“เมืองพริบพรี” อาจไม่ใช่ชื่อเดิมของ “เพชรบุรี” ?

พระนครคีรี เพชรบุรี พระสุทธเสลเจดีย์ เมืองเพชรบุรี เมืองพริบพรี
ภาพประกอบเนื้อหา - บริเวณวัดพระแก้วน้อย พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี

“เมืองพริบพรี” หลายคนอาจเข้าใจว่าคือชื่อเดิมของ “เมืองเพชรบุรี” แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า เมืองพริบพรี อาจไม่ใช่ชื่อเดิมของเพชรบุรี แต่เป็นชื่อเรียกใหม่แบบไม่ทางการ และเปลี่ยนแปลงเสียงมาจาก “เพชรบุรี”

คำว่าเพชรบุรี คาดว่ามีที่มาจาก 2 เรื่องราว บ้างก็ว่าเป็นชื่อที่เรียกตามแม่น้ำเพชรบุรี ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือมีผู้พบว่าในตอนกลางคืน “เขาแด่น” มีแสงระยิบระยับ จึงเชื่อกันว่ามีเพชรพลอยบนเขานั้น 

แรกเริ่มเดิมทีชื่อเมืองเพชรบุรีปรากฏในหลักฐาน “จารึกปราสาทพระขรรค์” กัมพูชา พ.ศ. 1734 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มีข้อความบันทึกไว้ว่า “…ศรีชัยวัชรปุรี ศรีชัยสตัมภปุรี ศรีชัยราชคีรี ศรีชัยวีรปุรี…” ซึ่งต่อมามีนักวิชาการสันนิษฐานว่า คำว่า “ศรีชัยวัชรปุรี” ก็คือเพชรบุรี

ต่อมาในสุโขทัยก็พบชื่อเมืองนี้ ทั้งในเอกสารจีนหรือฝรั่ง อย่าง “เอกสารจีนสมัยราชวงศ์หงวน” ซึ่งปรากฏในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจีน จ. เพชรบุรี ของกรมศิลปากร มีข้อความระบุว่า “…กันมู่ติง (กมรเตง) ส่งทูตจากเมืองปี้ชาปู้หลี่ (เพชรบุรี) มาถวายเครื่องราชบรรณาการ…”

ภาพประกอบเนื้อหา – แม่น้ำเพชรบุรี

ส่วน “The Suma oriental of Tomé Pires” ของโทเม ปิเรส (Tomé Pires) บันทึกชาวโปรตุเกสสมัยอยุธยา ที่ได้เดินทางไปยังอินเดียและมะละกา ในปี 2054 ก็ได้บันทึกการออกเสียงเพชรบุรีไว้ว่า “Peperim” และ “Pepory” ซึ่งใกล้เคียงกับการออกเสียงว่า เพ็ด-บุ-รี หรือ เพ็ด-พุ-รี

ยังมีหนังสือของพ่อค้าชาวฮอลันดา อย่าง “Description of the Kingdom of Siam” ของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) ที่บันทึกระหว่าง พ.ศ. 2176-2185 ก็ระบุข้อความที่เกี่ยวข้องกับเมืองแห่งนี้ไว้ว่า “…แม่กลอง (Meclongh) พิบพรี (Pypry) ราพพรี (Rappry) ราชบุรี (Ratsjebeury) และกุย (Cuy) ล้วนเป็นเมืองเปิดทั้งสิ้น ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำ ไม่ห่างจากทะเล…”

นอกจากนี้ บันทึกอีกมากมายของชาวต่างชาติก็ยังพูดถึงชื่อเพชรบุรีอีกหลายแบบ เช่น “Piply, Pipeli, Putprib” ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งการเขียนชื่อที่ต่างกันนี้ ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์แผนที่สมัยอยุธยา เจ้าของผลงาน “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” (สำนักพิมพ์มติชน) ได้อธิบายไว้ว่า 

“การเขียนชื่อที่แตกต่างกันนี้ขึ้นอยู่กับการรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และความสามารถในการถ่ายทอดเสียงของชาวพื้นเมือง ตลอดจนภาษาของแต่ละชาติที่เขียนแผนที่ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าชื่อเมืองเพชรบุรีที่ปรากฏในเอกสารของชาวต่างชาติได้มาจากการบันทึกตามเสียงพูดของชาวพื้นถิ่นเพชรบุรีในสมัยนั้น”

จนถึงสมัยกรุงธนบุรีก็ยังปรากฏชื่อของเพชรบุรี อย่าง Pipli และในกรุงรัตนโกสินทร์ก็ปรากฏคำว่า “เพชรบุรี” “วิดพรี” “เมืองเพชร” ฯลฯ 

พระปรางค์แดง (ซ้าย) และวัดพระแก้ว (ขวา) ที่พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี(ภาพจากหนังสือประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร 2548)

จะเห็นได้ว่าชื่อเมืองนั้นลดทอนพยางค์สั้นลงเรื่อย ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีชื่อเรียกมาตรฐานเดิมไว้อยู่ โดยเพชรบุรี มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่คำว่า ศรีชัยวัชรปุรี (7 พยางค์) ก่อนจะตัดคำว่าศรีชัยออกเพื่อให้คนไทยออกเสียงง่ายขึ้น ไปจนถึง เพชรบุรี หรือ ปี้ชาปู้หลี่ (4 พยางค์) กลายมาเป็นเพชรบุรี, Peperim ฯลฯ (3 พยางค์) และเป็น พริบพรี, เพชรพลี, Piply ฯลฯ (2 พยางค์) 

การออกเสียงเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เมืองเพชรบุรีเท่านั้น แต่ยังปรากฏในชื่อจังหวัดอื่น ๆ เช่น อุด-ดิด (อุตรดิตถ์), ยะ-โส (ยโสธร), คอน-ถม (นครปฐม) ฯลฯ 

อีกทั้งหากวิเคราะห์ในแง่ของความหมาย คำว่า “พริบพรี” เป็นชื่อที่ไม่มีความหมาย ไม่มีประวัติความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร แตกต่างจากชื่อชุมชนอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมของแต่ละที่ ปรากฏแค่เพียงชื่อวัดในสมัยอยุธยา ขณะที่เพชรบุรีปรากฏเรื่องราวในคำให้การชาวกรุงเก่า ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงความเป็นมาที่บันทึกอยู่ในสมุดราชบุรี พ.ศ. 2468

จากตรงนี้จึงอาจคาดเดาได้ว่า “เมืองพริบพรี” เป็นชื่อแบบไม่ทางการที่เรียกกันในสมัยอยุธยา ซึ่งเปลี่ยนแปลงเสียงมาจากเพชรบุรี เพื่อให้พูดง่ายขึ้น ก่อนจะจางหายไป เพราะต่อมา คนเลือกที่จะใช้คำว่า “เมืองเพชร” มากกว่าจะเรียกว่าเมืองพริบพรีเหมือนแต่ก่อน 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

วรารัชต์ มหามนตรี.  (2560).  “ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อเมือง พริบพรี (เพชรบุรี) จากการศึกษาเชิงประวัติและสัทศาสตร์”. อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.  ปีที่ 39 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560).

https://www.finearts.go.th/pranakornkeereemuseum/view/42923-หลักฐานจากต่างชาติ–การเรียกขานนามเมือง–พริบพรี–หรือ–เพชรบุรี–ในประวัติศาสตร์ไทย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2566