ผู้แทนราษฎรชุดแรกของไทยไปดูงานที่ญี่ปุ่นเห็นอะไร? ได้อะไร?

คณะ ผู้แทนราษฎร ไป ดูงาน ที่ ประเทศ ญี่ปุ่น พ.ศ. 2478
คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของไทยที่เดินทางไปดูงานประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2478 (ภาพจาก ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร)

สินค้าญี่ปุ่น, อาหารญี่ปุ่น, สถานที่ท่องเที่ยวญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นที่นิยมชมชอบของคนไทยจำนวนไม่น้อยมานาน ดูเหมือนว่าบรรดาประเทศในเอเชียด้วยกัน “ญี่ปุ่น” เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไทยใช้เป็นแบบอย่างศึกษาการพัฒนา จึงมีการส่ง “ผู้แทนราษฎร” หรือเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่นอยู่เป็นระยะ

เมื่อ 80 กว่าปีก่อน รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาก็ส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปดูงานญี่ปุ่นเช่นกัน ญี่ปุ่นในวันนั้นเป็นอย่างไร, คณะดูงานเห็นอะไร ได้อะไร ฯลฯ คงต้องขอสรุปจากผลงานของ ณัฐพล ใจจริง ที่ใช้เวลาค้นเคว้าข้อมูลถึง 10 ปี ที่ชื่อว่า “ตามรอยอาทิตย์อุทัย:แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร” (สนพ.มติชน)

รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาจัดสรรงบปี 2477 ให้สภาผู้แทนราษฎรและข้าราชการไปศึกษาดูงานการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเพื่อนําความรู้กลับมาปรับปรุงประเทศ

ผู้แทนราษฎรขณะนั้น ประกอบด้วย ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ (สมาชิกประเภท 2 มาจากการแต่งตั้ง) หัวหน้าคณะ, ร.ต. ถัด รัตนพันธ์ จังหวัดพัทลุง, นายทองกระจาย รัชตะวรรณ์ จังหวัดปทุมธานี, หลวงนาถนิติธาดา จังหวัดชัยภูมิ, ขุนประเจตดรุณพันธ์ จังหวัดพิษณุโลก, นายเลมียด หงสประกาศ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นายไสว อินทรประชา จังหวัดสวรรคโลก, นายหอมจันทน์ รัตนวิจารณ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น

การไปญี่ปุ่นครั้งนี้ใช้เวลาราว 4 เดือน (3 เมษายน – 26 กรกฎาคม ปี 2478) ใช้เวลาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นที่เป็นเป้าหมายหลัก โดยกำหนดเส้นทางการดูงานในเมืองต่าง ๆ เช่น โกเบ, โตเกียว, โยโกฮามา, นิคโก้, อาโคเน, โตโกซูเกะ, นาโงยา, โอซากา ฯลฯ

คณะผู้แทนราษฎรขึ้นฝั่งที่โกเบเมื่อวันที่ 26 เมษายน ปี 2478 ด้วยเรือเปรซิเดนท์ คูลิช โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นและผู้แทนสถานอัครราชทูตไทยประจำญี่ปุ่นมาต้อนรับ จากนั้นจึงเดินทางไปสถานทูตไทยที่โตเกียว ก่อนที่จะเข้าพบนายกรัฐมนตรีโอกาดะ (Keisuke Okada) นายโก ฮิโรตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเข้าเฝ้าเจ้าชาย ฟูมิมาโร โคโนเอะ (Prince Furmirnaro Konoe) ประธานสภาสูงและประธานสมาคมไทยในญี่ปุ่น ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ในพระราชพิธีตรวจพลในฐานเฉลิมพระชนมพรรษาอีกด้วย

และต่อไปนี้คือสิ่งคณะผู้แทนฯ พบเห็นในการดูงานและบันทึกไว้

เริ่มจากลักษณะของชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นนั้น ร.ต. เนตร บันทึกว่า ชีวิตของคนญี่ปุ่นดำเนินไปด้วยความเรียบง่าย แม้มองจากภายนอกแล้ว คนญี่ปุ่นเป็นผู้มีความสุภาพอ่อนโยน แต่ภายในจิตใจของพวกเขานั้นมีความกล้าแข็ง

หลวงนาถนิติธาดา บันทึกวิถีวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นว่า “คนญี่ปุ่นเกิดมาเพื่อทำงาน หากไม่นับเวลานอน พวกเขาหายใจเป็นการทำงานทั้งหมด ข้าพเจ้าไม่เคยพบเห็นคนญี่ปุ่นเดินฉุยฉายบนท้องถนน” นอกจากนี้ยังคงมีวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่นดังที่เห็นว่า การแต่งกายแบบญี่ปุ่นด้วยชุดกิโมโน เสื้อผ้าและอุปกรณ์แต่งกายเป็นของใช้ที่ผลิตในญี่ปุ่น

“เอเชีย” นามปากกาของสมาชิกสภาผู้แทนฯ คนหนึ่งในคณะ บันทึกว่า เมื่อเขาไปถึงญี่ปุ่น เขาสัมผัสได้ถึงความสุภาพอ่อนโยนทุกหนแห่งและในทุกอาชีพ ในครอบครัวคนญี่ปุ่น เมื่อเด็กทำความผิด พ่อแม่ตำหนิเด็กเพียงว่าไม่ใช่คนญี่ปุ่นแล้วหรือ เพียงแค่นี้ เด็กคนนั้นจะอับอายมาก และเห็นว่า “วัฒนธรรมของญี่ปุ่นในด้านจรรยานี้ มิได้ส่งมาจากยุโรป แต่มาจากเนื้อในของวัฒนธรรมญี่ปุ่นเอง เป็นของชาวเอเชียอย่างแท้จริง” นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังมีจิตสำนึกช่วยกันรักษาสาธารณสมบัติ ทำให้ทรัพย์สินของสาธารณะมีอายุการใช้งานยาวนาน

“เอเชีย” ยังบันทึกถึงสภาพบ้านเมืองว่า ถนนในเมืองที่พวกเขาพบเห็นมีขนาดใหญ่ เทศบาลราดพื้นถนนด้วยยางแอสฟัลท์ ทำให้ประชาชนมีความสะดวกในการเดินทาง การคมนาคมในเมืองมีความสะดวก มีพาหนะหลายชนิด เช่น รถราง รถประจำทาง และทุกสี่แยกมีไฟจราจร การจราจรไม่ติดขัด

ด้านการพาณิชยกรรมและบริการที่พวกเขาพบเห็น ในญี่ปุ่นมีการจัดตั้งสมาคมช่วยเหลือกันทางการค้า สมาคมวิชาชีพ เป็นการรวมตัวเพื่อช่วยเหลือกันของประชาชน แบ่งได้เป็น 3 สมาคมใหญ่ คือสมาคมเกษตร, สมาคมอุตสาหกรรม และสมาคมการค้า รวมทั้งการมีมารยาทระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอีกด้วย คณะพบเห็นร้านค้าสองข้างทางล้วนเป็นของคนญี่ปุ่น ไม่มีพ่อค้าต่างชาติ ส่วนสินค้าที่วางขายในร้านนั้นก็เป็นสินค้าญี่ปุ่น

ในเมืองมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่สะดวกสำหรับการหาซื้อสินค้า พนักงานขายมีความนอบน้อมและบริการห่อสินค้าและส่งสินค้าไปยังบ้านหรือรถยนต์ตามความต้องการของลูกค้า

ด้านการอุตสาหกรรมนั้น ที่โยโกฮามา ได้เยี่ยมชมโรงงานผลิตเบียร์กิริน (Kirin) แม้เครื่องจักรเป็นของนำเข้าจากเยอรมนี แต่วัตถุดิบข้าวสาลี และขวดแก้วเป็นผลผลิตจากญี่ปุ่นเอง ด้วยกระบวนการผลิตที่ทันสมัยมาก ตั้งแต่การบรรจุเบียร์ใส่ขวดและบรรจุขวดเบียร์ใส่ลังนั้น ไม่ต้องใช้แรงงานคนเลย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้คณะดูงานมาก

ส่วนที่โตเกียว ได้ชมอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคหลายโรงงาน เช่น โรงงานผลิตกระดาษบริษัทโอจิ (Oji) ซึ่งเป็นโรงงานทำกระดาษที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น กระบวนการผลิตเริ่มตั้งแต่กระบวนการย่อยเยื่อกระดาษจนเสร็จสิ้นกระบวนการเป็นกระดาษพร้อมใช้งาน, โรงงานผลิตสบู่บริษัทคาโอ (Ca๐) ที่มีกำลังการผลิตวันละ 200,000 ก้อน ฯลฯ

ด้านการศึกษา ร.ต. ถัด รัตนพันธ์ บันทึกว่า ได้เยี่ยมชมการจัดการศึกษาที่หลากหลายในโตเกียว ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย ในระดับอนุบาลนั้น โรงเรียนเน้นให้เด็กเรียนรู้จากการเล่น การร้องเพลง ไม่มีการสอนหนังสือ ระดับประถมและมัธยมนอกจากการเรียนในชั้นเรียนแล้ว ยังเน้นให้นักเรียนมีสุขภาพที่แข็งแรง โดยมีวิชาพลศึกษา ให้นักเรียนออกกำลังกาย มีความอดทนและมีน้ำใจต่อสู้ ในวันหยุดครูจะพาไปทัศนศึกษาด้วยการเดินทางไกลตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นการฝึกฝนให้นักเรียนมีความอดทนและมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล ระดับมหาวิทยาลัยนั้น คณะผู้แทนฯ ได้เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยโตเกียว อิมพีเรียล (Tokyo Imperial University) ซึ่งนักศึกษาญี่ปุ่นมีความตั้งใจเรียนกันมาก

หลวงนาถนิติธาดา บันทึกถึงความประทับใจนับขึ้นฝั่งญี่ปุ่นที่โกเบ เขาจะเห็นครูพาขบวนนักเรียนจำนวนมากเดินทางไกล และการส่งเสริมสุขภาพของนักเรียนของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า “เรื่องแบบนี้ ข้าพเจ้าสังเกตตลอดเวลาที่อยู่ในญี่ปุ่นว่า รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมการออกกำลังกายมาก ข้าพเจ้ามีความเห็นด้วยว่า หากพลเมืองมีสุขภาพแข็งแรงย่อมทำให้ชาติมีความเข้มแข็ง”

“เอเชีย” บันทึกการจัดการศึกษาของญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นสร้างชาติเป็นมหาอำนาจ โดยเริ่มต้นที่หลักสูตรของกระทรวงศึกษา การศึกษาทุกระดับชั้นในญี่ปุ่นเน้นการปลูกฝังความมีวินัย, ความรักชาติด้วยการบริจาคทรัพย์หรือเสียสละเป็นสิ่งที่พบเห็นทั่วไป ในญี่ปุ่น เด็ก ๆ ช่วยกันรวบรวมขวดหมึกเปล่าและกระดาษจากโรงเรียนและบ้านไปขายเพื่อรวมเงินซื้อเครื่องบินให้รัฐบาล เมื่อเกิดภัยพิบัติทั้งราชการและประชาชนต่างร่วมกันช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ เขาสรุปว่าการจัดการศึกษาของญี่ปุ่นทำให้ พลเมืองทั้งหมดของญี่ปุ่น คือ คนเดียวกัน”

ด้านกิจการของรัฐและการทหารนั้น คณะผู้แทนฯ เยี่ยมชมกิจการของรัฐหลายประเภท เช่น โกดังเก็บข้าวเปลือก สถานีประมง สถานีทดลองการเพาะปลูกพันธุ์ข้าวชนิดต่าง ๆ ภายในสถานีมีห้องทดลองทางเคมี มีการทดลองการผสมปุ๋ยกระตุ้นผลผลิต จากนั้น พวกเขาไปดูกิจการประปาของโตเกียว ซึ่งมีขีดความสามารถผลิตน้ำเลี้ยงคนโตเกียวหลายล้านคนได้

อีกทั้งพวกเขาชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจด้วยความให้เกียรติประชาชน ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในญี่ปุ่นนั้น พวกเขาไม่เคยเห็นตำรวจใช้กำลังจับกุมประชาชน และเปรียบเทียบว่า police คือ polite

นอกจากนี้ ยังเยี่ยมชมโรงเรียนนายร้อยทหารบกและฐานทัพเรือโยโกซูกะ ร.ต.เนตร บันทึกว่าประทับใจในกุศโลบายของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ปลูกฝังความรักชาติแก่ประชาชน ด้วยการจัดให้มีพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนและเยาวชนจำนวนมาก เช่น พิพิธภัณฑ์เรือรบมิกาซา เรือลำดังกล่าวเป็นเรือรบที่เคยออกสงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย ที่พอร์ตอาเธอร์ ในแมนจูเรีย

หากมีเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาในญี่ปุ่น นั่นก็คือความเท่าเทียมระหว่างชาย-หญิง

ร.ต.เนตร บันทึกว่า มีการเดินขบวนเรียกร้องความเสมอภาคทางการเมืองของผู้หญิงญี่ปุ่น เนื่องจากปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศระหว่างชาย-หญิง ในสิทธิและความเสมอภาคทางการเมือง ซึ่งเขาเห็นว่า “อาจเป็นเรื่องเดียวที่ไทยดีกว่าญี่ปุ่น”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ณัฐพล ใจจริง. ตามรอยอาทิตย์อุทัย : แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร, สำนักพิมพ์มติชน) มิถุนายน 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2563