ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ยอดเขาเอเวอเรสต์” คือยอดเขาที่นักปีนเขาทั่วโลกใฝ่ฝันถึงและต้องการจะพิชิตให้ได้สักครั้งในชีวิต ทุกวันนี้การปีน “เอเวอเรสต์” อาจไม่ใช่เรื่องยากลำบากมากเหมือนอดีต แต่ถ้าย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ใครที่จะไปเอเวอเรสต์ได้ต้องอึดและทรหดอย่างมาก อย่าง จอห์น โนเอล ช่างภาพคนแรก ผู้ถ่ายภาพยนตร์บันทึกการไต่เขาเอเวอเรสต์ ในทศวรรษ 1920 ให้โลกได้เห็นพลังความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ และเป็นประจักษ์พยานคนสุดท้ายที่เห็น จอร์จ มัลลอรี และ แอนดรูว์ เออร์ไวน์ สองนักปีนเขาผู้ยิ่งใหญ่ และเป็นตำนานแห่งเอเวอเรสต์
จอห์น โนเอล ผู้ไม่ทิ้งฝันการพิชิต “เอเวอเรสต์”
จอห์น โนเอล (John Noel) เป็นชาวอังกฤษ เมื่ออายุ 22 ปี เขาเข้ารับราชการทหารในกองทัพบกอังกฤษ ประจำการอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ความยิ่งใหญ่ของ “เอเวอเรสต์” ทำให้เขาหาทางผจญภัยไปที่นั่น ช่วงที่หยุดพักฤดูร้อน 2 เดือน
ตอนนั้นเป็น ค.ศ. 1913 ทิเบตออกกฎห้ามคนผิวขาวเข้าประเทศและเดินทางไปยังภูเขาศักดิ์สิทธิ์ “โคโมลังมา” เจ้าแม่แห่งโลก ซึ่งไม่เคยมีชาวตะวันตกคนใดพยายามไปมาก่อน แต่โนเอลถึงขั้นย้อมผมและทาผิวเป็นสีน้ำตาล สวมเสื้อผ้าชนพื้นเมือง แล้วลักลอบออกเดินทางไปกับชาวเขากลุ่มหนึ่ง พร้อมเสบียงที่ประทังชีวิตได้ราว 2 สัปดาห์
หลังจากรอนแรมผ่านที่ราบสู่ภูเขาสูงอันทุรกันดารของทิเบต และอีกเพียง 40 ไมล์ก็จะถึง ยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่แล้วเขาก็ต้องประจันหน้ากับหน่วยทหารลาดตระเวนทิเบต ซึ่งบังคับให้เขาเดินทางกลับทันที
ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ล้มเลิก เขาเริ่มวางแผนพิชิตเอเวอเรสต์อีกครั้ง แต่ต้องพับโปรเจกต์ไปก่อน เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1
ในที่สุด โอกาสของโนเอลก็มาถึงอีกครั้งใน ค.ศ. 1922 เมื่อ ราชสมาคมภูมิศาสตร์ (Royal Geographical Society) แห่งอังกฤษ สนับสนุนเงินทุนให้โครงการสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์ของนักไต่เขาคณะหนึ่ง
โนเอลขอเดินทางไปด้วยในฐานะ “ช่างภาพ” แต่สมาชิกคณะสำรวจไม่เห็นด้วย เพราะมองว่า การไต่เขาเป็นกีฬาสำหรับสุภาพบุรุษ ไม่ใช่เป็นการถ่ายทำภาพยนตร์ เขาจึงต้องหาเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง โดยแลกกับการถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เขาสนใจมาตั้งแต่เด็ก
เขานำกล้องถ่ายภาพยนตร์ยี่ห้อ นิวแมน ซินแคลร์ (Newman Sinclair) และกล้องส่องถ่ายทางไกล ยี่ห้อ คุก (Cooke) พร้อมเลนส์ที่ผลิตโดย เทย์เลอร์, เทย์เลอร์ แอนด์ ฮอบสัน (Taylor, Taylor & Hobson) รวมทั้งอุปกรณ์ล้างฟิล์มที่ดัดแปลงด้วยเทคนิควิธีการประยุกต์ของตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ
“ครั้งแรกที่พวกเราเห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ พวกเราประทับใจกับความศักดิ์สิทธิ์และความยากลำบากแสนสาหัสในการไต่เขาขึ้นมา พวกเราทรุดนั่งลงกับพื้น…อ้าปากอย่างลืมตัวมองดูภูเขาตรงหน้า ไม่มีใครในหมู่พวกเราพูดระบายความรู้สึกออกมา ไม่มีใครรู้ว่าใครกำลังคิดอะไร แต่ผมรู้ดีว่าผมคิดอะไรและทุกคนในคณะสำรวจคิดอะไร นี่คือสิ่งที่เกินกว่ามนุษย์จะทำได้ แต่พวกเราไม่เคยแสดงออกมา”
โนเอลไม่มีช่างกล้องติดตามมาด้วย แต่มีชาวเขาเผ่าเชอร์ปา (Sherpa) ที่คุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศแถบนั้น จำนวน 10 คน และล่อ 2 ตัว เป็นผู้ช่วยเหลือและแบกสัมภาระ เขาปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ดีอย่างน่าแปลกใจ
เค้าลางอุปสรรคเริ่มปรากฏ เมื่อถึงค่ำมืดแล้วนักไต่เขา 2 คนยังกลับไม่ถึงกระโจมที่พัก โนเอลจึงเอาฟิล์มที่ยังไม่ได้ถ่ายมากองสุมแล้วจุดไฟเป็นสัญญาณ ในที่สุดพวกเขาก็กลับถึงที่พัก แต่ด้วยอาการบาดเจ็บอย่างรุนแรง เพราะน้ำแข็งกัดจนบวมเป็นน้ำเหลือง ส่วนวันต่อมา หิมะก้อนมหึมาขนาดภูเขาตกลงมากระทบแม่น้ำจนน้ำแข็งกระจาย ทับชาวเชอร์ปาตายไป 7 คน
ความพยายามครั้งที่ 2 ของโนเอลที่จะพิชิตเอเวอเรสต์ จึงเป็นอันสิ้นสุด
ประจักษ์พยานการปรากฏตัวครั้งสุดท้ายของ “มัลลอรี-เออร์ไวน์”
เมื่อกลับถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โนเอลนำฟิล์มที่บันทึกไว้มาเรียบเรียงเป็นสารคดี “Climbing Mount Everest” แต่ไม่มีโรงหนังใดสนใจ เขาจึงเปลี่ยนไปเป็นจัดแสดงนิทรรศการแทน ซึ่งมีคนสนใจพอสมควร
ค.ศ. 1924 คณะสำรวจยอดเขาเอเวอเรสต์เริ่มต้นเดินทางอีกครั้ง
คราวนี้โนเอลใช้กล้องจากโรงงาน อาร์เธอร์ นิวแมน (Arthur Newman) พร้อมแบตเตอรีซึ่งสามารถถ่ายภาพได้ไวกว่า และให้ชาวเชอร์ปานำฟิล์มจากภูเขาไปล้างที่ห้องแลปเมืองดาร์จีลิง อินเดีย ซึ่งมีช่างชำนาญงานรออยู่ จากนั้นค่อยส่งไปให้ ปาเธ นิวส์ (Pathé News) ที่อังกฤษ เผยแพร่เป็นข่าว
ลมกรรโชกแรงดุจพายุพัดกระโจมที่พักปลิวพินาศ อากาศที่หนาวเย็นทำให้ชาวเชอร์ปาตายไป 2 คน ส่วนโนเอลสามารถปีนเขาไปที่ระดับ 23,000 ฟุต นับว่าอึดและทรหดสุดๆ เพราะในวงการแพทย์ ความสูงระดับ 21,000 ฟุต คือขีดจำกัดของมนุษย์ที่จะคุ้นชินกับสภาพอากาศ
วันที่นักไต่เขาผู้ยิ่งใหญ่อย่าง จอร์จ มัลลอรี (George Mallory) และ แอนดรูว์ เออร์ไวน์ (Andrew Irvine) พยายามครั้งสุดท้ายที่จะพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ โนเอลไต่เขาติดตามไปถ่ายภาพยนตร์ทุกอิริยาบถ ยามทั้งสองเคลื่อนขยับร่างสูงขึ้นๆ
เลนส์ถ่ายระยะไกลของโนเอล ทำให้เขาสามารถเฝ้ามองนักปีนเขาทั้งสองได้อย่างใกล้ชิด ระยะทางอีก 800 ฟุตเท่านั้นจะถึงยอดเขา แต่แล้วก็เกิดเมฆหนาแน่นปกคลุมทั่วบริเวณ จนมองไม่เห็นความเคลื่อนไหวใดๆ
คณะนักไต่เขาพยายามค้นหามัลลอรีและเออร์ไวน์ทุกซอกทุกมุมเท่าที่จะทำได้อยู่นาน 2 วัน แต่ไม่พบร่องรอยใดๆ เขาบรรยายความรู้สึกเมื่อภาพยนตร์ฉายถึงตอนที่เห็นภาพคณะนักไต่เขาส่งสัญญาณบอกว่า ได้ค้นหาจนทั่วแล้ว
“สมัยนั้นเราไม่มีโทรศัพท์ไร้สายใช้ในการติดต่อสื่อสาร คณะนักไต่เขาที่ออกค้นหาส่งสัญญาณมาให้รู้ ผมบันทึกภาพไว้ ภาพที่ดีที่สุดในชีวิตของผม แล้วพวกเขาก็เดินต่อไป
มีคนถามผมว่าผมเห็นอะไร? ผมบอกไม่ได้ ผมรู้สึกหมดแรง ผมบอกเขาไม่ได้ว่าผมเห็นสัญญาณบอกว่า พวกเขาค้นหาจนทั่วแล้ว มัลลอรีและเออร์ไวน์ตายแล้ว ภาพที่ถ่ายไว้แสดงความหมายชัดเจน”
หลังการเดินทางตามความฝันครั้งที่ 3 โนเอลก็นำภาพยนตร์ของเขาที่ได้จากการเดินทางครั้งนี้ เรื่อง “Epic of Everest” ออกฉาย พร้อมการบรรยายประกอบในอังกฤษ และอีก 14 มลรัฐในสหรัฐอเมริกา
จากนั้นใน ค.ศ. 1927 โนเอลเขียนหนังสือเล่าเรื่องการผจญภัยและประสบการณ์จากยอดเขาเอเวอเรสต์ และตั้งชื่อว่า “Through Tibet to Everest” ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
จอห์น โนเอล เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1989 ด้วยอายุ 99 ปี สิ่งที่เขาพบเจอและถ่ายทอดให้โลกได้รู้ ไม่ได้เกินไปเลยที่จะส่งชื่อของเขาขึ้นเป็นหนึ่งในตำนานของเอเวอเรสต์
หมายเหตุ : ไม่มีใครพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้จนกระทั่งถึง ค.ศ. 1953 ที่ 2 นักปีนเขา คือ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี (Edmund Hillary) ชาวนิวซีแลนด์ และ เทนซิง นอร์เก (Tenzing Norgay) ชาวเชอร์ปา สามารถทำสำเร็จ
อ่านเพิ่มเติม :
- “ทหารกูรข่า” นักรบที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก แม้แต่กองทัพอังกฤษยังต้องยกนิ้วให้
- “ดาร์จีลิง” เมืองแห่งเทือกเขาหิมาลัย ต้นกำเนิด “ชาดาร์จีลิง” ชาดังอันดับต้นของโลก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
บุญยก ตามไท. “ช่างภาพคนแรก ผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์” (เรียบเรียงจากนิตยสาร American Cinematographer ฉบับสิงหาคม ค.ศ. 1990). นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2534
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2567