ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2553 |
---|---|
ผู้เขียน | รศ.ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน |
เผยแพร่ |
เฟื้อ หริพิทักษ์ หรือ เฟื้อ ทองอยู่ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำ พ.ศ. 2528 เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2453 ในเรือแพที่ลอยเทียบฝั่งอยู่ตรงข้ามพระอุโบสถ วัดราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี บิดาชื่อ นายเปล่ง มารดาชื่อ นางเก็บ ทองอยู่ บิดาซึ่งรับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กกรมช่างกับพระยาอนุศาสน์จิตรกรเสียชีวิตลงประมาณ 6 เดือนก่อนที่เฟื้อจะลืมตาดูโลก ส่วนมารดาถึงแก่กรรมเมื่อเฟื้ออายุได้เพียง 7 ขวบเท่านั้น
ดังนั้น เฟื้อจึงตกอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของคุณยายทับทิม ซึ่งมีนิวาสสถานอยู่บริเวณหลังวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ความทรงจำอันแจ่มชัดเกี่ยวกับมารดาที่ประทับแน่นในดวงใจของเฟื้อไม่รู้ลืม ถูกถ่ายทอดผ่านตัวอักษรของเฟื้อ ที่บันทึกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2519 ดังนี้
เวลานั้น แม่เจ็บหนัก ข้าอยู่กับแม่สองคน แม่ถามข้าว่า หนูรักแม่ไหมจ๊ะ ข้าบอกแม่ว่า “รักจ๊ะ” จำได้ว่า แม่ยิ้มอย่างเป็นสุข (คิดถึงอาจารย์เฟื้อ. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเฟื้อ หริพิทักษ์ ท.ม. ศิลปินแห่งชาติ 26 มกราคม 2537, (กรุงเทพฯ, 2537), ปกหลัง.)
3 ปีหลังจากที่เฟื้อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ ใน พ.ศ. 2472 เขาจึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเพาะช่าง แผนกฝึกหัดครู เฟื้อศึกษาการเขียนภาพในสถาบันแห่งนี้เป็นเวลา 5 ปี แต่ก็ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ ทั้งๆ ที่สอบวิชาครูและวิชาอื่นๆ ได้หมด สาเหตุเป็นเพราะว่าเฟื้อมักจะเขียนรูปนอกหลักสูตรและตามอารมณ์ของตนเสมอจึงสอบตกวิชาศิลปะ
ถึงแม้ว่าเฟื้อจะไม่ได้รับประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างก็ตาม แต่ที่นี่ก็นับเป็นสถาบันที่ได้ปูพื้นฐานทางศิลปะให้แก่เฟื้อ และทำให้เฟื้อมีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการเขียนภาพแนวใหม่ ตลอดจนวิธีการวิเคราะห์และวิจารณ์งานศิลปะจากขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) ซึ่งเคยมีโอกาสไปเรียนวิธีการเขียนภาพจากหลายประเทศในทวีปยุโรปมาแล้ว และขณะนั้นได้รับราชการเป็นครูสอนศิลปะในโรงเรียนเพาะช่างอีกด้วย
ใน พ.ศ. 2476 หลังจากที่เฟื้อได้ลาออกจากโรงเรียนเพาะช่างแล้ว แช่ม แดงชมพู และ จงกล กำจัดโรค เพื่อนนักเรียนเก่าจากโรงเรียนเพาะช่าง ได้ชักชวนเขาให้เข้ามาศึกษาในโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ณ กรมศิลปากร ซึ่งก่อตั้งและอยู่ในความรับผิดชอบของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ณ ที่แห่งนี้นับเป็นสถาบันแรกที่เฟื้อมีโอกาสสร้างสรรค์งานศิลปะได้อย่างอิสระตามใจปรารถนาโดยการสนับสนุนของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เข้าใจและยอมรับธรรมชาติของศิลปินหนุ่มผู้นี้อย่างแท้จริง และ ณ ที่แห่งนี้อีกเช่นกันที่เฟื้อได้พบกับรักครั้งแรก และได้สร้างตำนานรักอันยิ่งใหญ่ของเขากับสตรีสูงศักดิ์ นามว่า หม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์ กฤดากร
หลังจากที่เฟื้อฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการที่ขวางกั้นความรักของเขาได้สำเร็จ จนมีโอกาสได้สมรสสมรักกับหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์ และมีบุตรด้วยกัน 1 คน ใน พ.ศ. 2484 ศิลปินหนุ่มจึงมีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาศิลปะต่อยังประเทศอินเดียที่เขาใฝ่ฝัน ในมหาวิทยาลัยวิศวภารติ ณ ศานตินิเกตัน ด้วยทุนของภรรยา คือหม่อมราชวงศ์ถนอมศักดิ์
โดยมีหนังสือรับรองจาก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี รวมทั้งหนังสือแนะนำตัวและฝากฝังจากท่านสวามีสัตยานันทบุรี ซึ่งเป็นบุคคลที่เฟื้อชื่นชอบ และเคยไปพบปะพูดคุยด้วยบ่อยครั้ง เพราะเขาชอบอ่านหนังสือที่ท่านแต่ง หนังสือทั้ง 2 ฉบับนี้นับเป็นประกาศนียบัตรรับรองความสามารถชิ้นสำคัญของเฟื้อสำหรับใช้ไปศึกษาต่อยังประเทศอินเดีย ณ สถาบันแห่งนี้
ถึงแม้ว่าเฟื้อจะมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยวิศวภารติ ณ ศานตินิเกตัน จริงๆ เพียง 1 ปี ก็ตาม เพราะใน พ.ศ. 2484 ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นเสียก่อน แต่สำหรับเฟื้อแล้ว 1 ปีที่นั่นนับเป็นช่วงระยะเวลาอันมีค่ายิ่งแห่งการเรียนรู้ การแสวงหา และการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างอิสระของเขา
หลังจากกลับจากอินเดียได้ 8 ปี ใน พ.ศ. 2497 เฟื้อก็ได้รับทุนจากรัฐบาลอิตาลีให้ไปศึกษาและดูงาน ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นเวลา 2 ปี…
นอกจากประวัติชีวิตของเฟื้อโดยสังเขปนี้แล้ว เราควรจะมาทำความรู้จักกับบุรุษที่ยิ่งใหญ่ผู้นี้จากผลงานของเขา เพราะผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากความรักและความศรัทธาต่อศิลปะอย่างบริสุทธิ์ใจของเฟื้อนับเป็นเครื่องแสดงและพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าอันประเมินมิได้ในความเป็นมนุษย์และศิลปินของเฟื้ออย่างชัดแจ้ง เราสามารถแบ่งผลงานของเฟื้อออกได้เป็น 2 ประเภท นั่นคือ ผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ และผลงานการคัดลอกและการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง…
อ่านเพิ่มเติม :
- ทัศนะอาจารย์ศิลป์ พีระศรี “ภาพเปลือย” เป็นศิลปะหรืออนาจาร?
- สง่า มะยุระ ไม่ใช่แค่ยี่ห้อพู่กัน แต่คือช่างเขียนระดับครู ผู้ซ่อมจิตรกรรมวัดพระแก้ว
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เฟื้อ หริพิทักษ์ จิตรกรเอกและนักอนุรักษ์ศิลปะของแผ่นดิน” เขียนโดยโดย รศ.ดร. กฤษณา หงษ์อุเทน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2553
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2562