท มาอย่างยาวนานตลอดสมัยประวัติศาสตร์ มีชาติพันธุ์อื่นปะปนอยู่บ้าง แต่ เผ่าไท เป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุด แม้จะปกครองตนเองอย่างอิสระ แต่ก็ยอมรับอำนาจทางการเมืองของรัฐขนาดใหญ่ที่อยู่รายล้อมโดยการส่งบรรณาการให้ ได้แก่ เวียดนาม จีน ลาว ตลอดจนสยาม จึงได้ชื่อว่าเป็นเมือง “สองฝ่ายฟ้า” หรือบางช่วงอาจเรียกว่ามีสถานะ “สามฝ่ายฟ้า” ก็ไม่ผิด
สิบสองปันนา “นครเมิงไต” หรือสำเนียงไทยกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาคือ “นครเมืองไทย” เป็นถิ่นฐานของชาวไทลื้อ หรือ “ไตลื้อ” มีการแบ่งเขตการปกครองด้วยการถือไร่นาทั้งหมด 12,000 ไร่ ตรงกับสำเนียงไทเรียกว่า “สิบสองพันนา” หรือสิบสองปันนา ประกอบด้วย 12 เขตปกครอง เขตปกครองละ 1 พันนา บางเขตอาจมีมากกว่าหนึ่งเมือง ได้แก่
- เมืองเชียงรุ่ง เมืองยาง เมืองฮำ
- เมืองแจ เมืองมาง (ตะวันตก) เมืองเชียงลู เมืองออง
- เมืองลวง
- เมืองหน เมืองพาน เชียงลอ
- เมืองฮาย เมืองเชียงเจือง
- เมืองงาด เมืองขาง เมืองวัง
- เมืองหล้า เมืองบาน
- เมืองฮิง เมืองปาง
- เชียงเหนือ เมืองลา
- เมืองพง เมืองมาง (ตะวันออก) เมืองหย่วน
- เมืองอูเหนือ เมืองอูใต้
- เมืองเชียงทอง เมืองอีงู เมืองอีปาง
คนไทในสิบสองปันนาเรียกแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านดินแดนของพวกเขาว่า “แม่น้ำล้านช้าง” หรือ “แม่น้ำของ” เป็นส่วนหนึ่งในการแบ่งเขตปกครองด้วยเช่นกัน โดยเรียกว่า “5 เมิงวันตก 6 เมิงวันออกของ” คือ 5 เมืองตะวันตกของแม่น้ำโขง และ 6 เมืองตะวันออกของแม่น้ำโขง บวกกับเมืองเชียงรุ่ง เป็น 12 เมืองพอดี
สำหรับสิบสองจุไท มีบันทึกในพงศาวดารระบุถึงชุมชนขนาดใหญ่ระดับเมืองของชาวไทดำ 8 เมือง เมืองของไทขาว 4 เมือง จึงถูกเรียกว่า “เมืองสิบสองจุไท” หรือสิบสองผู้ไท เป็นการรวมกลุ่มกันอย่างหลวม ๆ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองแถง หรือเดียนเบียนฟูในปัจจุบัน
อันที่จริง แถบนี้เคยมีเมืองมากถึง 18 เมืองมาแล้ว แต่ 6 เมืองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจีน หลังจีนทำสัญญากับเจ้าอาณานิคม ส่วนบริเวณสิบสองจุไทในเวียดนาม ประกอบด้วยเมืองต่าง ๆ 12 เมืองด้วยกัน ได้แก่ เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) เมืองสอ เมืองไล เมืองม่วย เมืองลา เมืองมัวะ เมืองวาด เมืองสาง เมืองกวาย เมืองเติ๊ก เมืองลอ และเมืองถาน
ลักษณะของเมือง เผ่าไท ใน สิบสองปันนา และ สิบสองจุไท คือ พวกเขาไม่สามารถรวมตัวกันเป็นแคว้นหรือรัฐขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากกระจายตัวอยู่บนภูมิศาสตร์ที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ยากแก่การพัฒนาไปสู่รัฐที่มั่นคง จึงถูกมหาอำนาจเข้ามาจัดสรรปันส่วนไปเป็นส่วนหนึ่งของตน
อ่านเพิ่มเติม :
- “น่านเจ้า” ไม่ใช่บรรพชนเผ่า “ไท” !?
- วิกฤตอัตลักษณ์ชาวไทลื้อในสิบสองปันนา
- ความจริงของ “หมาล่า” ปิ้งย่างสไตล์สิบสองปันนา คำที่ไม่ได้เรียกชื่ออาหารแบบที่เข้าใจ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ชนัญชิดา ศิริจันโท, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2550). บทบาทของชนเผ่าไทในเวียดนามในศึกเดียนเบียนฟู (ค.ศ. 1946-1954). วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
พิเชฐ สายพันธ์. (2564). เมืองแถง-เดียนเบียนฟู: การเมืองชาติพันธุ์และการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐสังคนิยมของกลุ่มไทในเวียดนาม. วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา.
พระศรีธวัชเมธี. (2558). สิบสองปันนา : นครเมิงไต. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567