ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วันนี้ สินค้าญี่ปุ่น เป็นของธรรมดาที่สังคมไทยเคยชินและคุ้นตา เรียกว่าใช้สินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นตั้งแต่หัวจรดเท้ายังอาจจะน้อยไป เพราะตั้งแต่ ยาสีฟัน, น้ำมันใส่ผม, นาฬิกา, หม้อหุงข้าว, รถยนต์ ฯลฯ ทั้งหมดที่เราใช้กัน ส่วนใหญ่ก็เป็น สินค้าญี่ปุ่น หากทั้งหมดนี้เพิ่งเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 2520 เมื่อนักลงทุน อเมริกาหอบเงินทุนกลับบ้านเกิด เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์การเมืองไทย
ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การเมืองภายในอย่าง 14 ตุลาคม 16 และ 6 ตุลา 19 เมื่อรวมกับสถานการณ์ภายนอกเมื่อเวียดนาม และเขมร “แตก” ในเวลาไล่เลี่ยกันราวๆ พ.ศ. 2518 ฯลฯ นั่นทำให้นักลงทุนต่างชาติต่างพากันถอนการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนอเมริกัน เพราะเมื่ออเมริกาถอนฐานทัพออกไป บริษัทอเมริกันจำนวนมากเกรงว่าเมืองไทยจะตกเป็นคอมมิวนิสต์ จึงปิดกิจการในไทยกลับบ้านเกิดกัน
แต่ขณะที่เงินดอลลาร์ไหลออก เงินเยนจำนวนมากกลับไหลเข้า
นักลงทุนชาวญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2505 แต่ในทศวรรษ 2520 เงินลงทุนจากญี่ปุ่นสูงกว่าจากสหรัฐเกือบ 3 เท่า โดยเข้ามาลงทุนในกิจการประกอบรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนั้นก็ยังมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยเฉพาะสิ่งทอ ทั้งเพื่อขายในเมืองไทยเองและเพื่อส่งออก นั่นทำให้เห็นสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นแทนแบรนด์อเมริกัน
จนมีนักกวีแต่งกลอนเสียดสีเอาไว้ว่า
เช้าตื่นขึ้นมารีบคว้าก่อน
ไวท์ไลอ้อน สีฟันมันหนักหนา
เนชั่นแนล หม้อหุงปรุงน้ำชา
แต่ผมทาน้ำมันชื่อ ตันโจ
นุ่งผ้าไทยโทเรเทโตร่อน
ครั้นถึงตอนออกไปคาด ไซโก้
ข่าวประชาสัมพันธ์ฟัง ซันโย
เอารถ โตโยต้า ขับไปรับแฟน
อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ไม่มีการเดินขบวนประท้วงต่อต้าน เหมือนที่นักศึกษาเคยเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2515 หรือประท้วงนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (ทานากะ) ที่มาเยือนไทยในปี 2518
เพราะทศวรรษ 2520 รัฐบาลญี่ปุ่นปรับปรุงภาพพจน์ในเมืองไทยไปจากเดิมด้วยการลงทุน โดยลงทุนด้านวัฒนธรรม เช่น สนับสนุนให้นักศึกษา, นักวิชาการ, สื่อ มีโอกาสไปศึกษาดูงานได้รู้จักสังคมญี่ปุ่น เพื่อให้คนไทยยอมรับญี่ปุ่นมากขึ้น
ขณะที่นักลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทย เป็นไปในลักษณะการร่วมทุนกับทุนไทย โดยเลือกหุ้นส่วนไทยที่เป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่ และดำเนินการบริหารร่วมกันกับหุ้นส่วนคนไทย ซึ่งช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจระดับนำของไทย
พ.ศ. 2523 นายบุญชู โรจนเสถียร รองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านนโยบายเศรษฐกิจ เสนอให้รัฐบาลและนักธุรกิจร่วมมือกันสร้าง “บรรษัทประเทศไทย” ตามอย่างหนังสือชื่อ Japan Inc. ว่าด้วยความสําเร็จของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยให้รัฐบาลบริหารจัดการประเทศไทยเสมือนเป็นบริษัทธุรกิจ หากความพยายามนี้ล้มเหลว
แต่ผู้นำด้านธุรกิจก็ได้ชักจูงให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไปในแนวทางที่เอื้อกับวิสาหกิจเอกชน โดยให้สมาคมผู้แทนธุรกิจต่างๆ เช่น สมาคมอุตสาหกรรม หอการค้า และสมาคมธนาคาร ช่วยกันกดดัน ในที่สุด พ.ศ. 2524 รัฐบาลจึงจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (ก.ร.อ.) เพื่อประสานงานกันระหว่างคณะกรรมการจากสมาคมต่างๆ เหล่านี้กับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ผู้นำจากภาคเอกชนใช้ลู่ทางนี้ลดปัญหาความล่าช้าของราชการ, ลดกฎเกณฑ์ที่เป็นข้อจํากัดต่อธุรกิจ, การคอร์รัปชั่น ฯลฯ
ขณะที่นายบุญชูยังมีแผนให้เมืองไทยดำเนินรอยตามแนวทางของญี่ปุ่นและเสือเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง) โดยให้ไทยผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2510 เทคโนแครต เขียนยุทธศาสตร์ดังกล่าวลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (แผน 5 ปี) ส่วนผลสำเร็จนั้นก็เป็นอย่างที่เราทราบกัน
อ่่านเพิ่มเติมเติม :
- ผู้แทนราษฎรชุดแรกของไทยไปดูงานที่ญี่ปุ่นเห็นอะไร? ได้อะไร?
- “ยอดโจรญี่ปุ่นยุค 60” ปลอมเป็นตำรวจชิงเงินสด “300 ล้าน” ลอยนวลจนถึงทุกวันนี้
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 14 (ปรังปรุงใหม่) มีนาคม 2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2566