ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วัดอินทาราม ฝั่งธนบุรี เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตาก) ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ภายในวัดมี “พระเจดีย์คู่” หรือ “พระเจดีย์กู้ชาติ” เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุ พระบรมอัฐิพระเจ้าตาก และพระมเหสี ความเชื่อหรือตำนานนี้มาจากไหน?
พนมกร นวเสลา นำเสนอประเด็นนี้ในบทความ “เปิดหลักฐานว่าด้วยข้อสมมติฐานพระเจดีย์คู่วัดอินทารามกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2567 ไว้ตอนหนึ่งว่า
พระเจดีย์กู้ชาติ วัดอินทาราม ตั้งอยู่ที่หน้าพระอุโบสถเก่า เชื่อกันว่า เจดีย์ทรงเครื่องเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าตาก ส่วนเจดีย์เพิ่มมุมบรรจุพระอัฐิมเหสีของพระองค์
แต่จากหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษร กลับไม่พบว่ามีฉบับใดที่ระบุโดยตรงว่า พระเจดีย์ทั้ง 2 องค์คือที่บรรจุพระบรมอัฐิ เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจดีย์คู่นี้ จึงเป็นคำอธิบายที่เกิดขึ้นในภายหลัง
พนมกร ซึ่งสืบค้นข้อมูลหลักฐานต่างๆ บอกว่า ความเชื่อเรื่องนี้เป็น “ข้อสันนิษฐาน” ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จากลิขิตที่ พระทักษิณคณิสร (สาย ปุญฺญคงฺโค) เจ้าอาวาสวัดอินทาราม ระหว่าง พ.ศ. 2447-2484 มีถึงพระองค์ ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 เพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเจดีย์คู่ด้านหน้าพระอุโบสถเก่า ความตอนหนึ่งว่า
“…ด้วยอาตมภาพยังจำได้ว่า พระเดชพระคุณเคยทรงพระเมตตาประทานพระอธิบาย ให้ทราบตำนานเจดีย์ ๒ องค์ หน้าพระอุโบสถเก่าวัดนี้ ว่าองค์ยอดบัวกลุ่ม (คือองค์ตะวันออก) บรรจุอัฐิธาตุเจ้าตาก องค์ยอดปล้องไฉน (คือองค์ตะวันตก) บรรจุอัฐิธาตุมเหสีเจ้าตาก
แต่เดิมอาตมภาพก็มิได้ทูลถามให้เสร็จเนื้อความ ว่าใครเป็นผู้สร้างไว้เมื่อไร และไม่มีทางจะทราบได้โดยประการอื่น ต้องขอพระเมตตาคุณเป็นที่พึ่ง โปรดประทานและอธิบายตำนานเจดีย์ทั้งสององค์นั้นโดยสังเขป…”
“กรมดำรง” มีลายพระหัตถ์ตอบกลับ ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 ความในลายพระหัตถ์มีดังนี้
“ข้าพเจ้าได้รับลิขิตของเจ้าคุณถามถึงตำนานพระเจดีย์ ๒ องค์ที่หน้าโบสถ์เก่าวัดอินทาราม ขอเรียนว่าเรื่องพระเจดีย์ ๒ องค์ นั้นเปนแต่ข้าพเจ้าคิดขึ้นเอง ไม่ควรจะเอาไปอ้างเปนเรื่องจริง เพราะไม่มีหลักฐานอันใด
ข้าพเจ้ายังคิดถึงเจ้าคุณเนืองๆ ได้พบพระศักดิออกมาจากกรุงเทพฯ องค์ ๑ ถามถึงเจ้าคุณว่ายังดีอยู่หรืออย่างไร ท่านก็บอกว่าไม่ทราบ เพราะฉะนั้นมาได้รับลิขิตของเจ้าคุณจึงเกิดความยินดี และหวังใจว่าเจ้าคุณจะเปนสุขสบายดีอยู่” (เน้นตัวหนาโดยกอง บก.)
พนมกร ให้รายละเอียดอีกว่า หลังจาก พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา เรื่อง “พระเจดีย์กู้ชาติ” บรรจุ พระบรมอัฐิพระเจ้าตาก และพระมเหสี ก็ได้รับการตีพิมพ์ลงหนังสือที่เกี่ยวข้องกับวัดอินทาราม
แม้จะมีความพยายามปรับปรุงเนื้อหาในการพิมพ์ครั้งที่ 2 ของหนังสือวัดอินทาราม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2482 เนื่องในวันวิสาขบูชา โดย พระใบฎีกาสด สิงหเสนี ผู้รวบรวมประวัติวัดอินทารามในขณะนั้น มีลิขิตลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2482 ทูลไปยังกรมดำรง เพื่อถามรายละเอียดของวัดอินทารามอยู่หลายประการ ด้วยเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงรู้เกี่ยวกับประวัติของวัดอินทารามอย่างแน่นอน
ทว่ากรมดำรง ซึ่งมีลายพระหัตถ์ตอบกลับลิขิตดังกล่าว ลงวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2482 ได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากพระองค์ประทับอยู่ปีนัง และไม่พร้อมที่จะค้นคว้าตอบปัญหาเหล่านี้ได้ ดังข้อความว่า
“…ฉันขอตอบลิขิตของเธอ ว่าเวลานี้ฉันอยู่เมืองปีนังไม่มีหนังสือพอจะสอบทานความรู้ ได้แต่อาศัยความทรงจำในเวลาเมื่ออายุเข้า ๗๗ ปี น่าจะเคลือบเคลิ้มสำคัญผิดมิมากก็น้อย บอกไปตามจำได้ก็ไม่เปนหลักฐาน เพราะฉะนั้นต้องขอตัว เธออย่าถือโทษเลย…”
ด้วยเหตุนี้ทำให้หนังสือวัดอินทาราม ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2482 ที่มาของพระเจดีย์คู่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า จึงยังคงระบุตามข้อสันนิษฐานเดิมของกรมดำรง
“บทความชิ้นนี้มิได้มีเจตนาจะลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของวัดอินทารามลงแต่อย่างใด หากแต่เป็นการเผยให้เห็นถึงที่มาของตำนานเรื่องเล่า เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงการคลี่คคลายจากการเป็น ‘สมมติฐาน’ ทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับโดยดุษณี สู่การผลิตซ้ำองค์ความรู้จนเสมือนกลายเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ ไปในที่สุด” พนมกร บอก
อ่านเพิ่มเติม :
- พระนามทางการของ “พระเจ้าตากสินมหาราช” ที่เลือนหายจากความทรงจำคนไทย
- พระเจ้าตากสินสั่งเฉือนหูพระยากาวิละ เหตุดื้อแพ่ง-เรียกตัวแล้วไม่ยอมมา!!!
- ที่มาของอนุสาวรีย์พระเจ้าตากฯ วงเวียนใหญ่ กับศรัทธาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- ไขปริศนา พระเจ้าตาก “บ้า” จริงหรือ!?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2567