ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
รู้จัก “เจ้าศรีพรหมา” หรือ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร สตรีที่ปฏิเสธตำแหน่ง “เจ้าจอม” ใน รัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุผลว่า มิได้รักใคร่พระองค์ในทางชู้สาว
ในอดีต สำหรับสตรีทั่วไปแล้ว การได้เข้าวังและได้รับโปรดเกล้าฯ เข้ารับราชการในราชสำนักฝ่ายใน ถือเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและวงตระกูล ทว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อน มีสตรีผู้หนึ่ง คือ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ที่ปฏิเสธตำแหน่ง “เจ้าจอม” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ออกพระโอษฐ์ขอให้เจ้าศรีพรหมา เข้ารับราชการตำแหน่งเจ้าจอม แต่ท่านกราบบังคมทูลปฏิเสธเป็นภาษาอังกฤษ เนื้อหาใจความว่า “เคารพพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ แต่มิได้รักใคร่พระองค์ในทางชู้สาว” (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, 2550)
วลีดังกล่าวนอกจากจะทำให้นึกถึงเรื่องราวความรักในวรรณกรรมอมตะ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความรักท่ามกลางความแตกต่างทางชนชั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังเป็นที่โจษจัน และถูกเล่าขานต่อกันมาในฐานะพฤติกรรมที่แหวกมาตรฐานเดิมที่เคยมีมา
การได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งต่างๆ ถือเป็นเกียรติยศ และมีโอกาสยกฐานะวงศ์ตระกูลหากภายภาคหน้าได้เป็น “เจ้าจอมมารดา” ย่อมถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเป็นพระญาติกับพระเจ้าแผ่นดิน
แต่สำหรับหม่อมศรีพรหมาแล้ว ท่านไม่เลือกเส้นทางนี้
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ผู้เขียนหนังสือ “ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก” อธิบายชาติกำเนิดของหม่อมศรีพรหมาว่า เป็นธิดาพระเจ้าสุริยวงศ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน กับแม่เจ้าศรีคำ ในดินแดนภาคเหนือ วิถีชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติในอาณาจักรล้านนา เมื่ออายุได้ 3-4 ขวบ บิดาของท่านมีพระประสงค์ให้ธิดาเจริญรุ่งเรืองในอนาคต ทรงตัดพระทัยยก เจ้าศรีพรหมา ให้เป็นธิดาบุญธรรมของ พระยามหิบาลบริรักษ์ และคุณหญิงอุ๊น ขณะดำรงตำแหน่งเป็น พระพรหมสุรินทร์ ข้าหลวงกำกับราชการในฝ่ายเหนือ
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงต้องจากบ้านเกิดมาใช้ชีวิตในเมืองหลวง เข้าศึกษาในโรงเรียนสุนันทาลัย และสตรีวังหลัง ซึ่งถือเป็นโรงเรียนสตรีชั้นนำมีชื่อเสียงแถวหน้าในสมัยนั้น
เจ้าศรีพรหมา ถูกถวายตัวไว้ในพระอุปการะ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ หลังพระยามหิบาลบริรักษ์ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นอัครราชทูตประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เจ้าศรีพรหมาจึงได้รับประสบการณ์จากการเลี้ยงดูร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าหลายพระองค์ ได้ศึกษาวิชาความรู้สมัยใหม่ ซึมซับธรรมเนียมประเพณีร่วมกับเจ้านายรุ่นเดียวกัน
เมื่ออายุได้ 12 ขวบ ท่านมีโอกาสเดินทางติดตามบิดามารดาบุญธรรมไปประเทศรัสเซีย บันทึกบางตอนจากการเดินทางของท่านเล่าถึงสภาพรัสเซียหลังจากเปลี่ยนรถจากเยอรมันมาเป็นรัสเซีย เมื่อถึงสถานีชายแดนก็พบเห็นสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนไป สถานีเก่า ไม่มีตึก กลายเป็นกระท่อมมุงคา มุงหญ้า ผู้คนแต่งตัวไม่เรียบร้อย เครื่องนุ่งห่มสภาพเก่า บ่งบอกถึงสถานะการเงินของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งท่านแสดงความคิดเห็นว่า ความแตกต่างระหว่างฐานะในรัสเซีย เป็นอีกหนึ่งเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติในรัสเซีย
“พวกผู้ดีนะๆ น่ะ เวลางานหลวงเขาว่าแต่งตัวกันเครื่องเพชร เครื่องพลอย เพรียบพรึ่บเชียว แสดงว่ามั่งมี แต่ว่าไอ้คนจนกลางถนนนี้มันไม่มีจะกิน เพราะงั้นมันถึงปฏิวัติ”
เจ้าศรีพรหมาเข้ารับราชการในพระราชสำนักในหน้าที่นางพระกำนัลหลังจากกลับจากรัสเซีย ท่านรับใช้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถอย่างใกล้ชิด ผู้เขียนหนังสืออธิบายว่า ช่วงเวลานี้ท่านอยู่ในวัยสาวเปล่งปลั่ง งามตามธรรมชาติ มีวิชาความรู้ เฉลียวฉลาด มั่นใจในตัวเองแบบที่สาวชาววังไม่เป็น
ลักษณะเหล่านี้น่าจะทำให้ท่านเป็นที่พอพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงให้รับราชการตำแหน่งเจ้าจอม แต่ท่านกราบบังคมทูลปฏิเสธด้วยประโยคข้างต้นที่กลายเป็นเรื่องเล่าลือต่อกันมา ไม่เพียงจะเป็นเรื่องที่หาญกล้าแหวกค่านิยมสมัยนั้นแล้ว เรื่องเล่าขานกันต่อมาคือน้ำพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 5 เพราะพระองค์มิได้ทรงถือโกรธ ยังคงพระราชทานพระเมตตาอย่างสม่ำเสมอ
ศันสนีย์เล่าถึงคำเล่าลือเรื่องพระองค์ทรงฉายพระรูปเจ้าศรีพรหมาด้วยฝีพระหัตถ์ ทรงตั้งรูปนั้นไว้ในห้องพระบรรทมบนพระที่นั่งอัมพรสถานจวบจนสวรรคต
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าศรีพรหมาครองตนเป็นโสด กระทั่งในวัย 27 ปี ท่านพบรักกับ ม.จ. สิทธิพร กฤดากร โอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์
เรียกได้ว่า ความคิดของท่านทั้งสองเห็นพ้องตรงกันเรื่องความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวย หลังการสมรสทั้งสองละทิ้งสังคมเมืองหลวงไปประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ ฟาร์มบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ในสมัยนั้นสภาพทุรกันดาร เดินทางยากลำบาก
ท่านทั้งสองถือว่า ฟาร์มบางเบิด เป็นสถานีทดลองการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อนำวิทยาการด้านเกษตรมาเผยแพร่สู่เกษตรกร โดยไม่ได้คิดว่าจะทำกำไร
อีกหนึ่งเรื่องยากลำบากในชีวิต หม่อมศรีพรหมา คือช่วงที่ ม.จ. สิทธิพร ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏร่วมกับพระองค์เจ้าบวรเดช พระเชษฐา ต้องจำคุกที่บางขวาง และถูกส่งไปกักขังที่เกาะตะรุเตาและเกาะเต่าถึง 11 ปี
ระหว่างนั้น หม่อมศรีพรหมา ต่อสู้ชีวิตพร้อมกับโอรสธิดาคือ ม.ร.ว. อนุพร และ ม.ร.ว. เพ็ญศรี จนกระทั่ง ม.จ. สิทธิพรได้รับพระราชทานอภัยโทษนิรโทษกรรมกลับมาที่ฟาร์มอีกครั้ง
ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาการเกษตร ม.จ. สิทธิพรทรงรับเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรฯ เป็นเวลา 7 เดือน การต่อสู้เพื่อพัฒนาการเกษตรของทั้งสองท่านก็ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว ศันสนีย์อธิบายว่า หม่อมศรีพรหมาขายที่ทางไร่นา เครื่องประดับบ้านและเครื่องประดับตกแต่งร่างกายบางชิ้น เพื่อพัฒนาการเกษตร
ฟาร์มบางเบิด เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องขายออกไป ทั้งสองท่านย้ายมาทำฟาร์มขนาดย่อมในช่วงบั้นปลายชีวิต โดยที่ ม.จ. สิทธิพรเขียนบทความด้านการเกษตร และแสดงความคิดเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านนโยบายด้านการเกษตรของแต่ละรัฐบาล จนกระทั่งวาระสุดท้ายของ ม.จ. สิทธิพร ในช่วง พ.ศ. 2514
หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ยังปฏิบัติกิจสืบทอดเจตนารมย์ของคู่ชีวิตมาตลอด ตราบจนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2521
อ่านเพิ่มเติม :
- ลางบอกเหตุ-สภาพวันสวรรคตร.5 จากบันทึกหม่อมศรีพรหมา และสิ่งที่ร.6 ทรงพระพิโรธ
- ทำไมคนไทยฮิตกินไข่ ดูยุค ม.จ.สิทธิพร ทำไข่ไก่เชิงการค้าคนแรก สู่สถานะ “อารยธรรมชาติ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2561