เส้นทางพระเครื่องเพชรบุรี เกจิดังผนวกคติถิ่นคนดุ-เมืองนักเลง ถึงไสยเวทย์-พุทธพาณิชย์

พระเครื่องเพชรบุรี พุทธพาณิชย์
ภาพประกอบเนื้อหา - (ซ้าย) เหรียญหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ รุ่นแรก ปี 2503 เนื้อทองแดงรมดำ (ขวา) เหรียญรุ่น 2 หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง อ.ชะอำ รุ่น 2 [ภาพจาก คุณัชย์ เก่าเงิน]

ปฏิเสธได้ยากว่า “พระเครื่อง” เป็นวัตถุที่อยู่คู่กับสังคมและวัฒนธรรมของคนไทยมาอย่างยาวนาน แต่ละพื้นที่ย่อมมีเอกลักษณ์และจุดเด่นของตัวเองทั้งในแง่ความเชื่อ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตในท้องถิ่น อาจกล่าวได้ว่าแหล่งพระเครื่องท้องถิ่นเพชรบุรีคืออีกแหล่งที่ขึ้นชื่อทั้งเรื่องวิทยาคม มีพระเกจิชื่อดังมากมาย และยิ่งผนวกเข้ากับคติ เมืองคนดุ หรือ “ถิ่นนักเลง” ในสมัยก่อนแล้ว ยิ่งกลายมาเป็นภาพลักษณ์เฉพาะตัวสำหรับ “พระเครื่องเพชรบุรี” อันนำมาสู่กระแส “พุทธพาณิชย์” ในเวลาต่อมา

ภาพรวมแง่ความนิยมในตัวพระเครื่องแพร่หลายในสังคมไทยมายาวนาน เพียงแต่มีกระแสบางช่วงที่ทำให้วัตถุมงคลบางอย่างได้รับความนิยมขึ้นมาเป็นพิเศษ อาทิ ช่วง “จตุคามฯ” ดังเป็นพลุแตก แต่หากพูดถึงพัฒนาการของพระเครื่องในเพชรบุรีอันมีจุดเด่นดังที่กล่าวไว้แล้ว อาจต้องย้อนข้อมูลไปทำความเข้าใจกับจุดที่กำเนิดของพระเครื่องกันก่อน

วัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลังในไทย ไม่ได้เริ่มมาจากการห้อยพระเครื่อง ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมสันนิษฐานว่า พระเครื่องเกิดขึ้นหลังจากสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นอย่างช้าเพราะสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เริ่มมีกันแล้ว และไม่มีพระเครื่องในสมัยอยุธยาและก่อนหน้านี้ขึ้นไป

พร้อมอธิบายว่า สมัยก่อนที่จะมีพระเครื่อง คนไทยไม่นิยมเอาพระพุทธรูปเข้าบ้าน เพราะเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นของสูง ขณะที่วิทยานิพนธ์ของ ชนัญญ์ เมฆหมอก เรื่อง “วัฒนธรรมพระเครื่องเมืองเพชร” ระบุว่า เครื่องรางของขลังในยุคแรกก็หลีกเลี่ยงการสร้างเป็นรูปเคารพแทนพระพุทธเจ้าโดยตรง

ยุคแรกเริ่มและความเป็นมาของ “พระเครื่อง”

แรกเริ่มเดิมทีนั้นเริ่มต้นมาจากพระพิมพ์ก่อน (เรียกว่าพระพิมพ์เพราะดูจากเป็นของผลิตมาจากแม่พิมพ์เป็นสําคัญ มักพบรวมอยู่กับแม่พิมพ์) วัตถุประสงค์ในการจัดทำก็ทำขึ้นเพื่อบำเพ็ญกุศลและสืบทอดศาสนาเป็นหลัก มักฝังหรือเก็บไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาเช่นวัด ไม่ได้เก็บไว้เป็นของส่วนตัวในบ้าน

พระพิมพ์ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าพระโคนสมอ (ภาพจาก “พระเครื่องในเมืองสยาม”)

เมื่อเวลาผ่านไป ความหมายเริ่มแปรเปลี่ยนไป โดยผนวกเข้ากับการห้อยเครื่องรางของขลังอันเป็นวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับมนุษย์มาเสมอ

สำหรับคนไทยแล้ว เครื่องรางของขลังอยู่ในรูปลักษณ์อย่าง ตะกรุด ผ้าประเจียด ฯลฯ ศรีศักร วัลลิโภดม มองว่า การนำพระพิมพ์มาเป็นเครื่องรางก็เกิดขึ้นในยุคหลัง เนื่องจากไม่พบหลักฐานทางเอกสารที่กล่าวถึงกรณีนี้ในสมัยอยุธยา

การขยายความหมายของการสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้า ไปจนถึงการสร้างรูปเคารพของพระสงฆ์ในความหมายแบบเดียวกับเครื่องรางของขลังจากการศึกษาหลักฐานโดยนักวิชาการแล้ว เชื่อว่า เพิ่งเริ่มต้นในไทยสมัยรัตนโกสินทร์ และเกิดในศูนย์กลางการปกครอง โดยศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายเบื้องหลังของปรากฏการณ์พระพิมพ์กลายเป็นพระเครื่องไป เพราะการเปลี่ยนแปลงในระบบการทําเครื่องรางของขลัง นั่นก็คือเกิดความนิยมในเรื่อง พระกริ่ง ขึ้น นัยว่ามาจากทางพวกเขมรก่อน เช่นพระกริ่งตั๊กแตน

ชนัญญ์ เมฆหมอก ผู้ทำวิทยานิพนธ์ อธิบายว่า หลักฐานรูปธรรมที่เก่าแก่ที่สุดคือการสร้างพระกริ่งปวเรศฯ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระที่เลื่องลือเรื่องอยู่ยงคงกระพัน

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เทคโนโลยีการผลิตเหรียญและเหรียญที่ระลึกต่าง ๆ ก็เริ่มเข้ามาในไทยและถูกนำมาใช้ผลิตพระเครื่องด้วย วัฒนธรรมการสร้างพระเครื่องก็แพร่กระจายจากเมืองหลวงไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ

ครั้น พ.ศ. 2440 พระพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป เมื่อเสด็จนิวัติพระนครแล้ว ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเหรียญที่ระลึกทรงสมโภชเสด็จกลับจากยุโรปขึ้น ซึ่งเป็นเหรียญจำลองพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร ที่วงการพระเครื่องในปัจจุบันจัดว่าเป็น “เหรียญพระพุทธ” เหรียญแรกของเมืองไทย จากการศึกษาของชนัญญ์ เมฆหมอก เชื่อว่า เหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของวงการก็คงจะได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมพระเครื่องในราชสำนักไทย

เหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 เมื่อมีการสร้างเหรียญปั๊มรูปเหมือนจำลองรูปพระชลโธปมคุณมุนี (พุฒ ปณฺณกเถร) ปฐมเจ้าอาวาสวัดบางทราย จังหวัดชลบุรี (ข้อมูลก่อนหน้านี้เคยนับเหรียญพระพุทธวิริยากร (จิตรฺฉนฺโน) แห่งวัดสัตตนารถปริวัตร จังหวัดราชบุรี ในปีพ.ศ.2458 เป็นเหรียญพระสงฆ์เหรียญแรก แต่เมื่อพบหลักฐานเพิ่มเติมจึงถือกหลักฐานเหรียญพระชลโธปมคุณมุนีเป็นหลัก)

ส่วนเหรียญ “พระธรรม” ถือกันว่าเป็นเหรียญแรกคือ เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีพระมหาสมณุตตมาภิเศก เลื่อนพระอิสสริยยศพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ หรือที่เรียกกันว่า “เหรียญปวเรศ” ในพ.ศ. 2434

วัฒนธรรมเหรียญพระเครื่องเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการสำคัญต่อวัฒนธรรมพระเครื่องของไทย โดยเป็นเหรียญที่สื่อถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากกว่านำรูปเหมือนของพระเกจิอาจารย์มาพิมพ์บนเหรียญ ซึ่งผู้วิจัยเชื่อว่า เป็นผลสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่องการถ่ายภาพบุคคล สมัยก่อนหน้ารัชกาลที่ 5 ชาวไทยไม่ค่อยชอบถ่ายรูป เพราะหวั่นว่าจะถูกใช้ทำร้ายด้วยเวทมนตร์ ขณะที่เหรียญพระเครื่องที่สร้างในยุคแรกก็เป็นพระสงฆ์มอบให้คนทั่วไปเป็นของที่ระลึก และเริ่มผนวกรวมกับพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เข้ากับพระพุทธศาสนามาช่วยสร้างความหมาย ปลุกเสกพระเครื่องให้มีความหมายด้าน “ความขลัง”

ในยุคต่อมา พระเครื่องก็เริ่มเป็นที่นิยม การสะสมพระพุทธรูปและพระเครื่องเริ่มต้นจากชนชั้นสูงก่อน จากนั้นจึงแพร่หลายมาสู่นักสะสม เมื่อมาถึงปลายรัชกาลที่ 5 พระพิมพ์เป็นของสะสมที่ได้รับความนิยมมากขึ้น มีมูลค่ามากขึ้น มีผู้ลักลอบขุดหาสมบัติมากมาย และเริ่มกลายมาเป็นความหมายผนวกเข้ากับแง่ “การค้า” ทั้งบูชาติดตัว สะสม และแลกเปลี่ยนเก็งกำไร

พระเครื่องเมืองเพชร

พระเครื่อง ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงทางความหมาย จนมาถึงพระเครื่องจากพระเกจิดังในท้องถิ่น สำหรับสายพระคณาจารย์เมืองเพชรแล้ว ชนัญญ์ เมฆหมอก แสดงความคิดเห็นเบื้องต้นก่อนว่า

“การสั่งสมวิชาและชื่อเสียงของพระเกจิอาจารย์ในสมัยก่อนได้ก่อให้เกิดการสั่งสมทุนทางวัฒนธรรมอันเป็นฐานเชิงคุณค่าซึ่งมีผลต่อภาพลักษณ์ของพระเครื่องเมืองเพชรในยุคต่อมา จังหวัดเพชรบุรีถือได้ว่ามีพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอยู่หลายท่าน อาทิ หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ และหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง ฯลฯ”

ชื่อเสียงของพระเกจิทำให้เกิดภาพลักษณ์บางอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องพุทธานุภาพ สำหรับเมืองเพชรแล้วยิ่งผูกเข้ากับลักษณะทางท้องถิ่นว่าด้วย “เมืองนักเลง” หรือ “เมืองคนดุ” ไปจนถึง “พระดีที่นักเลงยังต้องเคารพ” ยิ่งกลายเป็นภาพลักษณ์ที่สำคัญของ “พระเครื่องเพชรบุรี”

เมื่อพิจารณาถึงลักษณะ พระเครื่องเพชรบุรี อาจต้องกล่าวถึงสายพระเกจิอาจารย์ โดยผู้วิจัยแบ่งยุคสมัยของพระเกจิอาจารย์เมืองเพชรเป็น 2 ยุค คือ ยุคบูรพาจารย์ (พ.ศ. 2460-2500) เป็นช่วงเวลาสั่งสมความรู้ การคิดค้นวิชาอาคม และแลกเปลี่ยนวิชาทั้งในและนอกพื้นที่

ยุคต่อมาคือ ยุคสืบทอดวิชา (2500-ปัจจุบัน) เป็นยุคที่คุณค่าทางวัฒนธรรมของพระเครื่องดำรงอยู่ในท้องถิ่น ท่ามกลางกระแสพุทธพาณิชย์ที่ถาโถมเข้ามา

ยุคบูรพาจารย์

ชนัญญ์ เมฆหมอก สัมภาษณ์ ลุงฟัก ท่ายาง ผู้เชี่ยวชาญพระเครื่องในเมืองเพชร ได้ความว่า เดิมทีพระเกจิอาจารย์ส่วนใหญ่จะสร้างพวกเครื่องรางของขลัง เพื่อแจกให้ผู้มีจิตศรัทธาสำหรับบูชาติดตัว เป็นของจำพวกตะกรุด ลูกอม ปลัดขิก ซึ่งล้วนแต่เกิดขึ้นเมื่อพระเกจิได้วิชาความรู้มาจากตำราและคัมภีร์เกี่ยวกับพุทธมนต์ขั้นลึกซึ้ง จนสามารถนำบทย่อมาบริกรรมภาวนาจนปลุกเสกวัตถุให้ “ขลัง”

สายพระเกจิที่มีชื่อเสียงมี 7 สำนักวิชา คือ สำนักวัดเขาบันไดอิฐ, สำนักวัดพระนอน, สำนักวัดพระทรง, สำนักวัดสิงห์, สำนักวัดในปากทะเล, สำนักวัดโตนดหลวง และสำนักวัดบรรพตาวาส (เขากระจิว)

แต่ละสำนักมีลักษณะและวัฒนธรรมแตกต่างกัน อาทิ สำนักวัดเขาบันไดอิฐ ซึ่งพระเกจิที่โด่งดังคือ หลวงพ่อแดง หรือพระครูญาณวิลาส ศิษย์วัดเขาบันไดอิฐโดยตรง ผู้วิจัยอธิบายว่า สำนักนี้มีพระสงฆ์ที่มีความเก่งกล้าในทางวิปัสสนาธุระ อาทิ พระอาจารย์แสง และพระอาจารย์เปลี่ยน แม้จะไม่สามารถหาข้อมูลเป็นแหล่งอ้างอิงได้ชัดเจน แต่จากการบอกเล่า ว่ากันว่า ทั้งสองท่านเชี่ยวชาญการวิปัสสนากรรมฐานและมีวิชาอาคมแก่กล้ามาก ชนัญญ์ บรรยายว่า

“ความศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากการปลุกเสกของหลวงพ่อแดงได้ทำให้แม่ทัพและเจ้านายได้เข้ามาขอจัดสร้างพระเครื่องของหลวงพ่อแดงหลากหลายรุ่น โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรก ในปี 2503

ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์แก่ท่านที่ “พระครูญาณวิลาส” พร้อมด้วยสัญญาบัตรพัดยศแก่หลวงพ่อแดง ลูกศิษย์ของท่านจึงขอจัดสร้างเหรียญรูปเหมือนท่านเป็นครั้งแรก เมื่อท่านมีชนมายุได้ 82 ปี โดยจัดสร้างเนื้อเงิน 83 เหรียญ และทองแดง 5,000 เหรียญ”

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสอดแทรกอีกประการที่น่าคิดซึ่งทำให้เกิดกระแสนิยมคือผู้วิจัยมองว่า ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการเขียนหนังสือเพื่อปั่นกระแสของเซียนพระด้วย

อีกกรณีคือพระเครื่องของหลวงพ่อที่มีชื่อเสียงเรื่องพุทธานุภาพอย่าง พระเครื่องหลวงพ่อทองสุข ผู้วิจัยอ้างอิงว่า เสียงเล่าลือถึงอภินิหารของท่านทำให้คนเพชรบุรีและจังหวัดอื่นเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก ข้าราชชั้นผู้ใหญ่ในประเทศต้องขอให้ท่านช่วยลงกระหม่อมให้ อาทิ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และพันเอก พระยาศรีสุรสงคราม เดิมทีพระเครื่องของหลวงพ่อทองสุขได้รับความนิยมสูงในเพชรบุรี แต่มาราคาแพงมากหลังปี พ.ศ. 2540

ภาพประกอบเนื้อหา – (ซ้าย) เหรียญหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ รุ่นแรก ปี 2503 เนื้อทองแดงรมดำ (ขวา) เหรียญรุ่น 2 หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง อ.ชะอำ รุ่น 2 [ภาพจาก คุณัชย์ เก่าเงิน]
หรือกรณีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่ผูกโยงเข้ากับลักษณะ “ความเป็นนักเลง” ก็ถูกผูกเข้ากับเรื่องเล่าเบื้องหลังของพระเกจิดังหลายท่าน อย่างเช่น กรณีหลวงพ่อทองสุข อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดโตนดหลวง ซึ่งประวัติของท่านเล่าว่า เมื่อท่านอายุ 15 ปี ครอบครัวของท่านย้ายที่พำนักอาศัยไปอยู่ที่บ้านเพลง กิ่งอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ในช่วงนี้ท่านชอบเที่ยวเตร่ จนคบกับพวกนักเลงอันธพาล จึงกลายเป็นนักเลงและอาชญากรคนสำคัญในละแวกจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และสมุทรสงคราม

ท่านคอยหลบซ่อนตัวหนีเจ้าหน้าที่อยู่ในป่า และต้องอยู่ในสภาพอดอยาก ต้องตัดสินใจบวชในวัย 32 ปี กลายเป็นโจรกลับใจเป็นคนดี และเป็นพระนักพัฒนา อีกทั้งยังขึ้นชื่อเรื่องยาแผนโบราณ จากคำเล่าลือคือมียาแผนโบราณรักษา “คนบ้า” ให้หายขาดได้ ผู้วิจัยอธิบายว่า มียาต้ม 1 ยาผงแสงหิรัญ 1 ผู้ที่ปฏิบัติตามได้จะหาย และแน่นอนว่า วิชาทางไสยศาสตร์ก็ขลังเป็นอย่างมาก เรื่องราวเกี่ยวกับอภินิหารที่เล่าลือกันในพื้นที่ทำให้คนในท้องถิ่นและละแวกใกล้เคียงเลื่อมใสท่าน

ภายหลังต่อมา สายวัดโตนดหลวงถือกันว่าเป็นสายที่ใหญ่ที่สุดและยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน ชนัญญ์ บรรยายว่า ในวงการพระเครื่องล้วนยอมรับกันว่าสำนักนี้เข้มขลังเป็นอันดับต้นๆ  บรรดานายทุนมักไล่ตามสายของหลวงพ่อทองสุขเมื่อมีการสร้างพระในจังหวัดเพชรบุรีเสมอ และวัตถุที่สร้างก็มักเป็นที่นิยมอย่างมาก

โดยภาพรวมแล้วเป็นยุคการสร้างพระเครื่องเพื่อสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ อาทิ การสร้างเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม ในปีพ.ศ.2464 เพื่อแจกให้แก่ญาติโยมที่มาร่วมทำบุญสร้างมณฑปของวัดคงคาราม กระแสวัฒนธรรมพระเครื่องในสังคมในยุคเดียวกันนี้ มีการสร้างพระเครื่องในที่ต่างๆซึ่งมีลักษณะเป็นที่ระลึกให้แก่ชาวบ้านที่มาร่วมทำบุญที่วัด เช่น พระของหลวงพ่อเกษม เขมโก จังหวัดลำปาง ในยุคแรก ที่เน้นไปที่การสร้างพระเครื่องเพื่อการทำบุญเป็นหลัก

ยุคสืบทอดวิชา

เมื่อเจ้าอาวาสรุ่นต่อมาของแต่ละวัดเริ่มพัฒนาวัดอย่างจริงจัง หลังจาก พ.ศ. 2500 เป็นต้นมาถือว่าเป็นช่วงของการสร้างพระเครื่องเพื่อหารายได้สมทบทุนสำหรับการสานต่องานของพระเกจิยุคก่อนหน้า ขณะที่การสร้างพระเครื่องในพื้นที่อื่นๆในยุคเดียวกัน ผู้วิจัยพบว่า เป้าหมายของการสร้างพระเครื่องก็ออกมาเป็นแบบเดียวกันคือ หารายได้เข้ามาเพื่อวัดและสาธารณประโยชน์

ในช่วงนี้ทำให้เห็นว่า พระเครื่องได้กลายเป็นแหล่งหารายได้ที่สำคัญมากในสังคมไทย พระเครื่องจึงได้มีความหมายในฐานะสินค้าอย่างหนึ่งในตลาด ที่เมื่อสร้างออกมาจากวัดแล้วก็ได้มีการเช่าหากันโดยทั่วไป

หลังจากนั้นมา เมื่อถึง พ.ศ. 2540 พระเครื่องในเพชรบุรีเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการสร้างมาเป็นทำรายได้ให้กับคนบางกลุ่มจากนอกพื้นที่ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเข้ามาลงทุนเชิงพาณิชย์จากการสร้างพระเครื่องให้กับวัดในพื้นที่ต่างๆ อันถือเป็นช่องทางสร้างตลาดอีกหนึ่งรูปแบบ

ช่วงกระแสวัฒนธรรม “พุทธพาณิชย์”

ชนัญญ์ เมฆหมอก บรรยายว่า จากการศึกษาแล้ว เพชรบุรีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระแส “พุทธพาณิชย์” ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบมาเป็นการสร้างรายได้ให้กลุ่มนายทุน เริ่มใช้เอกลักษณ์เฉพาะตัวของพระเครื่องที่สัมพันธ์กับความเป็นท้องถิ่นของเมืองเพชรในแง่ของการเป็นเมืองคนดุ มีพระเกจิที่โด่งดังเรื่องความขลังในอดีตที่สร้างพระเครื่องแล้วมีประสบการณ์เป็นที่นิยมของคนทั่วไป เกิดการสืบค้นประวัติการเรียนวิชาของพระเกจิยุคปัจจุบันกับพระเกจิยุคก่อนหน้า นำมาสู่การสร้างพระเครื่องโดยนำเอาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาเป็นจุดขายของพระเครื่องจากเมืองเพชร

กล่าวคือ มีกลุ่มนายทุนเข้ามาขอให้วัดสร้างวัตถุมงคลโดยยกเหตุผลเรื่องนำปัจจัยไปพัฒนาวัด และมีเหตุผลอีกประการคือหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งปรากฏการณ์นี้คนในท้องถิ่นมองว่า เป็นการทำพระขาย บางครั้งคนในพื้นที่ถึงกับไม่เห็นด้วยก็มี

ผู้วิจัยบรรยายว่า พระเครื่องยุคใหม่ในเพชรบุรีหลังพ.ศ. 2540 ซึ่งจัดสร้างโดยมีเหตุผลทางธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดการสร้างพระอย่างหลากหลาย พบการแบ่งแยกลักษณะวัสดุ พระที่จัดสร้างด้วยวัสดุที่มีมูลค่าและคุณค่ามาก ทำให้พระเครื่องมีราคาสูงมากขึ้น

ข้อมูลเหล่านี้คือภาพรวมของพัฒนาการพระเครื่องเมืองเพชรผ่านการศึกษาวิจัยโดยคนท้องถิ่นที่คุ้นเคยกับพื้นที่เอง ในโอกาสหน้าจะมานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความคึกคักในวงการพระเครื่องยุคพุทธพาณิชย์ เพิ่มเติมและข้อมูลลงรายละเอียดพระเกจิดังยุคก่อนและยุคใหม่ที่พลอยเป็นที่รู้จักตามกระแสไปด้วย ไปจนถึงพุทธานุภาพ และประสบการณ์อันเป็นที่กล่าวขาน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศรีศักร วัลลิโภดม. พระเครื่องในเมืองสยาม, กรุงเทพฯ : มติชน, 2537.

ชนัญญ์ เมฆหมอก. วัฒนธรรมพระเครื่องเมืองเพชร. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2562