“น่านเจ้า” ไม่ใช่บรรพชนเผ่า “ไท” !?

น่านเจ้า ไม่ใช่ เผ่าไท

ผู้ปกครอง “น่านเจ้า” ไม่ใช่และไม่มี บรรพชน ผ่าไท” หากแต่กลุ่มคนพูดภาษาตระกูลทิเบต-พม่า

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 2 แล้วที่ชาวจีนได้เข้ามาครอบครองเหนือดินแดนที่เป็นมณฑลยูนนานในปัจจุบัน ณ ที่นั้น ชาวจีนได้พบกับความหลากหลายของบรรดาผู้คนที่จีนเรียกว่า “คนป่าคนเถื่อน” (หม่าน Man) ที่บางพวกก็ยอมรับอารยธรรมจีน ตระกูลผู้ปกครองท้องถิ่นหนึ่งนามว่า จ้วน (Zuan) มีศูนย์กลางอยู่ในอาณาบริเวณทางทิศใต้ของเมืองคุนหมิง ต่อไปจนจรดชายแดนเวียดนามปัจจุบัน

Advertisement

ภายหลังการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่น ในตอนศตวรรษที่ 2 ตระกูลนี้ได้กลายเป็นเจ้าปกครองมณฑล นี่คือดินแดนที่มีชนเผ่าไทและแม้ว/เย้าอาศัยอยู่

ส่วนด้านทางตะวันตกกับตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลนี้ ก็มีผู้คนที่ครอบครองอยู่แล้ว และจีนเรียกว่า หวู-หม่าน (Wu-man) หรือ “คนป่า-คนเถื่อนดำ” พวกนี้พูดภาษาในตระกูลทิเบต-พม่า คล้ายกับพวก “โลโล่” หรือ “ละหุ” ที่ก็ยังอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ พวกหวู-หม่านแห่งยูนนานตะวันตกนี่แหละที่ในศตวรรษที่ 7 ได้กลายเป็นศูนย์กลางของรัฐน่านเจ้า

ภายในศตวรรษที่ 7 ชาวจีนก็ได้เข้ามาครอบครองยูนนานได้ถึงครึ่งหนึ่ง การปกครองของจีนขยายไปทางตะวันตกจนจรดแม่น้ำโขง แต่ในไม่ช้าจีนก็ต้องตั้งรับการขยายตัวของทิเบต ซึ่งคุกคามต่อจีนตามชายแดนตะวันตกเฉียงใต้ในยูนนานและในเสฉวน จีนพยายามรักษาความมั่นคงทางชายแดน ด้วยการเป็นพันธมิตรกับแว่นแคว้นในท้องถิ่น พันธมิตรหนึ่งดังกล่าวก็คือ พระเจ้าพีล่อโก๊ะ หนึ่งในหกของเจ้าแว่นแคว้นเล็ก ๆ รอบทะเลสาบต้าลี่ในยูนนานตะวันตก

พระเจ้าพีล่อโก๊ะถือว่ารัฐเล็กรัฐน้อย 6 รัฐนี้ อยู่ภายใต้การปกครองของตนตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 730 และเมื่อปี 738 ก็ได้รับการรับรองจากราชสำนักจีนให้เป็น “เจ้าแห่งยูนนาน” ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับ “เจ้าทางใต้ (น่านเจ้า)” ดำเนินไปฉันมิตรจนกระทั่งประมาณปี 740 แต่ก็กลับเลวร้ายลงอย่างรวดเร็วในทศวรรษต่อมา ภายใต้ลูกชายของพีล่อโก๊ะเอง คือ โก๊ะล่อฝง

ระหว่างปี 752 ถึงปี 754 จีนส่งทัพไปโจมตีน่านเจ้าถึง 4 ทัพ แต่ทุกครั้งก็ถูกกองกำลังของโก๊ะล่อฝงตีแตกกลับมา และน่านเจ้าก็ขยายการปกครองของตนเหนือยูนนานตะวันออกกับกุ้ยโจวตะวันตก และเมื่อจีนยุ่งอยู่กับการกบฏ แรงกดดันต่อน่านเจ้าก็ลดถอยลง และการสถาปนาจักรวรรดิใหม่นี้ในเขตตะวันตกเฉียงใต้ก็สร้างขึ้นด้วยการตั้งเมืองหลวงที่สองที่เมืองคุนหมิงในปี 764

จดหมายเหตุร่วมสมัยที่ครอบคลุมเรื่องน่านเจ้าได้ดีที่สุดคือ “หม่านชู” (Man Shu) ที่เขียนขึ้นโดยข้าสำนักจีนเมื่อประมาณปี 860 เอกสารนี้ชี้ให้เห็นถึงรัฐกึ่งทหารที่ได้รับการจัดตั้งเป็นอย่างดี ปกครองอยู่เหนือหลายชนเผ่าชาติพันธุ์

ในแง่การบริหารนั้น แบ่งเป็น 6 “คณะกรรมการ” หรือกรม ต่างรับผิดชอบการสงคราม การประชากรและรายได้ การรับรองแขกต่างประเทศ การลงโทษทัณฑ์ การแรงงาน และการระดมพล เหนืออำนาจและสถานะของคณะกรรมการชุดนี้ก็จะมี “อัครเสนา 12” ซึ่งแต่ละวัน ๆ ต้องเข้าเฝ้า “น่านเจ้า” เพื่อพิจารณาข้อราชการ และยังมี “ข้าราชการบริสุทธิ์ยุติธรรม” ทั้งหกที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นองคมนตรีของเจ้าอีกด้วย

การปกครองนี้ รวมถึงลำดับขั้นของเจ้าหน้าที่ จากระดับหัวหน้าที่ดูแลหนึ่งร้อยครัวเรือน ไปจนถึงเจ้าเมืองที่ควบคุมครัวเรือนถึงหนึ่งหมื่น หัวหน้าครอบครัวที่เป็นชายจะต้องชำระภาษีเป็นปริมาณข้าว 18 ลิตร รวมทั้งยังอาจต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นไพร่พลทหาร กองทัพดึงดูดเด็กหนุ่มให้มาร่วมฝึกฝนเมื่อว่างจากงานการเกษตร กองทัพน่านเจ้ามีประสิทธิภาพ มีพลัง มีวินัยดี และมีผลสำเร็จเป็นอย่างดีในการสู้รบ

ภาพแผนที่อาณาจักรน่านเจ้า จากแบบเรียน “ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ ชั้นประถมปีที่ 5” (พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2505) โดยมีเนื้อหาระบุว่า “กษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าพีล่อโก๊ะ หรือขุนบรม”

น่านเจ้าเป็นมหาอำนาจใหญ่ในกิจการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางตอนเหนือและทางเอเชียตะวันออกทางตอนใต้เป็นเวลาหลายศตวรรษ กองทัพน่านเจ้าสร้างแรงกดดันต่ออาณาจักรพยูในพม่าภาคกลาง จู่โจมดินแดนที่ในปัจจุบันคือพม่าตอนใต้กับไทยตอนเหนือ

น่านเจ้ายังส่งกองทัพไปโจมตีเขมรเจนละ และมีบันทึกกล่าวไว้ว่า “ไปไกลถึงชายฝั่งทะเล” ทั้งยังส่งกองทัพไปตีอันนัม (เวียดนามเหนือ) ดินแดนในอารักขาของจีน ต่อจากนั้นอำนาจของน่านเจ้าก็ค่อยลดลง จีนกลับฟื้นตัวขึ้นใหม่ เวียดนามเป็นอิสระ (ปี 939) และพัฒนาการใหม่ก็เริ่มก่อรูปขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนเหนือ

ความสำคัญของน่านเจ้าต่อประวัติศาสตร์ของ เผ่าไท ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครคือเจ้าผู้ปกครอง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นคนเผ่าไท เจ้าของน่านเจ้าสืบสายกันทางบิดา มีระบบของการตั้งชื่อพยางค์แรกของชื่อเจ้าแต่ละคน คือ พยางค์เดียวกันกับพยางค์สุดท้ายของนามบิดา ดังนั้น ก็จะเป็นเช่นนี้ คือ พี-ล่อ-โก๊ะ, โก๊ะ-ล่อ-ฝง, ฝง-เจี่ย-อี้, อี้-มู่-ซุ่น (Pi-lo-ko, Ko-lo-feng, Feng-chia-i, I-mou-hsun) ฯลฯ นี่เป็นแบบแผนที่พบทั่วไปในหมู่ของชนเผ่าโลโล่กับกลุ่มทิเบต-พม่า แต่ไม่เป็นที่รู้จักกันในชนเผ่าไท

นอกจากนี้บันทึกรายการของคำศัพท์น่านเจ้าที่กล่าวถึงไว้ในหนังสือหม่านชู ก็เทียบได้กับภาษาโลโล่ ไม่ใช่กับภาษาไท และตำนานชนเผ่าไท หรือพงศาวดาร ก็ไม่มีการเอ่ยถึงอาณาจักรน่านเจ้าหรือเจ้าตนใดเลย

ในขณะที่ในศตวรรษที่ 19 นี้ บรรดาหัวหน้าเผ่าโลโล่ในยูนนานกลางกลับสืบบรรพชนของตนกลับไปยังราชสำนักน่านเจ้า ในทางกลับกัน ความสำคัญของน่านเจ้าน่าจะต้องพิจารณาต่อผลกระทบที่มีต่อชนเผ่าไทที่อาศัยอยู่ในดินแดนทางตอนใต้และทางตอนตะวันออกตามชายขอบของจักรวรรดินั้น

น่านเจ้าได้เปิดเส้นทางคมนาคมข้ามแดนระหว่างอินเดียกับจีน ผลลัพธ์ทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมครั้งนี้สำคัญยิ่ง น่านเจ้ากลายเป็นรัฐนับถือพุทธ และคงได้ช่วยในการเผยแผ่พุทธศาสนาไปในดินแดนที่ตนครอบครองอยู่ รวมทั้งการเผยแพร่ศิลปะและวิทยาการของอินเดียด้วย การที่น่านเจ้าเรืองอำนาจขึ้นมาได้ ก็ปิดกั้นมิให้ดินแดนตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนในติดต่อกับจีนได้โดยตรง

ในเวลาเดียวกันอำนาจของน่านเจ้าก็ช่วยทำให้การค้าขายข้ามแดนระหว่างอินเดียกับจีนกระตุ้นต่อการค้าในท้องถิ่นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนเหนือ เจ้าในท้องถิ่นก็คงจับโอกาสทางการเมืองใหม่นี้ได้ สามารถได้ผลประโยชน์ หรือไม่ก็ได้รับอารักขาในความสัมพันธ์ต่อสู้กับเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งยังได้ลอกเลียนรูปแบบของการปกครองกับการทหารของน่านเจ้าด้วย

แม้ว่าบรรดาเจ้าเผ่าไทที่ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของน่านเจ้าโดยตรง แต่ก็อาจถูกกดดันให้รวบรวมกำลังพลเพื่อป้องกันตนเอง และน่านเจ้าหาใช่รัฐแรกที่รุกเข้ามาในโลกของเผ่าไทไม่ และก็ไม่ใช่รัฐสุดท้ายอย่างแน่นอน แต่น่านเจ้าก็เป็นระบอบสำคัญแรกที่เข้ามาพัวพันกับที่สูงตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป กล่าวคือ ในดินแดนที่ปัจจุบันคือ รัฐฉานของพม่า ไทยภาคเหนือ และลาว ตลอดจนเวียดนามตะวันตกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษต่อจากยุครุ่งเรืองของน่านเจ้า ในศตวรรษที่ 8 และ 9 แรงกดดันกลับจะมาจากทางทิศใต้ จากจักรวรรดิใหญ่โตที่ต่างออกไป

หลักฐานเกี่ยวกับน่านเจ้าที่หลงเหลือตกทอดมา ไม่ได้กล่าวถึงอะไรที่จะทำให้คิดว่า นี่คือรัฐของชนเผ่าไทในดินแดนที่สูงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในศตวรรษที่ 9 และที่ 10 แต่หลักฐานก็กล่าวถึงบรรดารัฐเกือบทั้งหมดที่อยู่ข้างเคียงทางใต้ และเป็นปฏิปักษ์กับ เผ่าไท ในศตวรรษต่อ ๆ มา

ทั้งยังมีความสำคัญยิ่งยวดในการสร้างอารยธรรมของชนเผ่าไท จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก จะรวมถึงหน่วยของเวียดนามในหุบเขาลุ่มแม่น้ำแดง และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในเวียดนามเหนือ รวมทั้งอาณาจักรจามปาทางฝั่งทะเลตอนกลางของเวียดนาม จักรวรรดิเขมรที่อังกอร์ (พระนครหลวง-ยโศธรปุระ) รวมทั้งบรรดาอาณาจักรในไทยภาคกลางกับภาคเหนือ อาณาจักรมอญกับพยูในพม่า โดยรวมแล้วบรรดาอาณาจักรเหล่านี้หันหน้าออกทะเล สร้างเป็นวงแหวนล้อมรอบชนเผ่าไทไว้ในดินแดนที่สูง

นับแต่ศตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา อาณาจักรเหล่านี้ก็เข้มแข็งขึ้น ทั้งยังแผ่ขยายดินแดนออกไป และชนเผ่าไทก็จะเข้าไปพัวพันในชีวิตและการเมืองของอาณาจักรเหล่านั้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “น่านเจ้า” เขียนโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปลจากบางส่วนของหนังสือ Thailand : A Short History ของ Prof. David K. Wyatt ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มิถุนายน 2564