เปิดสารพัดสูตร ฮาวทูทำ “น้ำมันพราย” ในงานเขียนฝรั่ง

กะโหลก มนต์ดำ ไสยศาสตร์
(ภาพโดย hollywut จาก Pixabay)

“น้ำมันพราย” เป็นตัวช่วยหนึ่งที่พวกรักเขาข้างเดียวบางคนเลือกใช้เพื่อให้สมหวัง ในยุคดิจิทัลหลายคนอาจคิดว่าน้ำมันพรายเป็นเรื่องล้าสมัย แต่ถ้าลองพิมพ์คำว่า “น้ำมันพราย” ในกูเกิล จะพบว่าอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด, หาง่าย และเป็นเรื่องจริงจังมาก 

อีกทั้งไม่ว่าจะเปิดแอปช้อปปิ้งเจ้าไหน จะแอปน้ำเงินหรือแอปส้ม ก็มีน้ำมันพรายให้เลือกหลายเวอร์ชั่น, หลายขนาด, ในราคาที่จับต้องได้ (ตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักพัน) การเข้าถึงน้ำมันพราย และจับจองเป็นเจ้าของจึงทำได้ไม่ยาก

แต่ถ้าใครชอบ “น้ำมันพราย” แบบโฮมเมด ก็ลองมาอ่านบทความของฝรั่งท่านนี้ดู

ท่านชื่อ ฟรานซิส เฮนรี ไจลส์ (Francis H. Giles) (พ.ศ. 2412-2494) เจ้าหน้าอังกฤษที่ทำงานให้กับรัฐบาล (อังกฤษ) ในพม่า ซึ่งทางการไทยขอยืมตัวมาช่วยราชการงานคลัง ต่อมาเข้ามารับราชการในราชสำนักสยามเรื่อยมา จนได้บรรดาศักดิ์ “พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร” เป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนแรก นอกจากนี้ยังเคยเป็นนายกของสยามสมาคม มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคมหลายเรื่อง

เรื่องน้ำมันพรายนั้น สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลที่บันทึกจากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่นที่พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร ไปปฏิบัติราชการ ซึ่งเดิมเขียนเป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อเรื่อง “About a Love Philtre” (วารสารสยามสมาคม เล่มที่ 30 ตอนที่ 1 เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1937) ภายหลังสัญฉวี สายบัว แปลเป็นไทยว่า “เรื่องน้ำมันพราย” และพิมพ์ใน หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ (สวัสดิ์ สุมิตร) อนุสรณ์ เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงสวัสดิสารศาสตรพุทธิ ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ.ว. (สวัสดิ์ สุมิตร) ณ เมรุวัดธาตุทอง 25 กุมภาพันธ์ 2516 ซึ่งผู้เขียนเก็บความมานำเสนอตามลำดับขั้นตอนดังนี้

ก่อนลงมือทำ “น้ำมันพราย”

เมื่อคิดจะทำน้ำพราย ต้องเตรียมวัตถุดิบสำคัญคือ “ศพ” ศพที่เพิ่งเสียชีวิตใหม่ๆ ใช้ได้ทั้งหญิงชาย แต่ต้องไม่ใช่ศพที่เสียชีวิตปกติ อย่างน้อยก็ต้อง “ตายโหง” จึงใช้ทำน้ำมันพรายได้ แต่ดีที่สุดคือศพหญิงตายท้องกลมที่จะทำให้น้ำมันขลังยิ่งขึ้น

อุปกรณ์ที่ต้องจัดหาเตรียมไว้ได้แก่ สายสิญจน์, มีด, ไม้ตะพด, ผ้าแปดผืน, น้ำมนต์, ข้าวสาร, ขี้ผึ้งหนัก 1 บาท, เทียนชัย (ไส้เทียนปั่นด้วยด้าย 9 เส้น) ทั้งหมดนี้ต้องมีการปลุกเสกคาถาแล้ว และเครื่องมือสำหรับขุดดิน

เมื่อพร้อมแล้ว หมอผี และผู้ช่วยอีก 2 คน ก็จะเข้าป่าช้า ไปทำ “น้ำมันพราย” กัน

น้ำมันพรายสูตรที่ 1

เริ่มจากเอาสายสิญจน์วงรอบหลุมฝังศพ เอาผ้าแปดผืนแขวนไว้ประจำทิศทั้งแปด จากนั้นหมอผีจะเข้าฌาน เรียกวิญญาณผู้ตาย เมื่อถูกปลุกขึ้นจากหลุม เล่าว่าผีหรือวิญญาณที่ปรากฏบางครั้งอาจสูงเท่าต้นตาล หมอผีจะต้องสวดคาถาซัดข้าวสารเสก จนร่างนั้นลดขนาดเท่าคนทั่วไป และยอมนั่งก้มหัวอยู่หน้าหมอผี จากนั้นวิญญาณจะค่อยๆ ยกมือขึ้นโอบกอดหมอไว้

จังหวะนี้เองที่หมอผีจะจุดเทียนชัยลนที่หน้าผากผี เพื่อเอาน้ำมันจากสมอง ถ้าน้ำมันที่ได้จากสมองไม่พอก็จะลนที่คางเพื่อเอาน้ำมันเพิ่ม เมื่อได้น้ำมันพอแล้ว หมอก็ใช้เทียนลนที่ข้อศอกของร่างให้คลายอ้อมกอด ร่างนั้นก็หายไป

น้ำมันพรายสูตรที่ 2

เริ่มจากโกยดินที่หลุมศพออกเฉพาะส่วนที่เป็นด้านหัว จนถึงศพที่ฝังอยู่ ก็แก้ผ้าที่ห่อศพออกแล้วจับศพขึ้นนั่ง ตอกหลักสำหรับใช้มัดศพให้ตั้ง แกะขี้ผึ้งที่ปิดหน้าศพออก แล้วจุดเทียนลนเอาน้ำมันที่หน้าผาก หรือคางของศพ

แต่เดี๋ยวก่อน เรื่องราวมันไม่ง่ายขนาดนั้น ถ้าเจอร่างที่วิญญาณมีอิทธิฤทธิ์มาก จะขัดขวางไม่ยอมให้หมอผีขุดพบส่วนที่หัวของตนเอง ไม่ว่าจะขุดตรงไหนก็จะพบแต่เท้าตลอด

ถ้าหมอผีแก้เกมส์ด้วยการขุดศพหมดทั้งตัว วิญญาณก็จะสู้ด้วยการดึงคนขุดลงไปในหลุมด้วย แล้วกดหัวเอาไว้ หมอผีต้องเอาไม้ตะพดฟาดศพจนกว่าจะยอมปล่อยมือ หรือบางทีก็แสดงฤทธิ์ด้วยการหายไปจากหลุมทั้งร่าง ต้องว่าคาถา, ซัดข้าวสาร, พรมน้ำมนต์ บังคับให้วิญญาณกลับมา จากนั้นจึงค่อยลนเอาน้ำมัน

น้ำมันพรายสูตรที่ 3

สูตรนี้ไม่ได้ลนเอาน้ำมันจากศพโดยตรง แต่จะใช้ขี้ผึ้งที่ปิดหน้าศพตายโหง 1 ศพ, น้ำมัน และยาบางชนิดซึ่งเป็นความลับ นำทั้งหมดใส่หม้อตั้งไฟเคี่ยว ซึ่งไฮไลท์ของวิธีการนี้อยู่ที่เรื่องฟืนไฟ เริ่มจากเตาที่ใช้หัวกะโหลกผีตายโหงมาตั้งเป็นเตาสามเส้า, ฟืนทุกท่อนต้องปลุกเสก, สถานที่เป็นทางสามแพร่ง

จากนั้นก็ล้อมสายสิญจน์รอบพื้นที่ทำพิธี, แขวนเครื่องรางไว้ที่ทิศทั้งแปด เพื่อป้องกันวิญญาณอื่นๆ มาวุ่นวาย หมอผีจะถือเทียนชัยนั่งสมาธิ บริกรรมคาถา ถ้าพิธีที่ทำศักดิ์สิทธิ์จริง วิญญาณต่างๆ จะปรากฏในรูปลักษณ์ต่างๆ ลอยอยู่เหนือหัวกะโหลก ก็ถือว่าน้ำมันใช้ได้

แต่การทำน้ำมันพรายวิธีนี้ น้ำมันที่ได้จะไม่ขลังเท่า 2 วิธีแรก

การเก็บรักษาดูแล น้ำมันพราย

น้ำมันที่ได้มาไม่ต้องทำอะไรอีก เพียงเอาเก็บใส่ขวดผนึกให้แน่นด้วยผ้ายันต์ ใส่ลงในหม้อดินใหม่ๆ อีกชั้น แล้วปิดหม้อด้วยผ้ายันต์อีกที หาที่ตั้งให้สูงเหนือศีรษะ หมอต้องเอาอาหารสังเวยวันละ 2 ครั้ง เพราะวิญญาณในน้ำมันพรายก็หิวเหมือนมนุษย์ ถ้าปล่อยให้มันหิวโหยก็จะเข้าสิงร่างคนในบ้านกินตับไตจนหมด จึงมีสุภาษิตว่า “หมอผีตายเพราะผี หมองูตายเพราะงู”

การใช้น้ำมันพราย

น้ำมันพรายมีอิทธิฤทธิ์มาก และไม่ได้ใช้เพื่อ “ให้รักให้หลง” เท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อทำร้ายฝ่ายตรงข้ามให้เจ็บป่วยอีกด้วย โดยการใช้น้ำมันพรายก็มีหลายวิธีตั้งแต่ทา, ดีดใส่ตัว, แอบปนผสมในน้ำหรืออาหารให้ดื่มกิน ตามแต่เหตุการณ์และความสะดวก โดยต้องว่าคาถากำกับต่างกันตามเรื่องที่หวังผล

ทว่าน้ำมันพรายก็มีผลข้างเคียงที่อันตราย บาดเจ็บ และถึงตายได้ แม้จะทำไปเพื่อให้อีกฝ่ายมารักตนเองก็ตาม เพราะผู้ที่ถูกน้ำมันพรายจะเจ็บป่วย เสียแขนขา และเสียชีวิตในที่สุด

ถึงตรงนี้ถ้าใครต้องการทำ น้ำมันพรายโฮมเมด ก็ไปค้นคว้าเพิ่ม เรื่องคาถาที่ใช้และยาบางชนิดที่ใช้ทำน้ำมันพรายสูตรที่ 3 ด้วยพระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมารไม่ได้กล่าวถึง คงเป็นความลับของหมอผีแต่ละคนที่ไม่เปิดเผยกับคนนอกสำนัก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2566