จังหวัดสมุทรปราการ มาจากไหน? ตั้งแต่เมื่อใด?

พระสมุทรเจดีย์ กลางน้ำ สมุทรปราการ
พระสมุทรเจดีย์กลางน้ำ จังหวัดสมุทรปรากร (ภาพจาก https://www.matichon.co.th/)

ชื่อจังหวัด สมุทรปราการ นั้นมีความหมายว่า เมืองหน้าด่านชายทะเล และทำหน้าที่ป้องกันข้าศึกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเมืองมีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน ได้แก่ นครเขื่อนขันธ์, เมืองพระประแดง, เมืองสมุทรปราการ เช่นเดียวกันที่ตั้งของตัวเมือง ซึ่งก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของบ้านเมือง ดังนี้

พ.ศ. 1100-1600 ขอมมีอำนาจครอบครองบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้มีการตั้งเมืองพระประแดง (เก่า) ที่บริเวณเขตพระโขนง หรือเขตราชบูรณะ กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำ ซึ่งเป็นชุมชนขนาดเล็ก

พ.ศ. 1893 เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างนครใหม่สถาปนา “กรุงศรีอยุธยา” ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองหน้าด่าน 4 แห่ง คือ ทิศเหนือ-เมืองลพบุรี ทิศตะวันออก-เมืองนครนายก ทิศตะวันตก-เมืองสุพรรณบุรี และทิศใต้-เมืองพระประแดง

พ.ศ. 2019 เกิดสงครามช้างเผือก ทัพพม่าสามารถยกเข้ามาถึงชานพระนคร สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิเห็นว่า เมืองสุพรรณบุรีแม้จะเป็นเมืองหน้าด่านมีป้อมค่ายหอรบก็ยังรับศึกไม่อยู่ ซ้ำยังเป็นที่ให้พม่าใช้พักไพร่พลและจัดเตรียมเสบียง จึงโปรดฯ ให้รื้อป้อมค่ายและกำแพงเมืองที่เมืองลพบุรี และเมืองนครนายกลง คงเหลือแต่ที่เมืองพระประแดงเท่านั้น

พ.ศ. 2041 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 รับสั่งให้มีการขุดลอก “คลองสำโรง” (อยู่ในพื้นที่อำเภอพระประแดง และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ) ที่ตื้นเขินจนเรือใหญ่เดินทางไม่สะดวก

พ.ศ. 2121 พระยาจีนจันตุ ขุนนางเขมรที่มีโทษด้วยตีเมืองเพชรบุรีไม่สำเร็จ หนีมาพึ่งไทย แต่ภายหลังเมื่อรู้ว่าพระยาละแวกไม่เอาโทษ ก็ลักลอบพาพรรคพวกหนี สมเด็จพระนเรศวรทรงยกกำลังออกติดตาม และทรงพระแสงปืนต้นยิงพระยาจีนจันตุกและพวก แต่เรือสำเภาพอดีได้ลมแล่นออกทะเลใหญ่หนีไปได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดที่ปากน้ำเมืองพระประแดง (ยังไม่มีเมืองสมุทรปราการ) ขณะนั้นเมืองพระประแดงเองก็ยังอยู่ลึกเข้ามาถึงคลองเตย

พ.ศ. 2163 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พวกฮอลันดาเข้ามาทำการค้ากับไทย มีการสร้างที่พักและคลังสินค้าบริเวณปากน้ำ ตำบลบางปลากด เมืองสมุทราปราการ เรียกว่า “นิวอัมสเตอร์ดัม”

พ.ศ. 2205 ธงชาติไทยชักขึ้นครั้งแรกที่เมืองสมุทรปราการ ด้วยเรือกำปั่นเลอร์โวตร์ของฝรั่งเศสเข้ามาทางปากน้ำผ่านป้อมบางกอกและได้ชักธงชาติฝั่งเศสขึ้น ขณะนั้นเมืองไทยยังไม่มีการชักธงและไม่มีธงชาติ จึงเอาธงชาติฮอลันดามาใช้ชักขึ้น แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมคำนับธงชาติฮอลันดา ไทยจึงเอาธงฮอลันดาลงและเอาผ้าแดงชักขึ้นแทน ธงแดงจึงเป็นธงชาติเรื่อยมา ภายหลังมีการเพิ่มรูป “ช้างเผือก” ที่ผืนธง

พ.ศ. 2310 เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมืองสมุทรปราการกลายเป็นเมืองร้าง เนื่องจากทัพพม่าได้บุกเข้าเมืองสมุทรปราการแล้วปล้นสะดมทรัพย์สินกวาดต้อนผู้คนไป

พ.ศ. 2329 องค์เชียงสือ หลานกษัตริย์ญวนหนีมาพึ่งไทย เมื่อเห็นว่าหมดภัยการเมืองในประเทศบ้านเกิดก็ลอบหลบหนีกับบ้านเมืองตนเองไปทางปากน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากองค์เชียงสือมาอยู่เมืองไทยหลายปี รู้จักเมืองไทยอยู่ไม่น้อย รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปสร้างเมืองใหม่เพื่อป้องกันข้าศึกที่จะยกมาทางทะเลอีกแห่งหนึ่งที่บริเวณทางใต้ของคลองลัดโพธิ์ (อำเภอพระประแดง จังหวัดสุมทรปราการในปัจจุบัน) แต่การบูรณะยังไม่แล้วเสร็จก็ทรงสวรรคตเสียก่อน

พ.ศ. 2357 เมืองหน้าด่านที่บริเวณคลองลัดโพธิ์จนแล้วเสร็จ รัชกาลที่ 2 ทรงเห็นว่าเมืองพระประแดงเดิมทรุดโทรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ลงไปเป็นแม่ทัพนายกองลงไปกำกับทำเมืองที่บริเวณปากลัดตัดเอาแขวงกรุงเทพมหานครและแขวงเมืองสมุทรปราการ พระราชทานชื่อเมืองใหม่ว่า “นครเขื่อนขันธ์” และให้ย้ายครัวมอญจากเมืองปทุมธานี มีพวกพระยาเจ่ง ลงไปอยู่ ณ เมืองนครเขื่อนขันธ์

พ.ศ. 2363 รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) คุมกำลังคนมาบูรณะเมืองสมุทรปราการขึ้นใหม่ และสร้างป้อมปราการขึ้นสองฝั่งแม่น้ำให้เป็นเมืองหน้าด่านปากน้ำเจ้าพระยา โดยย้ายเมืองจากเดิมที่บางปลากดมาตั้งที่ตำบลบางเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ (ตำบลปากน้ำ ปัจจุบัน) ใช้เวลา 3 ปี จึงแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2365

ระหว่างก่อสร้างเมือง “สมุทรปราการ” รัชกาลที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเห็นหาดทรายเกิดขึ้นที่ท้ายป้อมผีเสื้อสมุทร จึงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระมหาเจดีย์ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ เมื่อสร้างเมืองสมุทรปราการเรียบร้อย โปรดเกล้าฯให้ถมพื้นที่เกาะพระราชทานนามเจดีย์ไว้ล่วงหน้าว่า “พระสมุทรเจดีย์” แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อนในปี 2367 รัชกาลที่ 3 ทรงดำเนินการสร้างต่อตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 2 จนแล้วเสร็จ

แผนที่เส้นทางรถไฟสายหัวลำโพง-ปากน้ำ (ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าวถูกยกเลิกแล้ว) แผนที่ถูกเขียนในปี พ.ศ. 2480

พ.ศ. 2434 เริ่มการก่อสร้างเส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ เส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศ โดยรัฐบาลอนุมัติให้สัมปทานแก่ชาวต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ (ให้บริการ พ.ศ. 2436-2503)

พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (ร.ศ.112) ต่อมาในวันที่ 13 กรกฎาคม เรือแองกองสตังค์และเรือโคแมต เรือรบฝรั่งเศสแล่นผ่านสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทย ป้อมพระจุลฯ จึงยิงเตือนและเกิดการต่อสู้กันของทั้งสองฝ่ายที่ปากน้ำ

พ.ศ. 2439 ไทยจัดระเบียบการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล จัดเมืองสมุทรปราการ และเมืองพระประแดงให้ขึ้นกับมณฑลกรุงเทพฯ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, ธนบุรี, สมุทรปราการ, นครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) และปทุมธานี

พ.ศ. 2459 รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” เมืองพระประแดง จึงเปลี่ยนเป็น “จังหวัดพระประแดง” ประกอบด้วย 3 อำเภอคือ 1. อำเภอพระประแดง 2. อำเภอพระโขนง 3. อำเภอราษฎร์บูรณะ ส่วนเมืองสมุทรปราการการก็เปลี่ยน “จังหวัดสมุทรปราการ” ประกอบด้วย 4 อำเภอ คือ 1. อำเภอสมุทรปราการ 2. อำเภอบางเหี้ย (ปัจจุบันคืออำเภอบางบ่อ) 3. อำเภอบางพลี 4. อำเภอเกาะสีชัง (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับจังหวัดชลบุรี)

พ.ศ. 2475 ทั่วโลกเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายราชการ จึงมีการยุบจังหวัดต่างๆ รวมถึงการยุบจังหวัดพระประแดงลงไปเป็น “อำเภอพระประแดง” ขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนอำเภอราษฎรบูรณะไปขึ้นกับจังหวัดธนบุรี อำเภอพระโขนงขึ้นกับจังหวัดพระนคร (กรุงเทพฯ)

พ.ศ. 2485 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-2488) มีการยุบจังหวัดสมุทรปราการไปรวมกับจังหวัดพระนคร

พ.ศ. 2489 มีพระราชบัญญัติจัดตั้ง “สมุทรปราการ” ขึ้นเป็นจังหวัดใหม่อีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. “เมืองพระประแดง : จากคลองเตย มานครเขื่อนขันธ์จบที่อําเภอพระประแดง” ใน, ดํารงวิชาการ ฉบับมกราคม-มิถุนายน 2556

สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. เที่ยวปากน้ำ, โรงพิมพ์คุรุสภา, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2533

ดร. โดม ไกรปกรณ์. วิวัฒนาการของเมืองสมุทรปรการ จากเมืองป้อมปราการสู่เมือง “กึ่งสมัยใหม่”ใน, หน้าจั่ว ฉบับที่ 12 : มกราคม-ธันวาคม 2558

ถนอมจิตต์ รื่นเริง. พัฒนาการการท่องเที่ยวในจังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2489-2549, สารนิพนธ์ หลักสูตรปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, เมษายน 2550.

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์แลภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรปราการ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2565