“ถ้ำเขาหลวง” เพชรบุรี มรดกสำคัญที่ถูกลืม

พระพุทธรูปมีจารึกพระปรมาภิไธยและพระบรมราชสัญลักษณ์รัชกาลที่ ๑-๔ และพระพุทธรูปปางขอฝน ในคูหาที่ ๓ อาจหมายถึงพระประจำแผ่นดินรัชกาลที่ ๑-๕

ถ้ำเขาหลวง ตั้งอยู่ที่ ตำบลธงชัย อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นสถานที่ที่มีความงดงามตามธรรมชาติ มีปูชนียวัตถุเก่าแก่มากมาย และยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานเอกสารทั้งของไทยและต่างประเทศที่กล่าวถึงการเดินทางมาถ้ำเขาหลวงแห่งนี้

ถ้ำเขาหลวงในหลักฐานเอกสาร

ถ้ำเขาหลวงเป็นที่รู้จักผ่านวรรณคดีที่สำคัญ เช่น นิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ ซึ่งได้บรรยายถึงสภาพภูมิประเทศและปูชนียวัตถุที่สำคัญในถ้ำ อาทิ พระเจดีย์และพระพุทธไสยาสน์ อีกเรื่องหนึ่งคือ นิราศเขาหลวง ซึ่งประพันธ์ขึ้นโดยขุนวรการในสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากทำให้เราเห็นภาพของถ้ำเขาหลวงในสมัยนั้น ยังทำให้เราทราบถึงประเพณีการบำเพ็ญกุศลในเทศกาลตรุษสงกรานต์ของชาวเมืองเพชรบุรีอีกด้วย

พระราชพงศาวดารและพระราชกิจสะท้อนให้เห็นพระราชศรัทธาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อถ้ำเขาหลวงในฐานะพุทธสถานสำคัญ โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป พระเจดีย์ และรอยพระพุทธบาทภายในถ้ำ และมีพระราชดำริให้จ้างลาวพวนและลาวทรงดำซึ่งเป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงให้เป็นผู้ดูแลรักษา รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดทางขึ้นลงให้มั่นคงแข็งแรง และโปรดเกล้าฯ ให้สั่งกระเบื้องหน้าวัวจากเมืองสงขลาเพื่อมาปูพื้นถ้ำเขาหลวง นับเป็นการปฏิสังขรณ์ถ้ำเขาหลวงครั้งใหญ่ในรัชสมัยนั้น

หลวงพ่อถ้ำหลวง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และของพระราชวงศ์เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปและปูชนียวัตถุต่างๆ เช่นกัน เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ มายังถ้ำเขาหลวงเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีสดับปกรณ์พระบรมทนต์ในรัชกาลที่ ๔, พระทนต์ของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนี และพระทนต์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระอัครมเหสีที่สิ้นพระชนม์อีกด้วย

ภาพถ่ายภายใน “ถ้ำเขาหลวง” เพชรบุรี ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ถ้ำเขาหลวงยังเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างชาติด้วย เช่น เซอร์ จอห์น เบาริง, อองรี มูโอต์, เจ. ทอมสัน, ซาร่า คอฟแมน บันทึกของชาวต่างชาติกล่าวถึงสภาพธรรมชาติของถ้ำเขาหลวงและปูชนียวัตถุกับสิ่งก่อสร้างภายในถ้ำ ซึ่งทำให้จินตนาการถึงภาพถ้ำเขาหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ได้เป็นอย่างดีนอกจากนี้ ยังเป็นที่รับรองดุ๊กโยฮัน อัลเบรกต์ (Duke Johon Alberkt) ผู้สำเร็จราชการเมืองบรันชวิก (Braunschweig) และเจ้าหญิงอลิสซาเบท สโตลเบิร์ก รอชซาลา (Princess Elizabeth Stolberk Rojsala) พระชายา พระราชอาคันตุกะของรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓

แผนผังถ้ำเขาหลวง

ศิลปกรรมชิ้นงามในถ้ำเขาหลวง

ถ้ำเขาหลวงประกอบด้วยถ้ำทั้งหมด ๔ คูหา ภายในแต่ละคูหาประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญไว้ ดังนี้

คูหาที่ ๑ ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทบนแท่นฐาน โดยมีซุ้มหลังคาและเสาครอบทับอีกชั้นหนึ่ง รอยพระพุทธบาทแกะสลักจากศิลาเป็นลวดลายมงคล ๑๐๘ ประการในตารางเต็มฝ่าพระบาท ลายเหล่านี้จัดเรียงตามคติไตรภูมิ ซึ่งเริ่มที่ใต้พระอังคุฐหรือหัวแม่เท้าไปยังส้นพระบาท แล้ววนเข้าหาจุดศูนย์กลาง โดยเริ่มจากสิ่งของหรือสถานที่ที่เป็นมงคลในโลกมนุษย์ ลายที่เกี่ยวกับป่าหิมพานต์ จนกระทั่งลายปราสาทที่หมายถึงเทวโลกและพรหมโลก พระพุทธบาทนี้สามารถกำหนดอายุได้ในสมัยอยุธยาโดยพิจารณาจากลายบัวขาบที่ประดับฐาน ทั้งนี้นอกจากรอยพระพุทธบาทแล้ว ในคูหาดังกล่าวยังประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวน ๙ องค์ บางองค์เป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองสมัยอยุธยาตอนต้น

พระพุทธบาทในคูหาที่ ๑

คูหาที่ ๒ ที่ผนังถ้ำด้านขวาของคูหาที่ ๒ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำแผ่นดินทั้งหมด ๔ องค์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพื่อถวายพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ ๑-๓ และของส่วนพระองค์ พระพุทธรูปแต่ละองค์มีจารึกพระปรมาภิไธยที่ฐาน และที่ผ้าทิพย์ประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ของแต่ละรัชกาล ทั้งนี้ใกล้กับพระพุทธรูปเหล่านี้มีระฆังโลหะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นคู่หนึ่งสำหรับถ้ำเขาหลวงโดยเฉพาะ แต่ปัจจุบันพบหลักฐานเพียงใบเดียว

คูหาที่ ๓ ที่โถงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อถ้ำหลวง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปแบบที่ปรากฏสามารถกำหนดอายุได้ในสมัยอยุธยา นอกจากนี้ที่โพรงถ้ำด้านทิศใต้ใกล้กับหลวงพ่อถ้ำหลวง ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำแผ่นดิน ทั้งหมด ๕ พระองค์ ที่มีข้อความจารึกพระปรมาภิไธยบนแผ่นหินที่ฐาน และที่ผ้าทิพย์ประดับพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาล ทั้งนี้พระพุทธรูปทั้งหมด รวมทั้งพระพุทธรูปประจำแผ่นดินในคูหาที่ ๒ ล้วนมีพุทธลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาที่สร้างขึ้นในแต่ละรัชกาล ซึ่งประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง

งานศิลปกรรมอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจในคูหานี้คือ พระพุทธรูปขนาดหน้าตักประมาณ ๑ ศอกที่เรียงรายอยู่โดยรอบผนังถ้ำ เป็นจำนวนกว่า ๑๐๐ องค์ เกือบทุกองค์มีจารึกพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ในพระราชวงศ์จักรี สามารถแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกได้แก่ พระพุทธรูปที่มีจารึกพระนามพระราชโอรส พระราชธิดา เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๔ อีกกลุ่มหนึ่งคือพระพุทธรูปที่มีจารึกพระนามสมเด็จพระอัครมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา และเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๕ พระพุทธรูปที่มีจารึกพระนามพระราชวงศ์เหล่านี้น่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระราชวงศ์

พระพุทธไสยาสน์ คูหาที่ ๓
พระพุทธรูปอู่ทองในคูหาที่ ๓

นอกจากนี้ในคูหาที่ ๓ ยังพบพระพุทธรูปสมัยอยุธยาด้วย ได้แก่ พระพุทธรูปอู่ทองขนาดใหญ่ด้านหลังเจดีย์ พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ และพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ รวมทั้งยังมีเจดีย์สมัยอยุธยา คือ เจดีย์แปดเหลี่ยมทรงปราสาทยอดที่ประดับลวดลายปูนปั้น ๑ องค์ และเจดีย์ทรงระฆัง ๒ องค์

คูหาที่ ๔ ภายในคูหานี้ประดิษฐานพระพุทธรูปที่สร้างหรือปฏิสังขรณ์โดยพระราชวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ ที่สำคัญคือพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ๓ องค์ ซึ่งมีจารึกระบุว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ และ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระองค์ละ ๑ องค์ ส่วนเจดีย์ทรงระฆัง ๓ องค์ ซึ่งแสดงถึงรูปแบบศิลปกรรมที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้น เจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดอาจสร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจดีย์ขนาดเล็กอีก ๒ องค์ ซึ่งอยู่บนฐานเดียวกันนั้น น่าจะสร้างขึ้นโดยพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ และ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ตามที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดาร

เจดีย์ทรงกลม ๓ องค์ ในคูหาที่ ๔
พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ๓ องค์ และพระพุทธรูปอื่นๆ ในคูหาที่ ๔

จากหลักฐานเอกสารรวมไปถึงหลักฐานศิลปกรรม แสดงให้เห็นว่าถ้ำเขาหลวงมิใช่เป็นเพียงสถานที่สำคัญทางศาสนาเท่านั้น หากแต่เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับราชวงศ์จักรี ดังนั้นจึงควรที่จะตระหนักถึงคุณค่าและอนุรักษ์สิ่งต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้คงอยู่ถึงลูกหลานสืบไป

ข้อมูลจากโครงการวิจัยเรื่อง “ถ้ำเขาหลวงและสถานที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง หัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.)

[ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจ : เขาหลวงมรดกล้ำค่าคู่เมืองเพช]


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ.2561