“งั่ง” เครื่องรางสายเสน่ห์ฤทธิ์เหลือร้าย และที่มาของคำด่า “ไอ้งั่ง”

งั่ง ไอ้งั่ง อีเป๋อ เครื่องราง ของขลัง
พระงั่งคู่ หรือ ไอ้งั่ง อีเป๋อ วัดบ้านจะเนียง (ภาพโดย Enyavar จาก Wikimedia Commons สิทธิ์การใช้งาน CC BY-SA 4.0) - ดัดแปลงภาพเพิ่มเติมโดย ทีม Digital Medie ศิลปวัฒนธรรม

“พระงั่ง” “ไอ้งั่ง” ตาแดง หรือที่ทางอีสานและลาวเรียกว่า “พระอีหง่าง” เป็นเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่งของเขมร เชื่อว่าหากพกพาหรือบูชาไว้จะช่วยในเรื่องเมตตามหานิยม ค้าขายดี มีเสน่ห์ เพศตรงข้ามมารักมาหลง และอยู่ยงคงกระพันด้วย ถูกจัดให้เป็นเครื่องรางกลุ่ม “พราย” ที่ถือกันว่าแรงที่สุดในบรรดามหาเสน่ห์สายล่าง

ลักษณะของ “งั่ง” มีรูปร่างเป็นบุคคลในท่านั่งขัดสมาธิ มีฐานบัว คล้ายพระเครื่อง แต่ไม่ใช่ ลักษณะทางกายภาพค่อนข้างหยาบ ร่างกายท่อนบนเปลือยเปล่า ยอดเกศเอียงขวา หน้าตาดุดัน ปากเหมือนคนแสยะยิ้ม และมีตาสีแดง เป็นที่มาของชื่อเรียก “งั่งตาแดง”

ตำนานเกี่ยวกับ “งั่ง” ระบุว่า “พระงั่ง” หรือ “ไอ้งั่ง” มีประวัติความเป็นมาหลายร้อยปีตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว งานวิจัยของคณะอาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พบว่า “งั่ง” อาจเป็นรูปแทนของพระศิวะเหมือน “ปลัดขิก” ที่สร้างในรูปของศิวลึงค์ ส่วนงั่งเป็นรูปร่างของบุคคล

เรื่องเล่าว่าด้วยที่มาของ “งั่ง” ที่มีลักษณะคล้ายพระเครื่อง เพราะเป็นผู้ที่ต้องการจะบวชแต่ไม่ได้บวช ในอดีตมีชายผู้หนึ่งผิดหวังจากความรักมาตลอดจนปลงใจที่จะบวช ปรากฏว่าระหว่างพิธีอุปสมบท หญิงคนรักของเขากลับมาขอคืนดี ชายผู้นั้นจึงเปลี่ยนใจไม่บวช พลันเกิดเรื่องอัศจรรย์ขึ้นหลังจากนั้น เพราะเขากลายเป็นคนเจ้าเสน่ห์ มีสาวน้อยสาวใหญ่มาติดพันไม่ขาดสายโดยไม่ทราบสาเหตุ

ผู้มีวิชาทางไสยศาสตร์จับเอาจุดนี้มาเป็นเคล็ดในการสร้างเครื่องรางสายเสน่ห์ รูปลักษณ์ของ “งั่ง” จึงออกมาก้ำกึ่งคล้ายพระอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อสะท้อนภาพของผู้ที่กำลังจะบวชแต่ไม่ได้บวช อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าเรื่องเล่าดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่ออธิบายคำว่า “งั่ง” ที่เป็นคำด่าเพื่อสื่อถึงความ “โง่เขลา” โดยเชื่อมโยงพฤติกรรมของชายผู้นั้นว่าแทนที่จะบวชเรียนเพื่อใฝ่ทางธรรมกลับต้องมาลุ่มหลงในกามตัณหา

ครูบาธรรมวงศา เจ้าอาวาสวัดจอมเพชร แขวงจำปาสัก ประเทศลาว ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า แท้จริงแล้วคำว่า “งั่ง” ถูกใช้นำหน้านามจำนวนหนึ่งในภาษาลาว เช่น งั่งสังข์ทอง งั่งสีโห งั่งสินไซ (ในเรื่องสังข์ศิลป์ไชย) ด้วยบริบทเดียวกับคำว่า “พระ” ในภาษาไทย เช่น พระสังข์ กล่าวคือ มีการใช้คำว่า “งั่ง” นำหน้านามหรือชื่อบุคคลแม้ผู้นั้นไม่ได้บวชเป็นพระ แต่เป็นตัวละครเอกในวรรณกรรมหรือผู้มีอำนาจพิเศษบางอย่างเหนือมนุษย์นั่นเอง

การพก การเลี้ยงบูชา “งั่ง” ทำได้โดยนำติดตัวใส่ไว้ในกางเกงหรือบริเวณใกล้ของสงวน ว่ากันว่ายิ่งผู้เลี้ยงไม่อาบน้ำหรือทำตัวสกปรกยิ่งส่งเสริมความขลังและอิทธิฤทธิ์ของงั่ง เพราะงั่งชอบเกลือกกลั้วของต่ำ สามารถเลี้ยงด้วยอาหารคาว-หวานทั่วไป หากปรารถนาโชคลาภบารมีให้เลี้ยงด้วยน้ำเปล่า ผลไม้ เหล้า หรือน้ำผึ้ง แต่หากต้องการคุณด้านเสน่ห์ให้เลี้ยงด้วยประจำเดือน โดยเลี้ยงใหญ่ปีละครั้งในวันที่ 15 เมษายนหรือวันสงกรานต์ อาหารสำหรับเลี้ยงใหญ่ อาทิ ไก่ต้ม ไข่ต้ม ข้าว น้ำ และเหล้าขาว

สำหรับวิธีพิสูจน์ว่า “งั่ง” ที่บูชาเป็นของจริงหรือปลอม ทำได้โดยการวางงั่งคว่ำหน้าลงกับพื้น แล้วให้ผู้หญิงกระโดดข้าม งั่งจะพลิกตัวหันหน้าขึ้นมา บ้างใช้ผ้าถุงแทนผู้หญิงก็มี…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Matichon Online : สาวลำปางถามโซเชียล เจอของประหลาดหน้าบ้าน อะไรตาแดงๆ ดีหรือไม่ดี?

วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่ 12 เล่ม 1 (2559) : ความเชื่อร่วมเรื่องเครื่องรางของขลังในเมืองชายแดนไทย-ลาว-กัมพูชา (307-331, ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2565