นัยเบื้องหลังภาพ The Third of May 1808 สงครามซึ่งทหารฝรั่งเศสสังหารชาวสเปนที่ต่อต้าน

ภาพ The Third of May 1808 โดย ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) วาดเสร็จในปี 1814 ไฟล์ภาพ public domain

ศิลปินแต่ละรายล้วนมีจุดประสงค์การสร้างงานที่แตกต่างกัน บ้างก็ถ่ายทอดบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกและเรื่องราวออกมาในรูปแบบต่างๆ บ้างก็ทำงานเพื่อประโยชน์ใช้สอยแบบต่างๆ ในบรรดาประเภทชิ้นงานศิลปะซึ่งถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับสงคราม ชิ้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือภาพ The Third of May 1808 โดยฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) ศิลปินชาวสเปน

ฟรานซิสโก โกยา (ค.ศ. 1746-1828) กำเนิดในประเทศสเปน ถือเป็นศิลปินสเปนจากศตวรรษที่ 18 และ 19 ซึ่งทรงอิทธิพลที่สุดรายหนึ่ง ผลงานอันลือลั่นของเขาอย่างภาพ The Third of May 1808 วาดสำเร็จเสร็จสิ้นในปี 1814 เรื่องราวที่ปรากฏในภาพคือบอกเล่าถึงฝ่ายต่อต้านของสเปนเผชิญหน้ากับทหารของพระเจ้านโปเลียน (นโปเลียนยุคเป็นจักรพรรดิ) ในช่วงสงครามเพนินซูลา (Peninsula War) ในปี 1808

ภาพวาดชิ้นนี้ดำเนินในแนวทางที่แตกต่างจากผลงานศิลปะเกี่ยวกับสงครามที่เคยมีมาก่อนหน้านั้น ภาพชิ้นนี้มีองค์ประกอบในแง่การสื่อสารทางอารมณ์ของศิลปินที่มีต่อเหตุการณ์จริง และเป็นผลงานศิลปะยุคแรกๆ ซึ่งเป็นภาพเกี่ยวกับสงครามกลุ่มอันสะท้อนแง่มุมความโหดร้ายของสงคราม

เป็นที่ทราบกันว่า ภายหลังนโปเลียนผ่านพิธีราชาภิเษกเมื่อปี ค.ศ. 1804 ปีต่อมาก็ปราบออสเตรีย ตามมาด้วยการปราบปรัสเซียในปี ค.ศ. 1806 และปี ค.ศ. 1807 ก็ปราบรัสเซียภายหลังมีชัยในการรบที่ไฟร์ดแลนด์ (Friedland) จนนำมาสู่การเจรจาในที่สุด

ในช่วงเวลานั้น (1807) ประเทศในยุโรปมีเพียงสเปน และโปรตุเกสซึ่งยังไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศส ด้วยปัจจัยทั้งทางภูมิศาสตร์และทางการเมือง สเปนจัดเป็นผู้กุมอำนาจในการเข้าสู่แถบเมดิเตอร์เรเนียน จักรพรรดินโปเลียนทรงจัดทำสัญญาพันธมิตรกับกษัตริย์สเปน เพื่อแบ่งดินแดนโปรตุเกสกัน แต่มาเกิดการแย่งชิงอำนาจกันในสเปนระหว่างพระเจ้าชาลส์ที่ 4 และเจ้าชายเฟอร์ดินานด์ ราชโอรสและรัชทายาท

จักรพรรดินโปเลียนส่งกองทัพเข้ายึดสเปนได้โดยง่าย และส่งโจเซฟ โบนาปาร์ต พระเชษฐา ไปปกครองเป็นกษัตริย์สเปน ชนชั้นปกครองบางกลุ่มยอมรับการแต่งตั้ง แต่ชาวสเปนอีกจำนวนมากไม่ยอมรับการกระทำครั้งนี้จึงลุกฮือขึ้นต่อต้านจนกลายเป็นสงครามในรูปแบบสงครามกองโจรต่อต้านฝรั่งเศส กินเวลา 5 ปี ทั้งสองฝ่ายสูญเสียเป็นอันมาก

เมื่อฝ่ายฝรั่งเศสมองว่าสูญเสียทั้งผู้คนและทรัพย์สินจนไม่สามารถยึดครองต่อไปได้อีกจึงจำต้องให้พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 7 ไปครองราชสมบัติสเปน ภายหลังสงครามจึงยุติลง แม้จะเป็นอันปิดฉากได้ แต่สงครามครั้งนี้ก็ทำให้คนมองว่า ยุคที่นโปเลียนเป็นจักรพรรดินำมาซึ่งสงครามและความเดือดร้อนที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น

ในช่วงที่เกิดสงครามระหว่างค.ศ. 1808-1813 (บางแหล่งข้อมูลระบุว่าสงครามมีไปถึง 1814) ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ฟรานซิสโก โกยา มีบทบาทในราชสำนักยุคโจเซฟ โบนาปาร์ต มากน้อยเพียงใด นอกเหนือจากเป็นศิลปินที่ทำงานให้ราชสำนักสเปน (ในยุคฝรั่งเศส) และเชื่อว่าเขาก็ต้องวางตัวเป็นกลางในช่วงสงคราม แต่เมื่อกองทัพฝรั่งเศสถอนกำลังไปจากสเปนแล้ว โกยา ก็ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับชาวฝรั่งเศส

หากจินตนาการสถานภาพของโกยา ในเวลานั้น เชื่อว่า หลายคนน่าจะพอนึกภาพความกระอักกระอ่วนของเขาได้บ้าง เคนเน็ธ คลาร์ก นักเขียนหนังสือ “Looking at Pictures” เล่าไว้ว่า ถึงโกยา จำเป็นต้องปฏิญาณตนว่าจะภักดีต่อโจเซฟ โบนาปาร์ต แต่เขาเองก็ไม่ค่อยชอบฝ่ายทางการนัก เห็นได้จากเมื่อเขารับรู้ถึงเหตุการณ์ที่ฝ่ายฝรั่งเศสกวาดล้างเพื่อนร่วมชาติชาวสเปนซึ่งลุกขึ้นต่อต้าน เขานำเหตุการณ์เหล่านี้มาถ่ายทอดในผลงานศิลปะในเวลาต่อมา อย่างเช่นซีรีส์งานพิมพ์ภาพชุดที่เรียกกันว่า The Disasters of War (Los desastres de la guerra) หรือหายนะของสงคราม

เคนเน็ธ คลาร์ก เล่าว่า ภายหลังจากฝรั่งเศสถอนตัวออกไปแล้ว โกยา ร้องขอโอกาสจากรัฐบาลชั่วคราวให้เขาได้จารึกความกล้าหาญของการลุกขึ้นต่อต้านทรราชแห่งยุโรปผ่านฝีแปรงของเขา เมื่อคำขอของเขาได้รับอนุญาติ โกยาจึงเริ่มสร้างชิ้นงานอันโด่งดังของเขาอย่าง The Third of May 1808

นอกเหนือจากผลงาน The Third of May 1808 เขายังสร้างผลงานอีกชิ้นชื่อ The Second of May 1808 เป็นภาพทหารม้าพุ่งเข้าโจมตีกองกำลังฝ่ายต่อต้านในมาดริด ซึ่งเขียนขึ้นเสร็จก่อนภาพ The Third of May 1808 ราว 2 เดือน


อ้างอิง:

สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560

Clark, Kenneth. “Looking at Pictures”. Beacon Press, 1968


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2564