ฉายา “เพชรประดับยอดมงกุฎกษัตริย์อังกฤษ” น้อยไปไหมสำหรับอินเดีย

เพชรโกอินัวร์ เพชรประดับยอดมงกุฎกษัตริย์อังกฤษ
“เพชรโกอินัวร์” ที่ประดับบนอยู่มงกุฎของราชินีเอลิซาเบธ ได้มาจากอินเดียเมืองครั้งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

อินเดียถูกขนานนามว่าเป็น “เพชรประดับยอดมงกุฎกษัตริย์อังกฤษ” ซึ่งเรามักเข้าใจว่าที่เป็นเช่นนั้น เพราะโคตรเพชรขนาด 105 กะรัต หนึ่งในเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง “เพชรโกอินัวร์” ที่ประดับบนอยู่มงกุฎของราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ได้มาจากอินเดียเมืองครั้งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

แต่นั่นเป็นเพียงบางส่วนซึ่งเป็นส่วนที่เล็กน้อยของของฉายา “เพชรประดับยอดมงกุฎกษัตริย์อังกฤษ”

Advertisement

ส่วนที่สำคัญควรเป็น “ผลประโยชน์” จำนวนมหาศาลที่ได้จากอาณานิคมอย่างอินเดีย ชนิดที่ว่าผลกำไรจากอินเดียเพียงประเทศเดียวสามารถใช้เลี้ยงระบบโครงสร้างอาณานิคมทั่วโลกของอังกฤษได้อย่างสบายๆ

ดังตอนหนึ่งในหนังสือ “ประวัติศาสตร์นอกตำรา สยามรัฐตามทรรศนะโลกตะวันตก” (สนพ.มติชน กุมภาพันธ์ 2560) ที่ ไกรฤกษ์ นานา ค้นคว้าและเรียบเรียงเกี่ยวกับอังกฤษกับอินเดีย มีเนื้อหาส่วนหนึ่งดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

อินเดียมีค่าอย่างไรต่ออังกฤษ?

นายเดนิส จัดด์ (Denis Judd) แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ณ กรุงลอนดอน เขียนบทความ เรื่อง What was India’s value to Britain? ใน History Magazine [ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021] วิจารณ์ข้อโต้แย้งกับข้อมูลในประวัติศาสตร์อังกฤษว่า

“ในปี ค.ศ. 1901 ลอร์ดเคอร์ซอน (ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดีย) เคยกล่าวว่า ตราบใดที่เรายังปกครองอินเดียตราบนั้นเรายังเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ถ้าเราเสียอินเดียไปเราก็จะร่วงหล่นไปเป็นมหาอำนาจอันดับท้ายแถวทีเดียว

ความจริงก็คือประเทศอังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งได้เพราะการเป็นผู้เริ่มต้นในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้สามารถผูกขาดระบบเศรษฐกิจและศูนย์กลางการผลิตสินค้าของชาวโลกทั้งหมด นำมาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวย และเสถียรภาพทางการเมืองอันมั่นคง ส่งเสริมให้สามารถพัฒนาแสนยานุภาพทางทะเลและขยายพื้นที่ด้านอาณานิคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการหาวัตถุดิบ การแสวงหาตลาด และพัฒนาการขนส่ง อันเป็นปัจจัยหลักของการปฏิวัติอุตสาหกรรม

อินเดียกลายเป็นผลพลอยได้และศูนย์กลางของปัจจัยสำคัญนั้น และเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายขยายอำนาจของอังกฤษออกสู่โพ้นทะเล นักสังเกตการณ์มักจะตีค่าอินเดียเป็นความภาคภูมิใจของคนอังกฤษ แทนที่จะแข่งอำนาจกับคู่แข่งอื่นที่มัวแต่ยื้อแย่งกันครองความเป็นใหญ่ในภาคพื้นยุโรปที่ปัจจัยเด่นๆ ร่อยหรอลงเต็มที

แต่คุณค่าของอินเดียกลับเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลแก่อังกฤษ มากกว่าความมีศักดิ์ศรีของชาติมหาอำนาจยุโรปเท่านั้น อินเดียมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอังกฤษที่เพิ่มมูลค่ามากกว่าครึ่งของการค้าขายทางทะเลของอังกฤษทั้งหมด และเป็นกำไรสุทธิของเงินลงทุนในการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ เพียงผลกำไรที่เกิดจากอินเดียอย่างเดียวก็สามารถใช้เลี้ยงระบบโครงสร้างอาณานิคมทั่วโลกของอังกฤษได้อย่างสบาย

เม็ดเงินจำนวนมหาศาลของทุนจากอังกฤษถูกลงทุนในอินเดีย ผลกำไรใหญ่หลวงไม่ได้เป็นแค่ความคาดหวัง แต่ผลิดอกออกผลเป็นรูปธรรมจากโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นในอินเดีย เช่น โครงการรถไฟขนาดยักษ์ และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่การันตีเงินตอบแทนอย่างไม่มีวันขาดทุนแก่นักลงทุนอังกฤษเป็นเวลานับร้อยปี และไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายให้คนอังกฤษเลยจากการดูแลอาณานิคมนอกประเทศแม้แต่น้อย

ยิ่งไปกว่านั้นประชากรอันมหาศาลของอินเดียกลายเป็นกำลังสำคัญอันดับหนึ่งของการขยายอาณานิคมออกไปอีก และเป็นส่วนใหญ่ของขุมกำลังด้านกองทัพของอังกฤษที่ใช้ในการศึกสงคราม หรือใช้ข่มขวัญชาวโลกให้เกรงกลัวก็ล้วนมาจากอินเดีย แทนที่จะเป็นนักรบโดยตรงจากอังกฤษ

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น ทหารหาญชาวอินเดียหลายล้านคนถูกเกณฑ์เข้าไปไว้ในกองทัพของอังกฤษในทวีปยุโรป นอกจากนี้เงินที่ใช้ในการบำรุงกองทัพกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ก็ยังเป็นเงินภาษีจากอินเดียใช้ขับเคลื่อนกองทัพอันเกรียงไกรของอังกฤษ ภายหลังสงครามอังกฤษจึงไม่บอบช้ำมากนัก ต่างกับคู่สงครามชาติอื่นๆ มีอาทิฝรั่งเศสและรัสเซีย ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีในการเยียวยาเพราะเสียหายมากกว่าอังกฤษหลายเท่าตัว

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่อังกฤษจะสูญเสียอินเดียไปไม่ได้ และบ่อยครั้งที่อินเดียถูกขนานนามว่าเป็นเพชรประดับยอดมงกุฎของกษัตริย์อังกฤษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2564