ตามรอย “น้ำเพ็ชร” น้ำเสวยของรัชกาลที่ 5 ฤๅต้องมาจากแม่น้ำเพชรบุรีเท่านั้น!?

ภาพประกอบเนื้อหา - แม่น้ำเพชรบุรี

“—เรื่องน้ำเพ็ชรนี้ เคยทราบมาแต่ว่า ถือกันว่าเปนน้ำดี เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่า นิยมกันว่ามีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งว่า พระองค์เองเคยเสวยน้ำเพ็ชรเสียจนเคยแล้ว เสวยน้ำอื่นไม่อร่อย จึงต้องส่งน้ำเสวยมาจากเพ็ชรบุรี

เป็นข้อความในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงเรื่องน้ำในลำน้ำเพชรบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสวยกว่าน้ำในแม่น้ำอื่น

สมัยต้นรัตนโกสินทร์น้ำเสวยก็คือน้ำฝนและน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนที่ใสสะอาดและนำมาผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เป็นน้ำบริสุทธิ์สำหรับเสวย แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบว่าน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีเป็นน้ำที่มีรสชาติอร่อยกว่าน้ำในลำน้ำอื่นๆ จึงโปรดให้ตักน้ำจากแม่น้ำนี้ส่งเข้ามาเป็นน้ำเสวยจนตลอดรัชสมัย

น้ำเพชรที่โปรดให้เป็นน้ำเสวยนี้ ตักจากตำบลท่าชัย ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่เหนือตำบลบ้านปืนขึ้นไปไกลจนหมดหมู่บ้านราษฎร เป็นทางน้ำที่ไหลผ่านกรวดทรายจึงเป็นน้ำใสสะอาด วิธีทำน้ำเพชรให้เป็นน้ำเสวยนั้นมีหลายขั้นตอน เจ้าเมืองเพชรบุรีมีหน้าที่ควบคุมดูแลแต่ละขั้นตอน นับตั้งแต่ตักน้ำ และนำมาต้มในกระทะใบใหญ่ แล้วถ่ายเก็บใส่ตุ่ม

เมื่อเย็นลงจึงกรองในหม้อกรองใหญ่ ทำด้วยปูนลักษณะคล้ายลูกปัศตัน ปากกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 60-70 เซนติเมตร โดยให้น้ำหยดจากเครื่องกรองลงตุ่มที่รองรับอยู่ข้างล่าง น้ำที่หยดลงมานี้จึงเป็นน้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์

เมื่อจะนำส่งเข้ามาในกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่กรมกอง น้ำเสวย น้ำสรง จะเป็นผู้รับผิดชอบ มารับน้ำนำเก็บไว้ในโรงใหญ่ ซึ่งรักษาความสะอาดอย่างเข้มงวดกวดขัน ถึงเวลานำน้ำขึ้นถวายจะบรรจุหม้อกรัณฑ์ ซึ่งเป็นหม้อดินเผาปั้นด้วยฝีมือประณีต มีฝาปิดเป็นจุกยอดแหลมและผูกผ้าขาวตีตราครั่ง นำส่งคุณพนักงานฝ่ายใน สำหรับเป็นน้ำเสวยต่อไป

รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี ในรัชกาลของพระองค์ น้ำเพชรเป็นน้ำเสวยที่โปรดปรานดังปรากฏในพระราชดำรัสและหนังสือถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดน้ำเสวยอยู่เนือง ๆ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสวยน้ำเพชรตลอดมา มีบางคราวที่มีเหตุขัดข้องต้องงดตักน้ำเมืองเพชร ต้องเสวยน้ำแม่น้ำอื่น ก็ทรงทราบความผิดปกติทันที ครั้งหนึ่งโปรดให้มีการหาน้ำอร่อยแทนน้ำเพชรโดยให้หลวงศักดิ์นายเวรจัดน้ำกรอกใส่ขวดเหมือนกัน 4 ขวดคือน้ำฝนน้ำเพชรน้ำบ่ออาติเชียนน้ำกลั่นเมื่อเสวยน้ำโดยทรงอมให้รู้รสชาติเสียก่อนจึงกลืนมีน้ำขวดหนึ่งอร่อยกว่าทั้งหมดปรากฏว่าน้ำขวดนั้นคือน้ำเพชรจึงมีพระราชดำริว่าน้ำอีก 3 ขวดจะบริสุทธิ์เกินไปกว่าพระศอที่เคยเสวยทำให้เสวยไม่อิ่มและไม่ระงับกระหายจึงโปรดให้จัดน้ำเพชรเข้ามาให้เสวยต่อไป

จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังคงโปรดเสวยน้ำเพชรอยู่ ดังที่มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับรสชาติของน้ำเพชรว่า

“—ในส่วนตัวเราเองมิได้เคยถือนักดอกในเรื่องน้ำกิน แต่ต้องสารภาพอย่างหนึ่งว่าจะเปนเพราะเหตุใดก็ไม่ทราบบอกไม่ถูก เราได้เคยกินน้ำประปาหลายครั้ง และรู้สึกว่ากินได้ แต่ยังไม่วายรู้สึกในใจว่า สู้น้ำเสวยที่เขาจัดมาให้พิเศษไม่ได้ ทั้งนี้จะเปนด้วยอุปาทานมากกว่าอย่างอื่น

แม้น้ำเพชรจะมีรสชาติอร่อยเป็นที่ถูกพระโอษฐ์ถูกพระทัยพระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์แต่เมื่อเวลาผ่านไปสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงพัฒนาเจริญขึ้นผู้คนเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบกับแม่น้ำเพชรเมื่อเจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดเพชรบุรีในวันที่ 25 มกราคม พ..2465 พบว่า ณ ตำบลที่ตักน้ำเสวยนั้นมีบ้านเรือนตั้งอยู่ตลอดทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้มีสิ่งปฏิกูลปนเปื้อนในแม่น้ำ นอกจากความไม่สะอาดดังกล่าวแล้ว เจ้าพระยายมราชยังกราบทูลถึงเหตุที่น้ำเพชรไม่สมควรเป็นน้ำเสวยอีกต่อไปว่า

“—เมื่อนึกถึงความเข้าใจของมหาชนทั่วไป แลชาวต่างประเทศด้วยแล้ว การที่ยังจัดอยู่ในราชการปรากฏว่าน้ำในลำน้ำเพ็ชรบุรีเปนน้ำเสวยดังนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าดูเปนการเสื่อมเสียพระเกียรติยศและเกียรติคุณของน้ำเสวย—”

เหตุผลสำคัญทั้ง 2 ประการทำให้น้ำเพชรซึ่งเคยเป็นน้ำเสวยของพระมหากษัตริย์ไทยมาเป็นเวลานานต้องสิ้นสภาพหมดสถานะการเป็นน้ำเสวย ครั้งนั้นน้ำประปาจึงได้เข้ามามีบทบาทเป็นน้ำเสวยต่อจากน้ำเพชร

ผู้คนในปัจจุบันคงหมดโอกาสที่จะได้รู้หรือพูดว่าน้ำเพชรมีรสอร่อยแปลกกว่าน้ำเจ้าพระยาอย่างไร” คงจะพูดถึงน้ำที่บริโภคกันทุกวันนี้อย่างไม่แน่ใจว่าน้ำยี่ห้อนี้แพงกว่า คงจะสกปรกน้อยกว่ายี่ห้อนั้นนะ”

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ“น้ำเสวยที่โปรดปราน”เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2561