ลางบอกเหตุ-สภาพวันสวรรคตร.5 จากบันทึกหม่อมศรีพรหมา และสิ่งที่ร.6 ทรงพระพิโรธ

หม่อมศรีพรหมา กฤดากร (ภาพจากหนังสือ ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก)

ในบรรดานางพระกำนัลในราชสำนัก หม่อมศรีพรหมา ผู้ถวายการรับใช้สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นอีกหนึ่งนางพระกำนัลที่สัมผัสบรรยากาศวันวิปโยคของชาวไทยในระยะใกล้เนื่องจากถวายงานรับใช้ และท่านยังได้เขียนบอกเล่าบรรยากาศไปจนถึงเรื่องราวที่เชื่อว่าเป็นลางบอกเหตุด้วย

หม่อมศรีพรหมาเป็นธิดาพระเจ้าสุริยวงศ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน กับแม่เจ้าศรีคำ ในดินแดนภาคเหนือ เมื่ออายุได้ 3-4 ขวบ บิดาของท่านมีพระประสงค์ให้ธิดาเจริญรุ่งเรืองในอนาคต ทรงตัดพระทัยยกให้เป็นธิดาบุญธรรมของ พระยามหิบาลบริรักษ์ และคุณหญิงอุ๊น ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็น พระพรหมสุรินทร์ ข้าหลวงกำกับราชการในฝ่ายเหนือ

ภายหลังจากนั้นเจ้าศรีพรหมาถูกถวายตัวไว้ในพระอุปการะของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ หลังพระยามหิบาลบริรักษ์ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นอัครราชทูตประจำกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ภายหลังกลับจากรัสเซียแล้ว เจ้าศรีพรหมาเข้ารับราชการในพระราชสำนักในหน้าที่นางพระกำนัล รับใช้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถอย่างใกล้ชิด

ด้วยความเฉลียวฉลาด มีวิชาความรู้ และมีความมั่นใจในตัวเองแตกต่างจากสาววังทั่วไปในสมัยนั้น ย่อมทำให้ท่านเป็นที่พอพระราชหฤทัยทั้งเจ้านายที่ถวายการรับใช้โดยตรง ไปจนถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หม่อมศรีพรหมายังมีโอกาสสัมผัสช่วงบรรยากาศวันสวรรคตของรัชกาลที่ 5 ดังความในบันทึกชื่อ “วันสวรรคตสมเด็จพระปิยมหาราช” ซึ่งเคยตีพิมพ์ในหนังสือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 23 ตุลาคม พ.ศ. 2517 และถูกรวบรวมอยู่ในหนังสือ “อัตชีวประวัติหม่อมศรีพรหมา กฤดากร” ด้วย

บรรยากาศในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2453 หม่อมศรีพรหมาเขียนเล่าว่า รับทราบมาว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรแต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นพระโรคใด สมเด็จฯ ขึ้นไปเฝ้าเยี่ยมที่พระที่นั่งอัมพรฯ และไม่ได้เสด็จกลับพระตำหนัก บรรยากาศในวันก็ประจวบกับเงียบเหงาเช่นกัน แตกต่างจากวันปกติทั่วไปที่มักมีผู้คนเดินขวักไขว่ ถวายการรับใช้หลังพระเจ้าอยู่หัวตื่นบรรทม

สำหรับหน้าที่ของหม่อมศรีพรหมานั้น รับหน้าที่เป็นเวรกลางคืน และต้องนอนพักในเวลากลางวันเพื่อมารับเวรต่อ ในวันเดียวกันท่านเล่าว่านอนหลับไม่ลงเพราะรู้สึกเป็นห่วง ขณะที่แต่ละคนนั่งคอยจ้องไปที่ชั้น 3 ของพระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อไม่ได้พักผ่อนในกลางวันดังเคยก็ต้องพยายามบังคับตัวเองให้เข้านอนตอนพลบค่ำเพื่อเอาแรงสำหรับไปรับเวรต่อ

“…ในที่สุดก็หลับไป มาตกใจตื่นเพราะมีตัวอะไรมากัดหัวแม่เท้าจนเลือดไหล พร้อมกันก็ได้ยินเสียงหนูประมาณว่าหลายสิบตัวยกขบวนกันวิ่งไปวิ่งมาเหนือฝ้าเพดานในอาคารที่ผู้เขียนอยู่ นอกจากจะวิ่งไปวิ่งมาตลอดอาคารซึ่งกั้นเป็นห้องๆ ยาวไป และมีราว 12-15 ห้องแล้ว พวกหนูยังส่งเสียงร้องกุกๆ ๆ ตลอดเวลา…”

หม่อมศรีพรหมาหยิบยกคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ซึ่งได้เคยฟังมาว่า เสียงหนูร้องกุกๆ นั้นจะตามมาด้วยเหตุไม่ดี ครั้นถึงเวลาเข้าเวรก็ขึ้นไปยังพระที่นั่งอัมพรฯ บรรยากาศตามรายทางถูกบรรยายว่า พบเห็นคนหน้าเศร้า พนักงานประจำพระที่นั่งล้วนหม่นหมอง ไม่มีใครทักทายกัน เมื่อถึงชั้น 2 ก็พบคนนั่งตามบันไดกันมากมาย ต้องร้องขอทางเพื่อให้ขึ้นไปได้

ในชั้น 3 (ที่พระแท่นบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5) หม่อมศรีพรหมา เล่าว่า ได้ยินเสียงคล้ายเสียงกรนมาจากห้องพระบรรทม เมื่อไปถึงเห็นสมเด็จฯ ทรงบรรทมกับพื้น ณ สุดทางของห้างพระบรรทมพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

“ขณะเมื่อคลานผ่านพระแท่นในหลวงเพื่อไปยังที่สมเด็จทรงบรรทมอยู่ ได้ชะเง้อดู ภาพที่เห็นคือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอวบอ้วน พระพักตร์อิ่ม ทรงพระภูษาแดงผืนเดียว และทรงกรนสม่ำเสมออยู่”

หม่อมศรีพรหมา ยังอธิบายว่า ไม่เคยเห็นอาการเจ็บในขนาดหนัก เมื่อได้ยินเสียงคล้ายเสียงกรนจึงนึกว่าในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงสบายขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ช่วงหนึ่งเกิดเสียงร้องเอ็ดดังกันขึ้น เมื่อเหลือบไปจึงเห็นคนจำนวนมากหมอบซบกับพื้นเป็นกองๆ ในห้องบรรทมที่มืดมาก มีไฟเพียงดวงเดียว หม่อมศรีพรหมาพยายามคลำพระที่หาสมเด็จฯ แต่หาไม่พบ มาทราบว่าเสียงที่ดังเซ็งแซ่นั้นเป็น “เสียงร้องไห้ของคนจำนวนมากๆ พร้อมๆ กัน จึงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สวรรคตแล้ว”

สถานการณ์เวลานั้น สมเด็จฯ ทรงหมดสติ หม่อมศรีพรหมา เห็นว่า หมอประจำพระองค์ (หมอไรเตอร์) กำลังถวายยาฉีดสมเด็จฯ มีพนักงานอัญเชิญลงบนพระเก้าอี้เพื่อนำกลับพระตำหนัก หม่อมศรีพรหมา ยังเล่าว่า ระหว่างเดินฝ่าฝูงชนที่กำลังหมอบซบนั้น จดจำคนได้คือ เจ้าจอมมารดาชุ่มกับพระเจ้าลูกเธอสองพระองค์ เจ้าจอมเอิบ อยู่ข้างพระแท่นเบื้องขวาของพระบรมศพ และยังมีชื่ออีกหลายท่านที่มีอาการเศร้าโศก แต่ด้วยความรีบที่ต้องการตามพระเก้าอี้ให้ทันทำให้ไม่สามารถจดจำได้หมด

เมื่อพระเก้าอี้มาถึงสวนสี่ฤดู หม่อมศรีพรหมา ยังเล่าว่า สมเด็จฯก็ยังไม่ฟื้น และต้องมีแพทย์เฝ้าพระอาการอย่างใกล้ชิด วันที่ 23 ก็ยังไม่คืนพระสติ

สำหรับบรรยากาศในวันที่ 22 นั้น สอดคล้องกับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ในชื่อ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ซึ่งทรงใช้พระนามแฝงว่า “ราม วชิราวุธ” ทรงพระราชนิพนธ์ ถึงสภาพเวลานั้นว่า

“ในวันที่ 22 นั้น จึ่งมีเจ้านายและข้าราชการเข้าไปทอยๆ กันเรื่อย จนในเวลาดึกนับว่าได้อยู่พร้อมกันหมด น้องชายเล็กนั้น ฉันนั่งรอๆ ดูอยู่ไม่เห็นเข้าไป, ฉันรู้สึกรำคาญจึ่งใช้ให้หม่อมหลวงเฟื้อ (คือเจ้าพระยารามราฆพ) เอารถไปรับตัวเข้าไป. พอเข้าไปถึงฉันก็ให้ดูรายงานหอม และเล่าพระอาการให้ฟังเท่าที่รู้กันอยู่ …

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าพี่ของฉันอีก 2 องค์ ซึ่งแย่งกันเอาฉันเป็นเจ้าของท่าน สององค์นี้คือ กรมราชบุรี กับกรมนครชัยศรี, ซึ่งโดยปรกติก็เปนขมิ้นกับปูนกันอยู่แล้ว, แต่ในเวลาเย็นวันที่ 22 นั้นสำแดงความเปนอริกันอย่างชัดเจนทีเดียว…”

ขณะที่บรรยากาศในวันที่ 23 นั้น ทรงพระราชนิพนธ์เล่าว่า

“ในคืนวันที่สุดแห่งพระชนมายุของทูลกระหม่อมนั้น พระราชโอรสธิดาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้ไปอยู่พร้อมกันที่พระที่นั่งอัมพรสถาน, พวกผู้ชายอยู่ที่ในห้องแป๊ะเต๋งหรือเฉลียงของห้องนั้น ฝ่ายผู้หญิงอยู่ที่เฉลียงข้างห้องที่พระบรรทมที่ชั้นสาม. แท้จริงนั้นพวกลูกเธอผู้หญิงไม่ควรที่จะขึ้นไปอยู่ที่ชั้นบนนั้นเลย, เพราะแต่ก่อนแต่ไรมา เวลาประชวรก็มิได้เลยขึ้นไป. และในคราวที่สุดนี้ทูลกระหม่อมก็มิได้รับสั่งให้หาผู้ใดขึ้นไปเลย, แต่ทูลกระหม่อมหญิงกรมหลวงศรีรัตนโกสินทรเปนผู้ไปเรียกพี่น้องผู้หญิงให้ขึ้นไป, จึ่งได้ขึ้นไปอยู่กันแน่นคลัก, รวมทั้งพวกเจ้าจอมอีกด้วย เวลาที่จวนสวรรคตจึ่งมีผู้หญิงอยู่ชั้นสามนั้นเต็มไปหมด.

…วันที่ 23 ตุลาคม, เวลาเที่ยงคืนแล้วไม่ช้าหมอไรเตอร์ สั่งลงมาจากข้างบนให้บอกฉันว่า ทูลกระหม่อมทรงอ่อนเต็มทีแล้ว, ฉันจึ่งได้ขึ้นไปชั้นบนพร้อมด้วยลูกเธอของทูลกระหม่อม กับมีทูลกระหม่อมอา (สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) กับกรมขุน (ภายหลังเปนกรมหลวง) สรรพสิทธิประสงค์, เสนาบดีกระทรวงวัง, ขึ้นไปด้วย

พอขึ้นไปถึงฉันก็รู้สึกรำคาญจนแทบจะหน้ามืด, เพราะได้เห็นผู้หญิงนั่งเบียดเสียดเยียดยัดกันแน่นอยู่ตามเฉลียงโดยรอบห้องที่พระบรรทม, จุกแน่นทุกช่องพระทวารจนแทบจะไม่มีลมเข้า, ราวกับเบียดกันดูลครอะไรอันหนึ่ง. ฉันนึกๆ อยากจะไล่ให้หลีกกันไปเสียบ้าง, แต่นึกๆ ไปก็เห็นว่าถ้าจะไล่ขับกันในเวลานั้นคงเปนเหตุยุ่งเหยิงมากมายไปเปล่าๆ…

…พอเสด็จสวรรคตลง ฉันก็ต้องได้เห็นสิ่งซึ่งทำให้ฉันรู้สึกโกรธและสลดใจอย่างที่สุด พวกผู้หญิง, ทั้งลูกเธอและเจ้าจอมที่ได้ไปอัดกันอยู่ก่อนแล้วนั้น, พอปรากฏว่าเสด็จสวรรคตแล้วก็ตรูกันเข้าไปที่พระแท่นและล้อมดูกันแน่น, คนโน้นจับทีคนนี้จับที, อย่างชุลมุนที่สุด, ซึ่งในเวลานั้นฉันนึกไม่ออกว่าจะเปรียบด้วยอะไร, แต่มาภายหลังนี้นึกออกว่า มีเปรียบแต่กับราษฎรฮือกันเข้าไปแย่งเมล็ดข้าวที่หว่านในพิธีแรกนา ฉันมิได้เคยนึกเคยฝันเลยว่าจะต้องเห็นกิจการเช่นนั้น…”

ความในเนื้อหาส่วนนี้ ทรงพระราชนิพนธ์ถึงการพยาบาล “เสด็จแม่” ใจความว่า

“…ฉันสั่งน้องชายเล็กกับหมอไรเตอร์ให้ดูแลพยาบาลเสด็จแม่, ซึ่งประชวรพระวาโยอยู่, และว่าเมื่อหายแล้วให้เชิญเสด็จลงไปที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู, และฉันสั่งกรมสรรพสิทธิ์ให้จัดการต้อนพวกผู้หญิงลงจากชั้นบนให้หมดโดยเร็ว, แล้วฉันเองก็กลับลงไปที่ห้องแป๊ะเต๋ง.”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา, หม่อม. อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร. พิมพ์ครั้งที่ 4. นนทบุรี: สารคดี, 2562.

ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2562