ทัศนะอาจารย์ศิลป์ พีระศรี “ภาพเปลือย” เป็นศิลปะหรืออนาจาร?

ภาพเขียน ภาพเปลือย ผู้หญิงนอน
ภาพ Danaë ผลงานของจิตรกรชื่อดัง Titian ณ พิพิธภัณฑ์ศิลป์ Prado (ภาพจากวิกิพีเดีย)

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แสดงทัศนะต่อ “ภาพเปลือย” ว่าเป็นศิลป์หรืออนาจาร ไว้ในงานเขียนตอนหนึ่งว่า “ด้วยความคลั่งไคล้ใหลหลงต่อความมีศีลธรรมและความสุภาพอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เราพากันมาถึงจุดของการค้นหาความผิด ในประติมากรรมและจิตรกรรม ที่เป็น ภาพเปลือย”

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (พ.ศ. 2435-14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505) ผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับการยกย่องเป็น บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย นอกจากนี้ยังสร้างผลงานไว้มากมาย เช่น พระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วงเวียนใหญ่, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ฯลฯ

ส่วนข้อความที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของบทความชื่อ Nude-Art or Obscenity ของศาสตราจารย์ศิลป์ ที่ ธนิต อยู่โพธิ์ แปลเป็นภาษาไทยให้ชื่อว่า “ภาพเปลือย เป็นศิลป หรืออนาจาร” ความดังนี้

“…การศึกษา ดำเนินมาด้วยความมีประโยชน์ยิ่งใหญ่และกอปรด้วยเหตุผล กำลังครอบงำวิถีชีวิตตามธรรมชาติของเราอยู่ ต่อไปภายหน้า ความคิดเห็นอันกอปรด้วยเหตุผลในเรื่องอะไรควร อะไรไม่ควร จะหยั่งรากฝังลึกลงไปในดวงใจของเรา ซึ่งทำให้เราคิดเห็นว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องปกปิดร่างกายทุกส่วน

………….

ด้วยความคลั่งไคล้ใหลหลงต่อความมีศีลธรรมและความสุภาพอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เราพากันมาถึงจุดของการค้นหาความผิด ในประติมากรรมและจิตรกรรม ที่เป็นภาพเปลือย ซึ่งประติมากรรมและจิตรกรรมภาพเปลือยเหล่านั้น วางกิริยาท่าทีถูกต้องตรงตามตำราศิลปและความมีศีลธรรมของชาติอารยะของชาติ การค้นหาความผิดเช่นนั้น เราเลยพากันไม่รับรู้เรื่องศิลปและเรื่องธรรมชาติไปเสีย

ขอให้เราพิจารณาดูความแตกต่างซึ่งมีอยู่ระหว่างคนกับสัตว์ ตีเสียว่าม้า หรืออาจเป็นดอกไม้ ต้นไม้หรือรูปธรรมชาติอื่นใดก็ได้ ถ้าม้ามีรูปร่างได้สัดส่วนดี และดูงาม เราก็ควรจะชมม้าในด้านที่มันมีรูปร่างงดงามได้สัดได้ส่วน ไม่มีคนโง่คนใดที่จะนึกเอาผ้าหรือสิ่งใดไปปกปิดส่วนหนึ่งส่วนใดของม้า เพื่อเห็นแก่ศีลธรรมเรารู้กันอยู่ ว่าการที่จะเอาผ้าหรือวัตถุอื่นใด ไปปกคลุมบนร่างของม้านั้น อาจทำให้รูปร่างของม้าที่งามดีอยู่แล้วดูเตี้ยแคระไปก็ได้

คราวนี้ อะไรเล่า คือความแตกต่างที่มีอยู่ระหว่างร่างกายของคนกับม้า ว่าโดยหลักกายวิภาค ก็เกือบจะเหมือนกัน ทางที่ต่างกันมาก็อยู่ในข้อที่เท็จจริงที่ว่าคนเป็นเพื่อนมนุษย์ของเรา ซึ่งเรารักและเราอาจติดต่อรู้จักมักคุ้นกันได้ โดยทางพุทธิปัญญา มันเป็นการถูกต้อง เพราะเราสนใจอยู่แต่ในเรื่องเผ่าพงศ์วงศ์วานของพวกมนุษย์เรา ซึ่งทำให้เราเห็นคนเป็นสัตว์ที่ถูกต้องสมบูรณ์และงดงามยิ่งกว่าสัตว์ชนิดอื่นใด

เพราะเหตุนี้ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มา ร่างกายของมนุษย์จึงกระตุ้นให้เกิดความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ในการแสดงทางศิลปทั้งตะวันตกและตะวันออก ได้ผลิตประติมากรรมและจิตรกรรมภาพเปลือยขึ้นมากมายหาประมาณมิได้ เพื่อแสดงให้คนธรรมดาสามัญได้เห็นว่า เมื่อเราได้สร้างสรรค์ร่างกายของมนุษย์ขึ้นมาเป็นศิลปนั้น ร่างกายของเรามีส่วนสัดสมบูรณ์เพียงใด และช่วยให้เราได้รับความเพลิดเพลินตามแง่ความงามอย่างใด

เพราะฉะนั้น การแสดงศิลปภาพเปลือย ไม่ว่าจะเป็นภาพผู้ชายหรือผู้หญิง หมายถึงความแจ่มใสเจิดจ้าแห่งวงศ์วานของมนุษย์เราเอง มันเป็นของขวัญที่เราควรขอบใจต่อ สากลมหิทธยานุภาพ (Cosmic Energy) ซี่งเราไม่ทราบว่าเป็นใคร ผู้ได้สร้างสรรค์ร่างกายอันงดงามของเราขึ้นไว้

ด้วยเหตุนี้ การคอยจับผิดในการแสดงรูปเปลือยก็เท่ากับยอมรับว่า มโนจักษุของเราบอด หรือเราขาดความนิยมนับถือต่อธรรมชาติ

………….

ถ้าภาพเปลือยมีลักษณะยั่วยวนอย่างแรงจนมิอาจยับยั้งได้ ต่อผู้ชาย หรือตามที่พวกนักศีลธรรมกล่าวกันคือ ต่อพวกวัยรุ่นแล้ว สถานที่ตากอากาศชายทะเลในปัจจุบันนี้ ก็ควรจะเป็นสถานที่รื่นรมย์ของพวกคลั่งราคะไป เพราะมีสุภาพสตรีที่พยายามเป็นอย่างดีที่สุดที่จะปกปิดร่างกายของเธอด้วยผ้าชิ้นน้อยๆ แต่ทว่าอาการกิริยาและท่าทางของสุภาพสตรีเหล่านี้ก็เป็นไปตามแบบฉบับอันมีเกียรติของพลเมืองดี บรรดาผู้ชายทั้งหลายต่างก็พากันชื่นชมรูปร่างทรวดทรงของเธอ แต่หาได้รู้สึกเป็นการยั่วยวนทางเพศจนมิอาจ อดกลั้นไม่

สุภาพสตรีที่แต่งตัวอย่างสวยเช้ง สวมเสื้อคอลึกและกว้างมาก ดูจะเป็นการยั่วยวนราคะได้มากเสียยิ่งกว่า ภาพประติมากรรม และจิตรกรรมที่สร้างกันขึ้นทุกวันนี้และเสียยิ่งกว่าสุภาพสตรีที่สวมเสื้อผ้าชุดอาบน้ำ ซึ่งยังแสดงให้ทรวดทรง (ของผู้แต่ง) อันมีส่วนประสานกลมกลืนกันเป็นอย่างดียิ่ง

…………

จำเป็นที่จะต้องเข้าใจด้วยว่า ที่เราพูดถึงศิลปภาพเปลือยนั้น มิได้ขยายวงกว้างไปถึงศิลปในการเปลือยที่ทำกันขึ้นให้วางกิริยาท่าทีเพื่อกระตุ้นให้ผู้ดูเกิดตัญหา ราคะ งานศิลปเช่นนี้ พวกศิลปินเขาไม่ยอมรับว่าเป็นศิลป และไม่มีทางจะเรียกได้ว่าเป็นศิลป และไม่มีทางจะเรียกได้ว่าเป็นศิลป…”  [คงตัวสะกดตามต้นฉบับ หากจัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี-เขียน, ธนิต อยู่โพธิ์-แปล. เรื่องศิลป และศีลธรรม ความหมายและจิตตวิทยาเกี่ยวกับสี ภาพเปลือย เป็นศิลป หรือ อนาจาร. มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดพิมพ์ เนื่องในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2508.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2566