ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539 |
---|---|
ผู้เขียน | ชนิตร ภู่กาญจน์ |
เผยแพร่ |
ภาพวาดของจิตรกรที่เคยมีชื่อเสียงมาแต่อดีตกาล เป็นงานสะสมอีกชนิดหนึ่งของนักสะสมที่มักจะไม่สร้างความผิดหวังให้แก่ผู้สะสม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคุณค่า และความต้องการชั่วนิรันดรของผู้สนใจ
ปัจจุบันนี้ใครที่มีงานเขียนรุ่นเก่า ๆ (ที่เป็นของแท้) ของจิตรกรที่มีชื่อเสียงแต่อดีต มักจะถูกนักเล่นของเก่าจับตามอง และคอยติดตามอย่างใกล้ชิดว่า นักสะสมที่มีงานเหล่านั้นจะปล่อยสินค้าออกมาบ้างหรือไม่
เพราะในวงการนักสะสมส่วนใหญ่มักมีความใฝ่ฝันที่จะมีภาพเขียนของจิตรกรชื่อดังเอามาประดับไว้ในห้องรับแขกสักชิ้นหนึ่งเพื่อให้เป็นเกียรติเป็นศรีแก่เจ้าของบ้าน ด้วยเหตุนี้เอง การสะสมภาพวาดจึงเป็นงานสะสมที่ขาดไม่ได้ของผู้รักงานสะสม
ศิลปะและแชปแมน
ในกระบวนการของจิตรกรชื่อดัง ๆ ในอดีต งานเขียนของ JOHN GADSBY CHAPMAN จัดว่าเป็นของหมายปองของนักสะสมไม่น้อยเหมือนกัน แชปแมน เป็นจิตรกรชาวอเมริกัน เกิดที่เมืองอเล็กซานเดรีย เมื่อปี 1808 หลังจากการเกิดของเขาเพียงไม่ถึง 40 ปี แชปแมนก็สามารถสร้างชื่อเสียงให้เป็นหนึ่งในวงการของจิตรกรในยุคนั้นได้อย่างสบาย ๆ
งานเขียนของเขาได้ชื่อว่าเป็นงานที่แสดงออกถึงอารมณ์บริสุทธิ์ และแสดงออกให้เห็นถึงความสะอาดของจิตใจในส่วนที่เป็นมุมมองทางด้านชีวิตและจิตใจของมนุษย์ร่วมโลก แชปแมนมิได้เขียนเพียงเพื่อเน้นแต่แค่จุดสนใจของตัวบุคคลเท่านั้น แต่เขายังให้ความรู้สึกในเรื่องของบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมอันเป็นฉากหลังของภาพด้วย
เพราะความบริสุทธิ์ในงานเขียนของแชปแมน อันเป็นที่ยอมรับของหมู่คนที่ได้สัมผัสกับงานเขียนของเขานี่เอง ที่ส่งผลทำให้ชื่อเสียงของแชปแมนเป็นที่ยอมรับของคนในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของมนุษย์ผู้ยังหลงอยู่ในกิเลส และในหมู่ของนักบวชที่ตัดและสละแล้วซึ่งกิเลสตัณหา ด้วยเหตุนี้เอง ภาพเขียนของเขาจึงกลายเป็นความต้องการของคนทุกหมู่เหล่า
ผลแห่งความนิยมยกย่องเขานี่เอง ทำให้งานเขียนภาพของเขามีคนนำเอาไปพิมพ์และเอาไปประดับบ้านในหลาย ๆ สถานการณ์ ดังจะเห็นได้จากงานพิมพ์แทบทุกชนิดที่หมายปองภาพเขียนของเขาเพื่อนำเอาไปประกอบเรื่อง หรือไม่ก็เอาไปลงเป็นความสวยงาม สำหรับคนที่ชอบงานศิลปะประเภทนี้ นอกเหนือไป จากการนำภาพของแชปแมนไปตีพิมพ์ตามนิตยสารต่าง ๆ ภาพเขียนของเขายังถูกนำเอาไปพิมพ์เป็นภาพ ส.ค.ส. หรือภาพที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นของขวัญสำหรับวันสำคัญในชีวิต เช่น วันเกิด วันแต่งงาน วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น และแม้กระทั่งในไบเบิล ภาพเขียนของเขาก็ถูกนำเอาไปประกอบเช่นเดียวกัน
ภาพเขียนด้วยฝีมือของแชปแมน เมื่อถูกนำเอาไปประกอบเข้ากับบทกลอน คนส่วนใหญ่จะเกิดความซาบซึ้งอย่างสุด ๆ จนทำให้ภาพลักษณ์ของแชปแมนกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ดุจน้ำค้างไปด้วย แชปแมนได้ชื่อว่าเป็นสื่อของพระเจ้าด้วยคนหนึ่งเหมือนกัน
ในช่วงปี 1840 แชปแมนเป็นบุคคลที่ขายดีมากที่สุด เพราะงานของเขาได้รับความสนใจจากสังคมอย่างสูง ใครต่อใครพากันเรียกร้องขอให้เขาวาดภาพเพื่อจะนำเอาไปลงตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ HENRY T. TUCKERMAN เขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งว่า “แชปแมน เป็นมนุษย์งานที่เขาจะมาทำงานเมื่อย่ำรุ่งแล้วจะกลับเป็นคนสุดท้ายเมื่อค่ำ”
ปี 1848 แชปแมนย้ายไปอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เขาได้ทำงานที่เขาชื่นชอบอีกครั้ง ด้วยการวาดภาพแสดงการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายของมนุษย์ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สงบร่มรื่น ซึ่งงานในอิตาลีของเขาก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์แห่งความสดชื่นและบริสุทธิ์เอาไว้ได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง และที่อิตาลีนี่เอง ที่แชปแมนถูกจับตามองจากผู้นิยมศิลปะทั่วไปว่า เขาคือนักวาดภาพมีระดับที่ภาพทุกภาพของเขามีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการบรรยาย
ผลงานในอิตาลีกลายเป็นงานศิลปะชั้นสูงไปโดยปริยาย และภาพเหล่านั้นของเขาจะถูกจินตนาการออกมาเคียงคู่ไปกับการปลุกจิตสำนึกให้คนทั้งหลายหันมามองดูสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัว ภาพคน ภาพทิวทัศน์ ภาพความสนุกสนานที่แชปแมนแสดงออกมานั้น ส่วนใหญ่เขาจะมุ่งเน้นภาพของเด็กเป็นหลัก จนทำให้ภาพลักษณ์ของแชปแมนกลายเป็นสัญลักษณ์ของจิตรกรภาพเด็กไป
งานของแชปแมนที่มีปรากฏอยู่ในมือของนักสะสมเวลานี้ จากภาพทั้งหกภาพในหนังสือเล่มนี้ ภาพแรกชื่อ กับดัก เป็นภาพของเด็กตัวเล็ก ๆ ที่กำลังสนใจง่วนอยู่กับกับดัก ภาพนี้ผู้เป็นเจ้าของคือ E. L. CAREY มีชื่อเสียงอยู่ในปี 1838
ภาพนักบวช นำออกแสดงครั้งแรกที่งานของสถาบันดีไซน์แห่งชาติ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1838 เป็นภาพที่ได้รับความสน ใจอย่างสูง เพื่อการนำเอาไปเป็นของขวัญในวันคริสต์มาส และวันขึ้นปีใหม่
ภาพไม้ลื่น เป็นภาพที่แชปแมนใช้บรรยากาศของเมืองนิวยอร์กเป็นส่วนประกอบ
ภาพหญิงสาวกับสตรอว์เบอร์รี่ ตีพิมพ์ในหนังสือ นิวยอร์กมิลเล่อร์ เมื่อปี 1837 และถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี 1839
ภาพตกปลา เป็นภาพที่เขียนประกอบบทกลอนเมื่อปี 1837 ในหนังสือเกี่ยวกับความสวยความงาม
ภาพราชินี ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1843 เป็นภาพที่ผู้นิยมศิลปะยอมรับว่า แชปแมนเน้นคุณค่าของสตรีได้ในทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือ เท้า รูปทรง เอว และใบหน้า
ศิลปะเป็นของที่ประเมินค่ามิได้ และบางครั้งศิลปะอาจจะมีคุณค่าที่แตกต่างกันตามยุคสมัย ฉะนั้นการสะสมงานศิลปะจึงเป็นการสะสมที่ผู้สะสมเองบอกไม่ได้เลยว่า งานแต่ละชิ้นของเขาที่สะสมเอาไว้นั้นมีราคาเท่าไร
ใครสะสมงานศิลปะจึงต้องรู้ตัวเองว่า วันนี้เมื่อเราพอใจจะขายออกไป ต้องอย่าเสียใจเมื่อกาลเวลามันผ่านเลยไป และเกิดราคามันสูงกว่าที่เราเคยได้รับมา
อ่านเพิ่มเติม :
- Food in Art History มอง “ประวัติศาสตร์” ผ่าน “อาหาร” ในงานศิลป์
- นัยเบื้องหลังภาพ The Third of May 1808 สงครามซึ่งทหารฝรั่งเศสสังหารชาวสเปนที่ต่อต้าน
- เผยร่องรอย “ความลับ” ในภาพเขียนอายุร่วม 400 ปีของตำนานจิตรกรดัตช์ที่ถูกพบภายหลัง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ภาพวาดเด็กของแชปแมน บริสุทธิ์ดังสายน้ำไหล” เขียนโดย ชนิตร ภู่กาญจน์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2539
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2565