ประติมากรรมประดับตึก ศิลปะยุคจอมพล ป. ผลงานศิษย์รุ่นแรกของ อ.ศิลป์ พีระศรี

อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ภาพถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1960 โดย Harrison Forman (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

ถ้าจะเอาเกาะรัตนโกสินทร์เป็นจุดศูนย์กลางในการดูตึกรามบ้านช่องของกรุงเทพฯ เริ่มจากพระบรมมหาราชวังที่เป็นสุดยอดความงดงามราวกับเมืองสวรรค์ แวดล้อมด้วยความงามแบบประดิดประดอยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่อยมาจนถึงความงามคลาสสิคแบบตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5 และเข้าสู่ความงามแบบหรูหราในรัชกาลที่ 6 ตึกรามบ้านช่องในยุคต้น ๆ นี้ให้ความสำคัญกับความงามอย่างพิถีพิถัน จนสามารถเป็นทัศนียภาพ (น. ภาพที่น่าดู) ของเมืองได้

จนเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม รูปแบบของงานสถาปัตยกรรมได้ปฏิวัติตัวเองไปสู่ความเรียบง่าย และตัดทอนรายละเอียดในการประดับตกแต่งตัวอาคารจนเหลือเพียงรูปทรงกล่อง และในแบบไทยประยุกต์ที่ใช้คอนกรีตในส่วนหลังคาแทนเครื่องไม้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในภาวะสงคราม ซึ่งเราจะเห็นได้จากอาคารต่าง ๆ ในรุ่นนี้ เช่น อาคารบนถนนราชดำเนิน (2483) สนามศุภชลาศัย (2481) และอาคารของหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ครุฑประดับอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก กรุงเทพฯ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2543)

ขณะเดียวกันโชคดีของประเทศไทยที่ได้คนอย่างอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และศิษย์ก้นกุฏิรุ่นแรกที่เป็นกำลังสำคัญของท่านได้ร่วมกันสร้างสรรค์งานประติมากรรมประดับอาคารต่าง ๆ ไว้อย่างมากมาย งานศิลปะเหล่านี้เองได้ช่วยเติมความหมายให้กับอาคาร ในยุคที่ความละเมียดละไมกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย และยังบ่งบอกนัยของนโยบายรัฐบาลยุคนั้นออกมาอย่างชัดเจน ตั้งแต่การโหยหาวีรกรรมของบรรพบุรุษ จนถึงการสร้างวัฒนธรรม-รูปธรรมขึ้นสำหรับเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ

งานประติมากรรมประดับอาคารที่โดดเด่นในยุคนี้แห่งหนึ่งก็ คือ อาคารศาลากลางหลังเก่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (2484) ออกแบบโดยพระสาโรจรัตนนิมมานก์ ด้านหน้าของอาคารมีพระบรมรูปของวีรกษัตริย์ และวีรกษัตริย์ของไทย 6 พระองค์ประดับอยู่เหนือหัวเสา ปั้นโดยศิษย์รุ่นแรกของอาจารย์ศิลป์ทั้งสิ้นคือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปั้นโดย นายพิมาน มูลประมุข, สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ปั้นโดย นายแช่ม ขาวมีชื่อ, สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ปั้นโดย นายสิทธิเดช แสงหิรัญ, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไม่ทราบผู้ปั้น

ประติมากรรมวีรกษัตริย์ไทย 6 พระองค์ ประดับอาคารศาลากลางหลังเก่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2543)

ถ้าใครเป็นคนชอบดูตึกรามบ้านช่อง อาคารในยุคสมัยนี้อาจจะไม่งดงามอ่อนช้อย ถึงขนาดต้องหยุดเพ่งพินิจได้เหมือนอาคารในยุคก่อน สิ่งที่จะพบเห็นกลับเป็นความแข็งแกร่ง และพลังอำนาจ ซึ่งอาจจะมีความจำเป็นมากกว่าในยามบ้านเมืองต้องประสบกับภัยร้ายมากมายหลายด้าน แม้แต่ครุฑที่เราคุ้นเคยมักจะมีความเกรี้ยวกราด แต่ก็ยังแฝงความอ่อนช้อยตามแบบไทยไว้ แตกต่างจากครุฑในยุคนี้ที่เต็มไปด้วยพลัง และความหนักแน่น ไม่ต่างไปจากอินทรีเหล็กของเยอรมัน เช่น ครุฑแบบนาซี ที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และครุฑร่างกายกำยำของตึกกรมไปรษณีย์โทรเลขบางรัก (…ปั้นโดย นายพิมาน มูลประมุข นายสิทธิเดช แสงหิรัญ และนายแช่ม แดงชมพู ศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรีรุ่นแรกเช่นเดียวกัน) เป็นต้น

น่าเสียดายที่งานปั้นประณีตศิลป์แบบนี้ เกิดขึ้นและตายไปในช่วงเวลาเพียง 20 ปี อาคารยุคหลังจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือหลังปี 2500 มีงานประติมากรรมลักษณะนี้ให้เห็นน้อยเต็มที เช่น รูปปั้นเศียร พระ นาง ลิง ยักษ์ ที่โรงละครแห่งชาติ (ออกแบบไว้ตั้งแต่สมัยจอมพล ป. สร้างเสร็จปี 2508 ในสมัยของจอมพล ถนอม กิตติขจร) และ…อาคารที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น (มหาวิทยาลัยที่ให้กำเนิดโดยท่านจอมพลอีกเช่นกัน) จนดูเหมือนว่าความรุ่งโรจน์ของงานประติมากรรมประดับตึกจะสัมพันธ์กับความรุ่งเรืองของจอมพล ป.พิบูลสงครามอย่างเห็นได้ชัด

ประติมากรรมเศียร พระ นาง ลิง ยักษ์ ที่โรงละครแห่งชาติ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2543)

แม้งานประติมากรรมประดับตึกจะเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ แต่ “ศิลปะนั้นยืนยาว” ดังนั้น ถ้าจะดูอาคารยุคนี้ให้สนุก ก็ควรจะดูงานประติมากรรมประดับตึกที่ยังหลงเหลืออยู่ไปพร้อมกัน ถึงจะได้รสชาติที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ประติมากรรมประดับตึก ประณีตศิลป์รุ่นสุดท้ายในงานสถาปัตยกรรมยุคใหม่” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2565