บะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งโมกุล ถูกฝังลืมไร้นาม ที่สุสานเมืองร่างกุ้ง

บะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้าย แห่ง จักรวรรดิโมกุล
บะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิโมกุล

บะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 (Bahadur Shah Zafar II) คือจักรพรรดิองค์ที่ 20 และเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่ง “จักรวรรดิโมกุล” ที่ปกครองอินเดียกว่า 300 ปี ชะตากรรมของพระองค์นั้นช่างพลิกผันจากจักรพรรดิแห่งดินแดนอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ ท้ายสุดพระองค์และอัครมเหสีต้องถูกเนรเทศไปยังเมืองร่างกุ้ง (ย่างกุ้ง) ประเทศพม่า ในฐานะ “นักโทษแห่งรัฐ” และสวรรคตอย่างไร้นาม พระศพถูกนำไปฝังไว้ที่ด้านหลังกำแพงปิดล้อมคุก

เรื่องราวของ บะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 เลือนรางไปตามกาลเวลา กระทั่ง วิลเลียม ดัลริมเพิล (William Dalrymple) นักเขียนชาวสกอตแลนด์ ที่ไปใช้ชีวิตที่อินเดียถึงราว 20 ปี ศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารกว่า 20,000 ชิ้น ค่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราว กระทั่งนำพาจักรพรรดิบะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 กลับมาโลดแล่นอยู่ในความรับรู้ของผู้คนอีกครั้ง ผ่านผลงานเรื่อง The Last Mughal: The Fall of Delhi, 1857 แปลเป็นภาษาไทยโดยนักแปลฝีมือฉกาจอย่าง สุภัตรา ภูมิประภาส ในชื่อ “The Last Mughal เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง” (สำนักพิมพ์มติชน)

จุดกำเนิด จักรวรรดิโมกุล

จักรวรรดิโมกุล มีที่มาสืบย้อนไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ดังที่ดัลริมเพิลเล่าว่า ติมูร์ (Timur) ขุนศึกจากชนเผ่ากลุ่มย่อยของมองโกล เป็นผู้พิชิตดินแดนส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง แล้วก่อตั้งจักรวรรดิติมูร์ราวปี 1370 เมื่อล่วงถึงปี 1467 จักรวรรดิติมูร์เริ่มสูญเสียดินแดนไปทีละน้อย แต่ยังปกครองรัฐเล็กๆ หลายแห่งในเอเชียกลางและบางส่วนของอินเดีย

บาบูร์ (Babur) หรือชื่อเต็มว่า ซาฮีร์รุดดีน มูฮัมหมัด (Zahīr ud-Dīn Muhammad) เกิดในปี 1483 ในพื้นที่ที่ปัจจุบันคืออุซเบกิสถาน บาบูร์ขึ้นสืบอำนาจปกครองเมืองเฟอร์กานาต่อจากบิดาในปี 1497 แต่เมื่อเสียเมืองให้กับศัตรู บาบูร์จึงนำทัพมายังคาบูล (เมืองหลวงของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน) และยึดคาบูลได้ในปี 1504 นับเป็นผู้สืบเชื้อสายคนสุดท้ายของราชวงศ์ติมูร์ที่ปกครองเขตแดนนี้ แต่เมื่อไม่สามารถยึดเอเชียกลางทั้งหมดได้ บาบูร์จึงมุ่งสู่อินเดีย

ปลายทศวรรษ 1510 บาบูร์ทำสงครามเพื่อยึดครองหุบเขาทางตอนเหนือของแม่น้ำสินธุ (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) จากนั้นมุ่งตะวันออกไกล ออกไปยังอาณาจักรสุลต่านเดลี ที่ยึดครองพื้นที่อินเดียเหนือส่วนใหญ่ไว้

ปี 1524 บาบูร์เดินทัพสู่เมืองลาฮอร์ ภายใต้เขตปกครองของสุลต่านแห่งเดลี กองทัพบาบูร์มีชัยเหนือกองทัพสุลต่าน และเผาเมืองลาฮอร์ราบคาบ จากนั้นอีก 2 ปี บาบูร์รบชนะในสงครามที่เมืองปานิบัต เข้ายึดเมืองอักราและเดลี ก่อนสถาปนาจักรวรรดิโมกุล และขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์โมกุล ก่อนสวรรคตในปี 1530

ราชวงศ์โมกุลมีที่มั่นอยู่ที่เมืองอักราได้ประมาณ 1 ศตวรรษ พอถึงปี 1638 ชาห์ จาฮาน (Shah Jahān) จักรพรรดิโมกุลองค์ที่ 5 ย้ายราชธานีจากอักรามายังเดลี สร้างเมืองชาห์จาฮานาบาด (ปัจจุบันคือเขตเมืองเก่าโอลด์เดลี) บนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา และสร้างพระราชวังป้อมแดงเป็นที่ประทับของจักรวรรดิโมกุลสืบแต่นั้นมา ตราบจนสิ้นราชวงศ์ในสมัยจักรพรรดิโมกุลองค์ที่ 20 บะห์ดู ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 ในปี 1857

บะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้ายของโมกุล

อวสาน “จักรวรรดิโมกุล” เกี่ยวพันกับจักรวรรดิอังกฤษอย่างแยกไม่ออก ซึ่งเรื่องนี้ต้องย้อนไปในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อ บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (British East India Company-EIC) ได้รับใบอนุญาตกรรมสิทธิ์ทำการค้าในตะวันออกตั้งแต่ปี 1599 จากราชสำนักและรัฐสภาอังกฤษ

ในอินเดีย EIC ได้รับสิทธิทำการค้า สามารถผลิตเหรียญกษาปณ์เอง และได้รับสิทธิให้มีกองทัพของตัวเอง มีลูกจ้างฝ่ายพลเรือนในการบริหารจัดการการค้า และมีทหารรับจ้างชาวพื้นเมือง รู้จักกันในชื่อ “ทหารซีปอย” เป็นชาวมุสลิมและฮินดูที่เคร่งครัดในศาสนา

EIC ทำการค้าในอินเดียเรื่อยมาจนถึงปี 1765 ในรัชสมัย ชาห์ อาลัม ที่ 2 (Shah Alam II) จักรพรรดิองค์ที่ 17 บริษัทก็ได้รับมอบอำนาจจากจักรพรรดิให้เป็นผู้แทนเก็บภาษีในเบงกอล ซึ่งบริษัทก็ถวายเงินแก่ราชสำนักเป็นการตอบแทนผลประโยชน์ และยังรับรองสถานะการเป็นข้าราชบริพารของจักรพรรดิชาห์ อาลัม ที่ 2 บนเหรียญกษาปณ์และตราประทับของ EIC โดยสลักข้อความ “ฟิดวี ชาห์ อาลัม” (ข้ารับใช้ที่ภักดีของชาห์อาลัม) แต่ต่อมาข้อความนี้ถูกลบออกในปี 1833

ควบคู่กับการทำการค้าใน “อนุทวีป” จักรวรรดิอังกฤษก็ค่อยๆ แผ่ขยายอำนาจในดินแดนนี้มากขึ้น มีปัจจัยหนุนเป็นความแตกร้าวภายในอินเดีย ที่ดินแดนต่างๆ แข็งข้อไม่ยอมรับอำนาจจากส่วนกลาง

บะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 ประสูติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ปี 1775 ที่เดลี เป็นโอรสองค์ที่ 2 ของ อักบัร ชาห์ ที่ 2 (Akbar Shāh II) ทรงเป็นกวี นักดนตรี นักเขียนอักษรวิจิตร โดยสรุปคือทรงมีความเป็นศิลปินมากกว่าการเป็นผู้ปกครอง

“พระองค์ทรงเป็นผู้คิดค้นอักษรวิจิตร เป็นซูฟี เป็นนักเทววิทยา เป็นอุปภัมภกจุลจิตรกรรม เป็นผู้รังสรรค์อุทยานต่างๆ และเป็นกวีร่ายศรัทธาแห่งศาสนาผู้เคร่งครัดยิ่ง แต่ถึงทศวรรษ 1850 พระองค์แทบไม่มีอำนาจแท้จริงเลยในแต่ละวัน นอกเหนือไปจากพลังลึกลับรายรอบที่ยังคงติดอยู่กับราชวงศ์โมกุล และเป็น ‘ตัวขุน’ บนกระดานหมากรุกในหลายด้าน

แม้ว่าพระองค์ทรงหวาดหวั่นแต่เริ่มแรกเมื่อพวกซีปอยซึ่งหยาบคายและเข้าตาจนพรวดพราดเข้ามาในพระราชวังของพระองค์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ปี 1857 แต่ท้ายที่สุด ซาฟาร์ทรงตกลงพระทัยประทานพรให้กับการกบฏนี้ ด้วยทรงเห็นว่าเป็นหนทางเดียวที่จะรักษาราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ไว้ไม่ให้สูญสิ้น และนั่นเป็นการตัดสินพระทัยที่ทำให้พระองค์ทรงพบกับความปวดร้าวในเวลาต่อมา” สุภัตราแปลไว้ในหนังสือ

เค้าลางการล่มสลายของจักรวรรดิโมกุลเริ่มปรากฏชัดในปี 1856 เมื่ออังกฤษยึดครองราชอาณาจักรอวัธ กระทั่งปี 1857 สถานการณ์ก็ปะทุรุนแรง เมื่อเกิด “กบฏอินเดีย” ทหารซีปอยลุกฮือขึ้นต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษ จนถูกตอบโต้กลับอย่างเหี้ยมโหด และเหตุการณ์กบฏอินเดียนี่เองที่เป็นชนวนสุดท้าย ทำให้อังกฤษหาเหตุยึดครองอินเดีย นำสู่การก่อตั้ง “บริติชราช” (British Raj) เพื่อปกครองอินเดียโดยตรง

จักรพรรดิบะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 ซึ่งในปี 1857 ทรงมีพระชนมายุ 82 พรรษา พร้อมด้วยอัครมเหสีคือ พระนางซัยนัต มาฮาล (Zinat Mahal) อายุ 36 ปี ถูกเนรเทศไปอยู่ร่างกุ้ง ในพม่า ในฐานะ “นักโทษแห่งรัฐ” ทั้งสองพร้อมด้วยสมาชิกครอบครัวไม่กี่พระองค์ เดินทางไปถึงร่างกุ้งในวันที่ 8 ธันวาคม โดยมีนายทหารชาวอังกฤษเป็นผู้ดูแล ปราศจากทรัพย์สินมีค่าใดๆ ที่จะบ่งถึงสถานะอันสูงส่งแต่เดิม

ทั้งหมดพำนักอยู่ที่พักแคบๆ เก่าๆ ได้สักระยะ ก็ย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ สภาพเหมือนบ้านไม้ทั่วไปที่พบเห็นได้ในพม่า ตามที่ผู้คุมบรรยายว่า

“ที่พักแห่งนี้มีสี่ห้อง แต่ละห้องขนาดสิบหกตารางฟุต ห้องหนึ่งสำหรับอดีตกษัตริย์ อีกห้องสำหรับจาวาน บัคต์และเบฆัมวัยเยาว์ของเขา ห้องที่สามจัดให้เบฆัม ซัยนัต มาฮาล แต่ละห้องเหล่านี้มีบริเวณสำหรับอาบน้ำอยู่ติดกัน ซาห์ อับบาส กับมารดาของเขาครอบครองอีกห้องที่เหลืออยู่

ผู้ติดตามทั้งหมดอยู่กันตามระเบียงหรือพักอยู่ใต้ถุนบ้าน ซึ่งถมทับด้วยเศษอิฐเพื่อช่วยให้พื้นแห้งตลอดเวลา ร่องระบายน้ำเสียรอบบ้านเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นเปียกแฉะ มีห้องน้ำสองห้องและบริเวณพื้นที่ใช้งานสองส่วน สำหรับการใช้งานของคนรับใช้และใช้ในการประกอบอาหารด้วย

ระเบียงบ้านชั้นบนรายล้อมด้วยลูกไก่ที่ผูกไว้ ที่นี่อดีตกษัตริย์ชราผู้มีร่างกายอ่อนแอกับลูกชายสองคนของเขานั่งอยู่ด้วยกันเป็นประจำ และเพราะพื้นบ้านชั้นบนถูกยกสูงใกล้กับระดับรั้วไม้ล้อมรอบบ้าน พวกเขาจึงเพลิดเพลินกับการรับลมทะเลที่พัดแผ่วมา และยังมองเห็นทิวทัศน์งดงามกว้างไกลออกไป การเฝ้าดูผู้คนผ่านไปมาและเพ่งมองเรือสินค้า ช่วยบรรเทาความเบื่อหน่ายของชีวิตที่ถูกจองจำของพวกเขาได้ระดับหนึ่ง และทำให้พวกเขาคุ้นชินและยอมรับกับสภาพที่พักปัจจุบันของพวกเขาได้อยู่บ้าง”

ปลายเดือนตุลาคม ปี 1862 สุขภาพของอดีตจักรพรรดิบะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 เริ่มทรุดลงเรื่อยๆ จวบจนสวรรคตในเวลาตี 5 วันที่ 7 พฤศจิกายน 1862 ขณะพระชนมายุ 87 พรรษา

พระศพของบะห์ดูร์ ชาห์ ซาฟาร์ ที่ 2 ถูกฝังในเวลา 4 โมงเย็นของวันเดียวกัน ในหลุมศพอิฐปิดทับด้วยแผ่นหญ้าคลุมดินระดับเสมอพื้น

“รั้วไม้ไผ่ล้อมรอบหลุมศพในระยะค่อนข้างห่าง… และเมื่อรั้วผุพัง หญ้าจะขึ้นปกคลุมบริเวณนั้นอย่างถ้วนทั่ว และจะไม่มีร่องรอยใดหลงเหลืออยู่ให้รู้ว่าโมกุลคนสุดท้ายแหางราชวงศ์โมกุลอันยิ่งใหญ่ทอดร่างอยู่ตรงไหน” คือบันทึกของผู้คุมถึงวาระสุดท้ายของอดีตจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

The Last Mughal เมื่อบัลลังก์ล่ม เดลีร้าง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567