ผู้เขียน | อดิเทพ พันธ์ทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
กระสุนชโลม “น้ำมันหมู-น้ำมันวัว” หนึ่งในต้นเหตุ “กบฏอินเดีย” ที่ ทหารซีปอย ลุกฮือขึ้นต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษ
ย้อนเวลากลับไปในศตวรรษที่ 19 ที่ประเทศอินเดีย ที่ขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กระสุนที่แปดเปื้อนด้วย น้ำมันหมู และ น้ำมันวัว เคยเป็นชนวนให้เกิดการจลาจลมาแล้ว
จุดเริ่มต้นกบฏอินเดีย
เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1857 เมื่อกองทัพอาณานิคมได้นำกระสุนปืนคาบศิลาของ Enfield รุ่นหนึ่งมาใช้ โดยตัวกระสุนถูกชโลมด้วยน้ำมันหมูและน้ำมันวัว ซึ่งนับเป็นการดูหมิ่นทั้งชาวมุสลิมและชาวฮินดูในคราวเดียวกัน เนื่องจากชาวฮินดูถือว่า วัว คือสัตว์ศักดิ์สิทธิ์
กระสุนรุ่นนี้ผู้ใช้จำเป็นต้องใช้ปากกัดปลอกกระสุนที่ทำจากกระดาษ จากนั้นจึงเทดินปืนลงไปในลำกล้อง ซึ่งตัวกระสุนจำเป็นต้องใช้สารหล่อลื่นเพื่อป้องกันการขัดลำกล้อง และสารหล่อลื่นที่จะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์หากเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ย่อมหนีไม่พ้นผลิตภัณฑ์จากสัตว์
ทหารท้องถิ่นหรือที่เรียกว่า “ทหารซีปอย” ที่อังกฤษนำมาฝึกทหารแบบยุโรป พวกเขานับถือศาสนาอิสลามและฮินดู ยึดมั่นในหลักความเชื่อศาสนา ไม่ต้องการกัดปลอกกระสุนรุ่นนี้ และขอให้เปลี่ยนไปใช้วิธีการอื่น ๆ เช่น ใช้น้ำมันเนย หรือ “กี” แทน หรือใช้มือฉีกปลอกกระสุน แต่ก็ถูกกองทัพสั่งห้าม เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมในเชิงปฏิบัติ
เมื่อกองทัพไม่เคารพต่อความเชื่อของพวกเขา ทหารซีปอย บางส่วน จึงปฏิเสธที่จะใช้ปากกัดปลอกกระสุนตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเช่นกัน
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ ทหารซีปอย 90 นาย จากกองพลทหารม้าที่ 3 ในเมืองมีรุต (Meerut) ถูกจำคุก สร้างความไม่พอใจให้กับเพื่อนทหาร จึงพากันใช้กำลังสังหารเจ้าหน้าที่อังกฤษ เพื่อช่วยเหลือนายทหารที่ถูกจำคุก ในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1857 ก่อนยกกองทัพบุกยึดนครเดลี กลายเป็นชนวนให้พื้นที่อื่น ๆ เอาเป็นเยี่ยงอย่าง (ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจัยที่ทำให้ชาวอินเดียลุกฮือขึ้นขนาดนี้ ย่อมมีเรื่องความไม่เป็นธรรมอื่น ๆ เป็นเชื้อไฟอยู่แล้ว ก่อนที่เหตุการณ์ดูหมิ่นทางความเชื่อครั้งนี้จะกลายเป็นตัวจุดชนวนสำคัญ)
“ฝ่ายกบฏ” ใช้กำลังสังหารผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง แต่สุดท้ายก็ถูกปราบปรามได้ภายในปลาย ค.ศ. 1858 และเหตุการณ์สังหารหมู่ของฝ่ายกบฏได้กลายเป็นข้ออ้างชั้นดีของฝ่ายจักรวรรดินิยมในการเล่นงานฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดร้ายยิ่งกว่า
เหตุดังกล่าวนำไปสู่การก่อตั้ง “บริติชราช” (British Raj) ของอังกฤษ เพื่อเป็นองค์กรปกครองอินเดียโดยตรง แทนที่บริษัทอินเดียตะวันออก ถึงอย่างนั้นอินเดียก็ยังคงมีผู้ลุกขึ้นต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษอยู่เสมอ แต่กว่าพวกเขาจะได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ก็กินเวลาหลังจากเหตุการณ์จลาจลในครั้งนี้เกือบ 100 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- ฉายา “เพชรประดับยอดมงกุฎกษัตริย์อังกฤษ” น้อยไปไหมสำหรับอินเดีย
- “วรรณะ” ของคนรับใช้ชาวอินเดีย สิ่งที่ชาวอังกฤษเจ้าอาณานิคมต้องยอม
อ้างอิง :
“Causes of the Indian Mutiny”. The Telegraph, 8 May 2007. Web. 14 Aug. 2016 <http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/1550946/Causes-of-the-Indian-Mutiny.html>
“Indian Mutiny”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 14 Aug. 2016
<https://www.britannica.com/event/Indian-Mutiny>.
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 16 กรกฎาคม 2564