“ดาร์จีลิง” เมืองแห่งเทือกเขาหิมาลัย ต้นกำเนิด “ชาดาร์จีลิง” ชาดังอันดับต้นของโลก

ชาวอังกฤษ ใน ดาร์จีลิง ทำ ชาดาร์จีลิง
ชาวอังกฤษกับไร่ชาในดาร์จีลิง (ภาพจาก https://darjeelingheritage.com/role-of-the-british-in-the-darjeeling-hills/)

ดาร์จีลิง (Darjeeling) เป็นเมืองในรัฐเบงกอลตะวันตก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เหมือนอยู่ในอ้อมกอดของเทือกเขาหิมาลัย ดาร์จีลิงจึงเป็นสถานที่ในฝันของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และสำหรับนักดื่มชาแล้ว มากไปกว่าทิวทัศน์อันงดงาม ที่นี่คือแหล่งกำเนิด “ชาดาร์จีลิง” ชาที่ขึ้นว่ามีคุณภาพอันดับต้นๆ ของโลก

สถานพักฟื้นผู้ป่วย ยุคอังกฤษรุกคืบ

ช่วงที่อังกฤษออกไล่ล่าอาณานิคม มี บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company-EIC) เป็นหัวหอกทำการค้ากับชาติต่างๆ ควบคู่กับการมองหาลู่ทางรุกคืบเข้ายึดครอง “อินเดีย” ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ในศตวรรษที่ 18 ดาร์จีลิงอยู่ในเขตปกครองของกษัตริย์แห่งสิกขิม แต่เมื่อพวกกูรข่าเข้ายึดครองเนปาลใน ค.ศ. 1768 ได้ผนวกพื้นที่ส่วนใหญ่ของดาร์จีลิงเข้าไป ทำให้มีชายแดนยาวติดกับดินแดนของอังกฤษ

เรื่องนี้ทำให้อังกฤษไม่พอใจ นำสู่สงคราม “แองโกล-เนปาล” (กูรข่า) ระหว่างกองทัพกูรข่ากับกองกำลังของ EIC เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องการขยายอำนาจไปยังเทือกเขาทางเหนือของอินเดีย รบกันตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 1814 ถึงเดือนมีนาคม ปี 1816 ท้ายสุดอังกฤษเป็นฝ่ายชนะ

หนึ่งในข้อตกลง คือ กูรข่าต้องยกที่ดิน 4,000 ตารางไมล์ (กว่า 10,300 ตารางกิโลเมตร) ของสิกขิม ที่ถูกผนวกเข้าไปก่อนหน้าให้อังกฤษ จุดประสงค์ก็เพื่อให้เป็น “ดินแดนกันชน” ระหว่างอังกฤษกับกูรข่า จากนั้นอังกฤษก็คืนพื้นที่ดังกล่าวให้กษัตริย์แห่งสิกขิม

ดาร์จีลิง
ทิวทัศน์อันสวยงามของดาร์จีลิง (ภาพจาก Rabhimbh Bardhan via unsplash.com)

ปี 1828 ร้อยเอก ลอยด์ (Captain Lloyd) ไปเยือนดาร์จีลิง เขาประทับใจภูมิประเทศอันงดงาม และสภาพอากาศดี เพราะอยู่เหนือระดับน้ำทะเลถึงเกือบ 7,000 ฟุต จึงเกิดความคิดสร้าง “สถานพักฟื้นสำหรับผู้ป่วย” สำหรับชาวอังกฤษขึ้นที่นี่ จากนั้นก็ทำรายงานส่งไปยัง EIC ซึ่งอนุญาตให้เขาเดินหน้าเจรจากับกษัตริย์แห่งสิกขิม

ผ่านไปหลายปี ในที่สุดปี 1835 กษัตริย์แห่งสิกขิมก็ได้พระราชทานที่ดินแถบหนึ่งในเขตเทือกเขาดาร์จีลิง และเมืองเล็กๆ ที่ถูกทิ้งร้าง ให้ EIC ดำเนินการสร้างสถานพักฟื้นผู้ป่วย โดยแลกกับเงินช่วยเหลือรายปี ที่กษัตริย์แห่งสิกขิมจะได้รับ

จากนั้น ปี 1839 ดร. แคมป์เบลล์ (Dr. Campbell) แห่งหน่วยบริการทางการแพทย์อินเดีย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลเขตนี้ เขาก่อตั้งสถานพักฟื้น ที่เหมาะกับการดูแลทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ให้เจ้าหน้าที่และทหารของ EIC เข้ามาใช้บริการ นอกจากนี้ ยังพัฒนาถนนหนทาง ที่อยู่อาศัย ทำให้ “ดาร์จีลิง” กลายเป็นเมืองที่ดึงดูดผู้คนนับพันจากพื้นที่ใกล้เคียงให้เข้ามาทำงานและตั้งรกราก

ดร. แคมป์เบลล์ สนใจเรื่องพฤกษศาสตร์เป็นทุนเดิม เมื่อมาอยู่ดาร์จีลิงก็ทดลองปลูกพืชสายพันธุ์ต่างๆ จนในปี 1841 เขาได้รับเมล็ดพันธุ์ชาจีนมาจากต้นชาของ ซี. เจ. กอร์ดอน (C. J. Gordon) ชาวอังกฤษ หนึ่งในคณะกรรมาธิการดูแลเรื่องชาในอินเดีย (อังกฤษสนใจปลูกชาและทำไร่ชาในอินเดีย มีการตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ในปี 1834 และศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกชาที่อัสสัม) ปรากฏว่า ต้นชาเจริญเติบโตได้ดี ทำให้ในปี 1847 EIC สร้างโรงเพาะชำต้นชาให้ชาวอังกฤษ ซึ่งเริ่มเข้ามาทำไร่ชา

จุดนี้เอง ที่ถือเป็นกำเนิด “ชาดาร์จีลิง” ที่สร้างความประทับใจให้คอชาทั่วโลก

ชาดาร์จีลิงที่เก็บในแต่ละฤดูให้รสชาติที่แตกต่างกันไป (ภาพจาก ANAND LEPCHA via Pixabay.com)

ชาดาร์จีลิง หนึ่งในยอดชาของโลก

ความรุ่งเรืองด้านการค้าของอังกฤษ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าใช้ทรัพยากรและกำลังคนของแต่ละพื้นที่ไปอย่างมหาศาล ทำให้รัฐบาลสิกขิมเริ่มไม่พอใจ และระเบิดออกมาในรูปการโจมตีหลายครั้งในปี 1849

ดร. แคมป์เบลล์ถูกจับตัวและถูกทำร้าย อังกฤษแก้แค้นด้วยการส่งทหารมาเพิ่ม ฝ่ายสิกขิมที่คิดแล้วว่าคงได้ไม่คุ้มเสีย จึงปล่อยตัว ดร. แคมป์เบลล์ แต่นั่นไม่ทำให้อังกฤษหยุดโต้ตอบ เพราะผลลัพธ์คือการตัดเงินช่วยเหลือรายปีของกษัตริย์แห่งสิกขิม และผนวกพื้นที่ 640 ตารางไมล์ (กว่า 1,650 ตารางกิโลเมตร) ซึ่งอยู่ติดกับดาร์จีลิง เข้าเป็นส่วนหนึ่งภายใต้การอารักขาของอังกฤษ

ราวสิบปีต่อมา สิกขิมรุกรานดินแดนในอารักขาของอังกฤษอีกครั้ง ผลจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของสิกขิมเช่นเดิม ด้วยสถานการณ์หลังจากนั้นที่มีการโจมตีและลักพาตัวเป็นระยะ ทำให้อังกฤษต้องเพิ่มกองกำลังในสิกขิมมากขึ้น กระทั่งปี 1865 อังกฤษบังคับให้สิกขิมผนวกดินแดนเข้ากับดาร์จีลิงของอังกฤษเพิ่มอีก
จากสถานพักฟื้นเล็กๆ ในดินแดนอันเงียบสงบ งดงาม

มาตอนนี้ “ดาร์จีลิง” กลายเป็นเขตปกครองของอังกฤษ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 1,164 ตารางไมล์ (กว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร)

แม้จะเกิดการปะทะกันเรื่อยๆ แต่อังกฤษก็ยังเดินหน้า “ชาดาร์จีลิง” พื้นที่ปลูกชาเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีชาวเนปาลจำนวนมากเป็นแรงงานในไร่ชา

ปี 1866 ดาร์จีลิงมีไร่ชา 39 แห่ง รวมพื้นที่ 10,000 เอเคอร์ (กว่า 40 ตารางกิโลเมตร) พอถึงปี 1874 จำนวนไร่ชาทะยานเป็น 113 แห่ง รวมพื้นที่กว่า 18,000 เอเคอร์ (ราว 73 ตารางกิโลเมตร)

ชาดาร์จีลิง
ชาดาร์จีลิง (ภาพจาก Vyacheslav Argenberg / http://www.vascoplanet.com via Wikimedia Commons)

ชาแต่ละแหล่งปลูกจะมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศและภูมิอากาศ ปริมาณฝนในดาร์จีลิงมีความต่างกันค่อนข้างมาก เพราะอยู่ระหว่าง 70-150 นิ้วต่อปี บริเวณเชิงเขามีอุณหภูมิแบบเขตร้อน ส่วนอุณหภูมิที่ระดับความสูงเกือบ 7,000 ฟุตสามารถลดลงถึงจุดเยือกแข็งได้ในยามกลางคืน ทำให้ต้นชาที่ปลูกในพื้นที่สูงให้ผลผลิตน้อย และเติบโตช้ากว่าต้นชาที่ปลูกเชิงเขา แต่กลับเป็นชาที่มีรสชาติดี และขายได้ราคาดีกว่า

ฤดูเก็บชาดาร์จีลิง เริ่มต้นปลายเดือนมีนาคมไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน การเด็ดใบชาต้องเลือกเด็ดเฉพาะหน่อที่แตกใหม่ และใบอ่อนแค่ 2 ใบ ซึ่งอยู่บนยอด ชาที่ผลิตในฤดูฝนได้มาจากหน่ออ่อนที่โตเร็ว แต่คุณภาพอาจไม่ถึงขั้นดีเลิศ ส่วนชาคุณภาพเยี่ยม มีรสชาติละมุนละไม และราคาแพงสุด ได้จากใบชาที่เด็ดตอนต้นฤดูก่อนเข้าหน้ามรสุม

นักดื่มชามักรอคอย “ชาดาร์จีลิง” ที่แตกหน่อครั้งแรก แต่ชาซึ่งถูกเด็ดในรอบสอง ถือเป็นชาที่มีคุณภาพดีสุด นอกจากนี้ ยังมีชาอีกชนิดคือ “ชาดาร์จีลิงแห่งฤดูใบไม้ร่วง” เก็บเกี่ยวช่วงปลายฤดูในช่วงที่ต้นชาเติบโตช้า ทำให้ชามีรสชาติดีเป็นพิเศษ

ผลผลิต “ชาดาร์จีลิง” มีน้อยกว่า “ชาอัสสัม” แหล่งปลูกและผลิตชาขึ้นชื่ออีกแห่งของอินเดีย ดังนั้นไร่ชาในดาร์จีลิง จึงให้ความสำคัญกับคุณภาพชาเป็นอย่างมาก เพราะหากไร้ซึ่งคุณภาพเสียแล้ว การทำไร่ชาก็แทบไม่มีความหมาย และนี่เองคือเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้ชาดาร์จีลิงครองใจนักดื่มชามาตลอดระยะเวลากว่าศตวรรษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

รอย ม็อกซัม, เขียน. วิลาสินี เดอเบส, แปล. A Brief History of Tea ประวัติศาสตร์โลกในถ้วยชา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2567