สง่า มะยุระ ไม่ใช่แค่ยี่ห้อพู่กัน แต่คือช่างเขียนระดับครู ผู้ซ่อมจิตรกรรมวัดพระแก้ว

สง่า มะยุระ ซ่อมภาพ จิตรกรรมฝาผนัง ที่ ระเบียงคด วัดพระแก้ว
สง่า มะยุระ ขณะซ่อมภาพเขียนเรื่องรามเกียรติ์ที่พระระเบียงคดวัดพระศรีรัตรศาสดาราม พ.ศ. 2515 (ภาพจากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสง่า มะยุระ)

ชื่อ สง่า มะยุระ คงทำให้หลายคนคิดถึง “พู่กัน” ที่เราส่วนมากใช้กันก็คือ “ภู่กัน สง่า มะยุระ” พู่กันของไทยยี่ห้อแรกที่สง่าคิดทำขึ้น จากความชำนาญส่วนตัว เพราะเขาคือช่างเขียนฝีมือระดับ “ครู” ที่ต้องใช้พู่กันทำงานมาตลอด จนกลายเป็นเจ้าของโรงงานพู่กันแห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ สง่ายังเป็นช่างเขียนระดับครู ผู้ฝากผลงานจิตรกรรมไว้ที่ ระเบียงคด วัดพระแก้ว อีกด้วย 

สง่า มะยุระ (20 สิงหาคม พ.ศ. 2452 – 12 กันยายน พ.ศ. 2521) บ้านเกิดอยู่ที่ตำบลวังยางใหญ่ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี หลังจบการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนวัดสัปรสเทศ ก็ไปเรียนวิชาวาดเขียนกับอาจารย์อู๋ ที่วัดมะนาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ภายหลังปลัดหรุ่น เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง พาสง่าไปฝากไว้ที่อาจารย์ม้วน วัดสุวรรณาราม ในคลองบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี จึงได้เรียนเขียนกับครูสอิ้ง ที่ต่อมาพาไปเขียนลายรดน้ำที่วัดพระเชตุพน

ภาพถ่าย สง่า มะยุระ
สง่า มะยุระ (ภาพจากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพฯ )

ก่อนจะเริ่มทำงานงานเขียนเป็นอาชีพเต็มตัว โดยเริ่มจากสมัครเป็นช่างเขียนที่ร้านรับจ้างเขียนพานแว่นฟ้า และตู้มาลัยแถวหลังวัดมหาธาตุ ต่อมา ได้มาช่วยหลวงเจนจิตยงค์เขียนโถกะยาคู (ที่ใช้ฟักทองกลึงเป็นโถมีฝาปิด) ให้กับกรมพระสวัสดิ์ ด้วยเพราะฝีมือเป็นที่น่าพอใจ หลวงเจนจิตยงค์จึงชวนไปช่วยเขียนลายรดน้ำประตูหน้าต่าง โบสถ์วัดสุวรรณคีรีในคลองบางกอกน้อย ฯลฯ

เมื่ออายุครบบวช สง่าก็เข้าพิธีอุปสมบท และจำพรรษาที่วัดสุวรรณาราม และได้ทำงานชิ้นสำคัญ คือ การเขียนภาพจิตรกรรมที่ ระเบียงคด วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพสง่า ครอบครัวบันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“พอบวชได้ไม่นานคุณพ่อก็ไปเขียนที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คุณพ่อเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่ฝาผนังระเบียงคด ดังที่ปรากฏอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้”

ซึ่งตรงกับที่ จักรพันธุ์ โปษยกฤต บันทึกไว้ว่า “คุณลุงสง่า มะยุระ เป็นช่างเขียนรุ่นแรกที่ได้รับเชิญให้มาเขียนซ่อมภาพระเบียงวัดพระแก้ว ในการอนุรักษ์ครั้งใหญ่นี้ เนื่องจากช่างรุ่นแรกเป็นช่างที่ได้เคยเขียนซ่อมมาแล้ว เมื่อครั้งฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงได้ถูกเชิญให้มาเขียนซ่อมอีกครั้งในรัชกาลที่ 9 นี้ ช่างรุ่นแรกจึงเป็นช่างเขียนอาวุโส อยู่ในวัยหกสิบกว่าปีขึ้นไปทั้งนั้น ส่วนช่างรุ่นสอง คือ รุ่นข้าพเจ้า ต้องมีการสอบฝีมือดูความสามารถเสียก่อน ก่อนที่จะได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปทำการซ่อม”

ภาพ เรื่อง รามเกียรติ์ ที่ ระเบียงคด วัดพระแก้ว ซ่อมโดย สง่า มะยุระ
ภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่พระระเบียงคด วัดพระแก้ว ที่สง่าเขียนไว้ในสมัย ร. 7 (ภาพจากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพฯ)

การทำงานซ่อมพระระเบียงคดครั้งนั้น จักรพันธุ์ได้ทำงานร่วมกันช่างเขียนอาวุโส ที่เขาเรียกว่า “ลุง” รวมถึง “ลุงสง่า” ที่ทำงานอยู่ใกล้ๆ เพราะจักรพันธ์ุต้องเขียนห้องที่ 159 และ 160 ส่วนสง่าเขียนห้อง 161 [ห้องในที่นี้ คือ พื้นที่ระเบียงจากเสาในผนังระเบียงต้นหนึ่ง ถึงเสาในผนังอีกต้นหนึ่ง นับเป็นหนึ่งห้อง] และได้บันทึกเทคนิค วิธีการทำงานของช่างรุ่นใหญ่ ที่เห็นไว้ว่า

“การที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเข้ามาร่วมทำงานกับช่างเขียนอาวุโสเหล่านี้ ทำให้ได้เห็นวิธีการทำงานของช่างแต่ละท่าน อันเป็น ‘กรรมวิธี’ ที่ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย ในที่นี้จะเล่าถึงคุณลุงสง่า มะยุระ โดยเฉพาะ เพราะนั่งร้านอยู่ติดกัน ได้สังเกตเห็นการทำงาน อันประณีต ล้างพู่กันอย่างพิถีพิถันทุกครั้งที่เสร็จงาน ไม่ปล่อยพู่กันเปื้อนสีทิ้งไว้จนแห้งแข็ง ไม่แช่พู่กันทิ้งไว้ค้างคืนจนปลายงอ ฯลฯ

ช่างเขียนภาพผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ มักจะร่างตัวละครทั้งหมดด้วยหมึกจีน แล้วลงพื้นฉากหลังกลบตัวละครทั้งผืน จึงค่อยเขียนสีและปิดทองตัดเส้นตัวละครที่ร่างไว้แล้วตั้งแต่ตอนต้น โดยหมึกจีนที่ร่างไว้จะขึ้นมาจากพื้นให้เห็นรางๆ พื้นฉากหลังจะไม่มีวันกลบเส้นหมึกจีนนั้นได้มิด

แต่สำหรับคุณลุงสง่า ท่านร่างภาพทั้งหมดด้วยดินสอดำบ้าง ชอล์คบ้าง ลงไปบนพื้นผนังขาวๆ แล้วระบายสีเสร็จไปเป็นส่วนๆ จากส่วนบนของผนังลงมาส่วนกลางและล่างตามลำดับ โดยระบายท้องฟ้าจนเสร็จสรรพ แล้วมาระบายสีปราสาทราชวัง เว้นตัวละครไว้ เป็นสีขาวของพื้นผนัง ภาพร่างตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์เหล่านี้ ร่างไว้อย่างละเอียดละออทุกสัดส่วน โดยร่างลงบนกระดาษแล้วลอกลงผนังอีกที แต่ส่วนที่เป็นปราสาทราชวัง ร่างลงไปบนผนังเลย

เมื่อเขียนฉากหลังเรียบร้อยแล้ว จึงลงสีตัวละคร ระบายสีตัวและเครื่องนุ่งห่มก่อน แล้วใช้รงระบายส่วนที่เป็นชฎาและเครื่องประดับ แล้วจึงทายางมะเดื่อทับรงเพื่อปิดทอง ตัดเส้นในขั้นต่อไป การตัดเส้นและเขียนหน้าภาพ ข้าพเจ้าสังเกตเห็นคุณลุงสง่าใช้ไม้ยาวทำสะพานรองมือทุกครั้ง ไม่เคยใช้มือขวาทาบไปบนพื้นผิวผนังเลย ด้วยเกรงว่าเส้นสีแดงที่ตัดไปบนทองจะติดเหงื่อมือขึ้นมา

สำหรับส่วนที่เป็นต้นไม้ ช่างเขียนอาวุโสทุกคนใช้รากลำเจียก หรือไม่ก็เปลือกกระดังงาทุบตัดปลายให้พอดี แช่น้ำจนนุ่ม ใช้แจะสีทำพุ่มพฤกษ์ต่างๆ ข้าพเจ้าก็ได้รับแจกเปลือกกระดังงาและรากลำเจียกด้วย และได้เรียนรู้วิชาการใช้จากช่างเขียนที่ทำอยู่ผนังติดกัน คือ คุณลุงสง่า มะยุระ…”

ส่วนกิจการพู่กันนั้น เกิดขึ้นภายหลังจากที่สง่าแต่งงาน (พ.ศ. 2479) เพื่อสร้างหลักสร้างฐานให้ตนเองและครอบครัว โดยในระยะแรกเป็นทำขึ้นเพียงจำนวนน้อย แล้วนำไปขายในหมู่เพื่อนฝูงที่เป็นช่างด้วยกัน ก่อนจะขยายกิจการ จนตั้งเป็นโรงงานผลิตพู่กัน

วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2486 สง่าจัดทำ พู่กัน ชุดหนึ่ง เพื่อมอบแก่ นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งจอมพล ป. ได้มอบเงิน 400 บาท เพื่อเป็นรางวัล ในฐานะที่สง่าเป็นคนไทยคนแรก ที่คิดริเริ่มประดิษฐ์พู่กันขึ้นในประเทศ ทั้งสั่งให้หน่วยงานราชการซื้อพู่กันของสง่า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลขณะนั้น ที่สนับสนุนสินค้าที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อคนไทย

ส่วนผลงานในฐานะช่างเขียนอาวุโส ที่สง่าฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง นอกจากภาพจิตรกรรมที่ ระเบียงคด วัดพระแก้ว แล้ว สง่ายังเขียนและออกแบบลายเรือนแก้วประตู หน้าต่างและหน้าบันพระอุโบสถให้แก่วัดต่างๆ เช่น วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) กรุงเทพฯ, วัดสัตหีบ, วัดก่อไผ่ ซึ่งสง่าเขียนให้ด้วยศรัทธาโดยไม่รับค่าจ้าง

หน้าบัน พระอุโบสถ วัดราชบูรณะ
หน้าบันพระอุโบสถวัดราชบูรณะ กรุงเทพฯ ภาพเล็กมุมซ้ายเป็นภาพร่างที่สง่าออกแบบ (ภาพจากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพฯ)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสง่า มะยุระ  ณ วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2521


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2564