ดูจิตรกรรมฝาผนังโบราณ เห็นขบวนการวิทยาศาสตร์?!?

ภาพ จิตรกรรมฝาผนัง วัดคงคาราม ราชบุรี
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคารามจังหวัดราชบุรี (ภาพจากจิตรกรรมฝาผนังหนึ่งในสยาม ของสำนักพิมพ์เมืองโบราณ)

จิตรกรรมฝาผนัง ตามโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ศาลา ฯลฯ ของวัดต่าง ๆ ที่นอกจากจะแสดงถึงฝีมือของผู้เป็นช่าง, บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ, เพิ่มความสวยงามให้กับอาคารสถานที่แล้ว ยังแสดงถึงความรอบรู้ของช่างโบราณที่ไม่รู้จักวิชาวิทยาศาสตร์ แต่มีความรู้เรื่องปฏิกิริยาทางเคมีเป็นอย่างดี

ชมพูนุท ประศาสน์เศรษฐ อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “จิตรกรรมฝาผนังไทยโบราณกับขบวนการวิทยาศาสตร์” (ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน  2528) โดยขอสรุปย่อมาเพียงบางส่วนมานำเสนอ

ช่าง ซ่อม จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุทัศน์ฯ
ช่างกำลังซ่อมภาพจิตกรรมที่วัดสุทัศน์ฯ (ภาพจากกลุ่มเผยแพร่ กรมศิลปากร)

วิทยาศาสตร์ในจิตรกรรมฝาผนังไทย

เริ่มตั้งแต่การเตรียมปูน ใช้หินเผาไฟแล้วมาแช่น้ำเป็นเป็นแรมเดือน (ยิ่งนานยิ่งดี) ก่อนนำมาผสมกับทราย บ้างก็ผสมน้ำอ้อยด้วยเพื่อให้เหนียว แล้วจึงโบกไปบนอิฐที่ก่อไว้ สำหรับปูนฉาบนั้นเตรียมโดยให้เปลือกหอยเผาแล้วนำมาแช่น้ำนานๆ แล้วผสมกับทรายนำมาฉาบผนัง

เทคนิคจิตรกรรมฝาผนังโบราณของไทย ส่วนใหญ่เป็นเทคนิคแบบเทมเพอร่า (Tempera techniques) คือการใช้กาวผสมกับสีแล้ววาดไปบนผนังหรือรองพื้นที่แห้ง กาวที่ใช้นั้นมาจากหนังสัตว์หรือจากยางต้นไม้

ก่อนจะลงมือเขียนสีที่ผนัง ช่างจะล้างผนังด้วยน้ำใบขี้เหล็กทุกวันเช้าเย็นจนปูนหมดความเค็ม “ความเค็ม” เป็นภาษาที่ช่างใช้เล่าสืบกันมา พิจารณาทางเคมีแล้วคือความเป็นด่าง จะรู้ได้อย่างไรว่าผนังปูนหมดความเค็ม ก็ทดสอบได้ด้วยการใช้ผงขมิ้นมาแตะดู ถ้าผงขมิ้นยังคงเป็นสีเหลืองก็ต้องล้างต่อไป จนกว่าทดสอบแล้วผงขมิ้นจะเปลี่ยนเป็นสีแดง

ล้างผนังได้ที่และแห้งแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องเตรียมรองพื้นสำหรับเขียนสี โดยใช้ดินสอพองผสมกับกาวน้ำเม็ดมะขามทาบางๆ บนผนัง (ดินสอพองต้อง “เกรอะดินสอพอง” ก่อน โดยเอาละลายน้ำล้างเอาฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกทิ้งไป ปล่อยให้ตกตะกอนนอนก้น จึงค่อยนำผสมใช้ทารองพื้น)

เมื่อรองพื้นที่ทาแห้งก็ลงมือเขียนสี ซึ่งสีที่ใช้จะบดละเอียดแล้วผสมกับกาว ซึ่งได้จากยางมะขวิด โดยเอากาวมาละลายน้ำแล้วผสมกับสีวาดไปบนผนังที่เตรียมไว้

คราวนี้มาดูว่าเทคนิคของช่างโบราณสอดคล้องกับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์อย่างไร

การนำหินและเปลือกหอยมาทำปูนนั้นมีหินปูน (แคลเซียมคาร์บอเนต) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเมื่อถูกเผาจนได้ที่หินปูนจะกลายเป็นปูนดิบ (quick lime หรือแคลเซียมออกไซด์) และเมื่อนำปูนดิบมาแช่น้ำ ปูนดิบจะทำปฏิกิริยากับน้ำเปลี่ยนสภาพเป็นปูนสุก (slaked lime หรือแคลเซียมไฮดรอกไซด์)

ที่ต้องแช่ปูนดิบในน้ำนานๆ เพื่อให้ปูนดิบทำปฏิริยากับน้ำได้เต็มที่กลายเป็นปูนสุกหมด หากปูนที่นำไปผสมฉาบผนังมีปูนดิบปนอยู่มากจะทำให้ผนังไม่แข็งแรงเปราะแตกง่าย

หลังจากผสมปูนฉาบบนผนังทิ้งไว้ ปูนสุกจะทำปฏิกิริยากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีอยู่ในอากาศกลายกลับเป็นหินปูน เป็นแผ่นผนังที่แข็งแรง ทรายที่ผสมปูนจะช่วยป้องกันไม่ให้ผนังแตกร้าวเมื่อปูนแห้ง

การล้างผนังปูนด้วยน้ำใบขี้เหล็กก็เพื่อกำจัดด่างในผนัง เนื่องจากปูนสุกที่มาผสมฉาบนี้มีคุณสมบัติเป็นด่างที่แรง และไม่ได้กลายสภาพเป็นหินปูนหมด ยังคงมีปูนสุกหลงเหลือในผนัง ซึ่งทำให้ผนังมีความเป็นด่างอันจะเป็นอันตรายต่อสีบางตัวในการเขียนจิตรกรรม เช่น สีเขียว สีน้ำเงิน ที่เป็นสารประกอบของทองแดง และตามปฏิกิริยาทางเคมีสิ่งที่จะทำลายด่างได้ดีคือกรด

ใบขี้เหล็ก ล้าง ปูน หาย เค็ม
ใบขี้เหล็กใช้ล้างปูนให้หายเค็ม (ภาพจาก wikipedia.irg)

ช่างไทยโบราณเลือกใช้น้ำใบขี้เหล็กในการล้างผนัง เพราะเป็นการเลือกวัสดุได้เหมาะกับวัตถุประสงค์ของงาน เพราะในใบขี้เหล็กมีสารที่มีคุณสมบัติเป็นกรด คือ กรดพาราคูมาริก แคสเซียมมิน และแคสเซียโครโมน และสารกรดพวกนี้จะละลายอยู่ในน้ำใบขี้เหล็ก

การใช้ผงขมิ้นแตะผนังและดูการเปลี่ยนสีของขมิ้น ทั้งนี้เพราะในขมิ้นมีสารที่เรียกว่าเคอร์เคอร์มิน ซึ่งทำให้ขมิ้นเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อสัมผัสกับด่าง แต้ถ้าสัมผัสกับสิ่งที่ไม่เป็นด่าง ขมิ้นจะไม่เปลี่ยนสี

สำหรับการเกรอะดินสอพองนั้นเป็นการกำจัดสิ่งสกปรกและดินออกจากดินสอพอง

จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบชั้นรองพื้นของจิตรกรรมฝาผนังแห่งหนึ่งกับดินสอพองที่เกรอะแล้วด้วยวิธีอินฟราเรดสเปค โตรสโคบี วิธีทางเคมีและวิธีใช้กล้องจุลทรรศน์แบบโพลาไรซิ่ง พบว่าชั้นรองพื้นของจิตรกรรมกับดินสอพองที่เกรอะแล้วมีส่วนประกอบส่วนใหญ่ที่เหมือนกันคือแคลเซียมคาร์บอเนต

จึงสันนิษฐานว่าชั้นรองพื้นของจิตรกรรมแห่งนั้นอาจเตรียมมาจากดินสอพองก็ได้

ทั้งหมดนี้คือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากเทคนิคจิตรกรรมฝาผนังไทยโบราณ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 2561