พระเจ้าตากสินสั่งเฉือนหูพระยากาวิละ เหตุดื้อแพ่ง-เรียกตัวแล้วไม่ยอมมา!!!

พระเจ้าตาก ทรงม้าสู้ศึก ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก
ภาพวาดพระเจ้าตากทรงม้าสู้ศึก ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก (ถ่ายโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2560)

ก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุผลว่า เหตุใด “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” หรือ “พระเจ้าตาก” ถึงได้ลงพระราชอาญา “พระยากาวิละ” เจ้านายล้านนา ถึงขั้นเฉือนหูนั้น จะต้องย้อนเรื่องราวไปที่จุดเริ่มต้นตั้งแต่สมัย “ล้านนา” ตกเป็นประเทศราชของพม่า

ล้านนา เป็นดินแดนกันชนระหว่างพม่ากับอยุธยามาช้านาน เนื่องด้วยภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่างสองรัฐ ดินแดนนี้จึงมักตกเป็นประเทศราชของทั้งพม่าและอยุธยาสลับไปมา มีเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้นที่สามารถปกครองตนเองได้อย่างอิสระ แต่เมื่อเกิดปัญหาแย่งชิงอำนาจภายในก็ทำให้ล้านนาอ่อนแอและถูกยึดครองในที่สุด

พระเจ้าบุเรงนองสามารถตีเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. 2101 แต่พม่าก็ไม่สามารถปกครองล้านนาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะมักเกิดกบฏขึ้นอยู่ตลอด แม้บางครั้งจะสามารถต่อต้านพม่าจนยึดเมืองคืนได้ แต่พม่าก็ส่งกองทัพมาปราบปรามได้เสมอ

ช่วงก่อน พ.ศ. 2310 เชียงใหม่ปกครองโดย โป่มะยุงวน และมี พระยาจ่าบ้าน เป็นขุนนางคนสำคัญของเชียงใหม่ ส่วนเมืองลำปางปกครองโดย เจ้าฟ้าชายแก้ว พระราชโอรสใน เจ้าพระยาสุละวะฦาไชยสงคราม (ทิพช้าง) ปฐมวงศ์เจ้าเจ็ดตน แต่ดินแดนล้านนาก็ล้วนอยู่ใต้อำนาจของพม่าทั้งสิ้น

ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกทัพหลวงตีเมืองเชียงใหม่แต่ไม่สำเร็จ จึงยกทัพกลับ ขณะนั้นพระยาจ่าบ้านเห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงลอบวางแผนโค่นล้มอำนาจพม่า สมคบคิดกับ พระยากาวิละ โอรสองค์ใหญ่ในเจ้าฟ้าชายแก้ว เจ้าเมืองลำปาง

พงศาวดาวโยนก ระบุว่า แม่ทัพพม่าชื่อ โป่สุพลา ยกทัพจากล้านช้างมาถึงเชียงใหม่ โป่สุพลาก็หมายจะไล่โจมตีทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เพิ่งถอนทัพไป พระยาจ่าบ้านจึงออกอุบายว่า เส้นทางน้ำที่กองทัพเรือของโป่สุพลาจะใช้นั้นเต็มไปด้วยกิ่งไม้และท่อนซุงกีดขวาง จึงขออาสาไปจัดการทางน้ำให้เดินทางสะดวก โป่สุพลาก็หลงเชื่อ มอบทหารพม่าและลาว (หมายถึงชาวล้านนา) ให้พระยาจ่าบ้านไปจำนวนหนึ่ง

เมื่อกองทัพของพระยาจ่าบ้านมาถึงเมืองฮอดก็สังหารทหารพม่าทั้งหมด แล้วพาทหารลาวไปเข้าพบ เจ้าพระยาจักรี เพื่อขอสวามิภักดิ์ที่เมืองกำแพงเพชร เจ้าพระยาจักรีจึงส่งข่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงยกทัพหลวง พร้อมด้วยเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ มายึดเชียงใหม่ได้สำเร็จ ใน พ.ศ. 2317 และทรงแต่งตั้งพระยาจ่าบ้านเป็น “พระยาวชิรปราการ” ครองเมืองเชียงใหม่ และให้พระยากาวิละครองเมืองลำปาง

ใน พ.ศ. 2318 พม่าจากเชียงแสนยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่และลำปาง ฝั่งพระยาจ่าบ้านต้องถอยร่นมาอยู่เมืองระแหง (ตาก) ขณะที่ พระยากาวิละ และเจ้าเจ็ดตนพยายามต้านทานพม่าอย่างสุดกำลัง แต่ก็ต้องทิ้งเมืองลำปาง แล้วอพยพมาอยู่เมืองสวรรคโลกแทน ในปีถัดมาเมื่อพวกพม่าถอยทัพกลับไป พระยากาวิละพร้อมเจ้าเจ็ดตนจึงกลับเมืองลำปางตามเดิม

พระยาจ่าบ้านจะกลับไปเชียงใหม่ตามเดิม โดยสั่งให้ เจ้าก้อนแก้ว ผู้เป็นหลาน และเป็นอุปราชเชียงใหม่ขึ้นไปที่ตำบลวังพร้าว เพื่อรวบรวมกำลังพลและเสบียงรอล่วงหน้า อุปราชก้อนแก้วรวบรวมเสบียงไว้ได้จำนวนมาก แต่เมื่อพระยาจ่าบ้านมาถึงกลับไม่ยอมแบ่งปันเสบียง เกิดวิวาทกันจนพระยาจ่าบ้านสังหารอุปราชก้อนแก้วตาย 

แผนที่เส้นทางเดินทัพกลับในคราวไป “ปราบเชียงใหม่” พ.ศ. 2317 ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ขายกทัพไป เนื้อความขาดไป แต่ตอนยกทัพกลับ ได้ระบุเส้นทางเดินทัพ และชื่อบ้านเมืองที่พักค้างแรม และในเอกสารฉบับนี้เองที่เรียกบ้านตากว่า “เมืองตาก” (แผนที่นี้ใช้ Google Map ค้นหา
พบว่าชื่อบ้านเมืองยังคงมีร่องรอยที่ตั้งในปัจจุบัน)

พ.ศ. 2321 พระเจ้ากรุงธนบุรีให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพไปปราบปรามหัวเมืองล้านช้าง ปีถัดมาแม่ทัพทั้งสองจึงแต่งกองข้าหลวงจำนวน 300 คน ไปตรวจราชการหัวเมืองล้านนา ผ่านทางเมืองน่าน แพร่ และลำปาง แต่ข้าหลวงเหล่านั้นโจรกรรมสิ่งของราษฎร ฉุดหญิงไปกระทำอนาจาร สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ชาวบ้านจึงพากันไปร้องทุกข์ พระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง พระยากาวิละแค้นเคืองใจ จึงคุมกำลังคนไปไล่แทงฆ่าฟันข้าหลวงเหล่านั้นตายไปจำนวนมาก

พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบเรื่อง จึงให้ตราหมายเรียกตัวพระยากาวิละลงมากรุงธนบุรี มีตราไปถึงสามครั้งแต่พระยากาวิละก็ไม่มา เพราะรู้ตัวว่าตนกระทำผิดจะต้องพระราชอาญาอย่างแน่นอน พระยากาวิละจึงคิดทำความดีความชอบทำราชการเผื่อจะได้การลดโทษ โดยยกทัพไปตีเมืองลอและเมืองเทิง กวาดต้อนได้ผู้คนเป็นอันมาก จากนั้นพระยากาวิละและพระยาจ่าบ้านลงไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่กรุงธนบุรี พร้อมถวายบรรณาการทั้งสิ่งของและผู้คนที่กวาดต้อนมาได้จากสงครามครั้งนั้น

“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ” วาดโดย สนั่น ศิลากรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ 17 ฉบับที่ 875 วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2528

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระบรมราชวินิจฉัยพิพากษาพระยากาวิละ ข้อหาทำร้ายข้าหลวง และพิพากษาพระยาจ่าบ้านข้อหาฆ่าอุปราชก้อนแก้ว โดยให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนคนละ 100 ที

ส่วนพระยากาวิละมีความผิดอีกประการ คือ ขัดท้องตราไม่มาตามเรียก จึงให้ลงพระราชอาญาตัดขอบหูพระยากาวิละทั้งสองข้าง แล้วเอาตัวทั้งสองไปขังคุก

พระยากาวิละขอพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปทำราชการไถ่โทษ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีพระบรมราชานุญาตคืนยศพระยากาวิละ และให้ปกครองเมืองลำปางตามเดิม แต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ไว้วางพระราชหฤทัยพระยาจ่าบ้าน จึงให้จำคุกต่อไป

พระยากาวิละเมื่อกลับถึงเมืองลำปาง จึงรวบรวมกำลังไพร่พลได้ 300 คน ไปตีเมืองเชียงแสนเป็นการทำราชการไถ่โทษ แม้จะขาดเสบียงจนต้องกินน้ำต้มข้าวประทังชีวิต แต่ด้วยความอุตสาหะและความเก่งกล้าของพระยากาวิละ จึงพิชิตเชียงแสนได้สำเร็จ ส่วนพระยาจ่าบ้านก็ถูกจองจำจนล้มป่วยและตายในคุกที่กรุงธนบุรี

เนื่องจาก “หู” เป็นอวัยวะสำคัญในการได้ยิน “เสียง” การที่พระยากาวิละไม่ยอมลงมาเข้าเฝ้าตามตราหมายเรียกตัวถึงสามครั้ง จึงเสมือนเป็นพวกดื้อแพ่งทำเป็น “หูทวนลม” คือได้ยินแต่นิ่งเฉย ทำเป็นไม่ได้ยิน ดังนั้นการเฉือนหูจึงเหมือนเป็นการ “แก้เผ็ด” เป็นการลงพระราชอาญาที่รุนแรง และสะท้อนว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแค้นเคืองเจ้ากาวิละอยู่ไม่น้อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

สุรพล ดำริห์กุล. (2545). แผ่นดินล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

พงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. (2504). กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองรัตน์. (ฉบับออนไลน์จาก หอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ตรัง, พงศาวดาวโยนก)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2562