เด็กชา ข้าราชการในอดีต ทำไมใช้เด็ก? แล้วที่เมืองเพชรทำไมเด็กชาเป็นโซ่ง?

เขาวัง พระราชวัง บน ภูเขา เพชรบุรี
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทและหอชัชวาลเวียงชัย (กระโจมแก้ว หรือหอส่องกล้อง) ที่พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี (ภาพจากหนังสือประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์โดย กรมศิลปากร 2548)

เด็กชา หรือที่นิยมเรียกกันอย่างคล้องจองว่า มหาดเล็กเด็กชา เป็นคำเรียกบุคคลที่ทำงานรับใช้เจ้านายในรั้วในวัง มหาดเล็ก และเด็กชา เป็นตำแหน่งที่แยกจากกัน แต่ทำงานอยู่ในกองเดียวกัน คือรับใช้พระมหากษัตริย์และเจ้านายในพระราชวัง

มหาดเล็ก หมายถึง ข้าราชการในราชสำนัก แบ่งเป็นย่อยตามภาระหน้าที่ เช่น ทหารมหาดเล็ก, มหาดเล็กรายงาน, มหาดเล็กหลวง เป็นต้น ส่วน เด็กชา นั้น เป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่ทำงานรับใช้อยู่ในกรมมหาดเล็ก

ภาพถ่าย โซ่ง เด็กชา และมหาดเล็ก ในอดีต
โซ่งเด็กชา (ชุดดำ) ผู้ถวายตัวรับใช้เจ้านาย ในรัชกาลที่ 4 และ 5 (ภาพจากหอสมุดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อการก่อสร้าง พระราชวัง พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี เสร็จเรียบร้อย ก็เป็นที่แปรพระราชฐาน, ทรงงานรับรองพระราชอาคันตุกะ และเป็นที่พักผ่อนส่วนพระองค์ จึงมีลูกหลานชาวเพชรบุรี มารับราชการเป็นมหาดเล็กเด็กชา

รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุตรหลานเจ้าเมืองเก่าและคหบดีที่มีชื่อ มารับราชการเป็นมหาดเล็ก และโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกชาวโซ่งมาเป็นเด็กชา เฉพาะที่เมืองเพชรบุรีนั้นเด็กชาทั้งหมดเป็นโซ่ง เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นความดีความชอบของโซ่งที่มาเป็นแรงงานก่อสร้างพระราชวัง พระนครคีรี ด้วยอุตสาหะ

การคัดเลือกโซ่งมาเป็นเด็กชา มีหลวงไชยภักดี ผู้นำโซ่งบ้านสะพานยี่หนเป็นผู้คัดเลือก และเป็นหัวหน้าเด็กชา เด็กชารับใช้เจ้านายแต่ละพระองค์แบ่งกันทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น หามพระคาน, หามเสลี่ยง, ยามรักษาการณ์, เข้าเวรรักษาวัง, แบกหามสิ่งของ ฯลฯ

เมื่อดูจากลักษณะงาน เด็กชาน่าจะไม่ใช่เด็ก ๆ อย่างน้อยก็ต้องเริ่มเป็นหนุ่มแล้ว โซ่งที่รับราชการเป็นเด็กชา ยังได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินปีเช่นเดียวกับมหาดเล็ก เบี้ยหวัดที่ได้ตั้งแต่ 1-10 ตำลึง และได้รับการยกเว้นการเก็บส่วยภาษี นอกจากนี้ ยังมีการสืบทอดตำแหน่งอีกด้วย เมื่อเด็กชาเสียชีวิต ลูกหลานก็สามารถถวายตัวรับใช้แทน ภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการ มหาดเล็กเด็กชาก็หมดหน้าที่ แต่เด็กชาทุกนายก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเงินปีไปจนสิ้นอายุขัย

สำหรับโซ่งเด็กชา จะสวมเครื่องแต่งกายของเผ่าตน คือ ซ่วง-สวมกางเกงสีดำปลายขาแคบเกือบจดข้อเท้า, ก่อม-เสื้อสีดำแขนกระบอกยาวจดข้อมือ ชายเสื้อยาวคลุมสะโพก เสื้อผ่าอกตลอดติดกระดุมเงินชิดถี่ตั้งแต่ลำคอไปถึงเอว และคาดหลวม-กระเป๋าของโซ่ง แต่ถ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะสวมเสื้อฮี ซึ่งถือเป็นเครื่องแต่งกายชุดใหญ่ สวมได้ทั้งสองด้าน (ด้านหนึ่งสำหรับงานมงคล อีกด้านสำหรับงานอวมงคล)

เด็กชาเมืองเพชรบุรีนั้น บางคนคุ้นคยกับเจ้านายและข้าราชบริพาร บางครั้งเจ้านายเล็ก ๆ ก็ได้ขี่คอเด็กชาเล่นเป็นที่สนุกสนาน รัชกาลที่ 5 ซึ่งตามเสด็จฯ มาพระนครคีรีมาแต่ทรงพระเยาว์ก็ทรงคุ้นเคยกับเด็กชารุ่นเก่า ๆ บางคนที่รับราชการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เรื่อยมา เช่น ตาไหม, หนานแย้ม, สารวัตรนวน, สารวัตรออ ฯลฯ เด็กชาบางคนแม้จะอายุมากแล้ว เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จเมืองเพชรบุรี ก็จะมารับเสด็จ และถวายงาน

รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกถึงความซื่อสัตย์ของโซ่งเด็กชาไว้ในพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 6 วันที่ 17 กันยายน ร.ศ 128 (พ.ศ. 2453) ตอนหนึ่งว่า (อ้างอิงจาก “ขุนนางโซ่ง”) ความว่า “วันนี้ให้พัดเจ้าอธิการริด วัดพลับพลาชัย ซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคยกันมานาน และเป็นผู้นำมหาพันไปให้ แล้วให้ออกมหาดเล็กเด็กชาชาวเมืองนี้ตามเคยแจกเหรียญเงิน พวกมหาดเล็กเด็กชาเหล่านี้อยู่ข้างจะรักษาการงานดีมา ของสิ่งใดที่มีอยู่ไม่ได้แตกหักสูญหายเลยสักสิ่ง เห็นอยู่อย่างไรก็เช่นนั้น ที่สุดจนเครื่องแช่อิ่มฝรั่ง ซึ่งทูลกระหม่อมทรงซื้อไว้ เมื่อคิดจะรับพระปิ่นเกล้า แต่ปีกุนเบญศก จุลศักราช 1225 ก็ยังอยู่จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ หมู่พระที่นั่งได้ซ่อมแซมไว้หมดจดเรียบร้อยดีเหมือนยังใหม่…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ เรียบเรียง, ล้อม เพ็งแก้ว บรรณาธิการ. ขุนนางโซ่ง,  เพชรภูมิการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 3 พฤษภาคม 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 สิงหาคม 2563