ประชุมสภาผู้แทนฯ ครั้งแรกของประเทศ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

การประชุมสภายุคแรกๆ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม (ภาพจากรัฐสภาสาร ปีที่ 17 ฉบับที่ 5 เมษายน 2512)

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (24 มิถุนายน 2475 ) ในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกของประเทศ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อเวลา 14.00-16.00 น โดยแต่งตั้งซึ่งผู้แทนราษฎร, การกล่าวปฏิญาณตน และการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการต่างๆ เพื่อดำเนินงานด้านประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในไทย  ซึ่งมีการบันทึกไว้ในหนังสือรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 1 พ.ศ. 2475, พิมพ์ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ  บางเขน พระนคร (ไม่ทราบผู้จัดทำ และปีที่พิมพ์) สรุปเนื้อหาได้ดังนี้

1. การแต่งตั้งซึ่งผู้แทนราษฎรโดยแต่งตั้งซึ่งผู้แทนราษฎร จำนวน 70 คน  ดังนี้

1.ม.อ.อ. เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์  2. ม.อ.อ. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี 3. ม.อ.อ. เจ้าพระยาพิชัยญาติ  4. ม.อ.อ. พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี  5. ม.อ.ท. พระยามโนปกรณ์ นิติธาดา 6. ม.อ.ต. พระยามานวราชเสวี 7. ม.อ.ต.พระยาศรีวิสารวาจา 8. ม.อ.ต. พระยาไชยยศสมบัติ 9. ม.อ.ต. พระยานิติศาสตร์ ไพศาลย์ 10. ม.อ.ต. พระยามนธาตุราช

11.นายพลตรี พระยาอินทรวิชิต 12. นายพลตรี พระยาประเสริฐสงคราม 13. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ 14. ม. อ.ต. พระยาปรีชานุสาสน์ 15. นายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี 16. ม.อ.ต. พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ 17. ม.อ.ต. พระยาวิชัยราชสุมนตร์ 18. ม.ส.ต. พระยาปรีดานฤเบศร์ 19. นายพันเอก พระยาวิชิตชลธี 20. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช

21. นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเณย์ 22. นายพันตํารวจเอก พระยาบุเรศร์ผดุงกิจ 23. อํามาตย์เอก พระยาอนุมานราชธน 24. อำมาตย์เอก พระยาประมวญวิชาพูล 25. นายนาวาเอก พระประพิณพนยุทธ 26. นายนาวาเอก พระเรียมวิรัชชพากย์ 27. อํามาตย์เอก พระสุธรรมวินิจฉัย 28. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์ 29. นายพันตํารวจโท หลวงแสงนิติศาสตร์ 30. อามาตย์โท พระวุฒิศาสตร์เนติญาณ

31. นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย 32. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย 33. นายพันตรี หลวงสินาดโยธารักษ์ 34. นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม 35. อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม 36. อำมาตย์ตรี หลวงคหกรรมบดี 37. เสวกตรี หลวงนฤเบศร์มานิต 38. นายเรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ 39. รองอํามาตย์เอก หลวงเดชสหกรณ์ 40. รองอํามาตย์เอก หลวงดําริอิศรานุวรรต

41. รองอํามาตย์เอก หลวงสุนทรเทพหัสดิน 4 รองอํามาตย์เอก หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ 43. รองอามาตย์เอก หลวงบรรณกรโกวิท 44. รองอํามาตย์เอก หลวงอรรถสารประสิทธิ์ 45. รองอํามาตย์เอก หลวงอรรถกิตติกำจร 46. รองอํามาตย์เอก หลวงชํานาญนิติเกษตร์ 47. รองอํามาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์48. รองอํามาตย์เอก หลวงอภิรมย์โกษากร 49. รองอํามาตย์เอก ตั้ว ลพานุกรม 50. รองอํามาตย์เอก ประจวบ บุนนาค

51. รองอํามาตย์เอก หม่อมหลวงอุดม สนิทวงษ์ 52. รองอํามาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี 53. รองอํามาตย์โท ทวี บุณยเกตุ54. รองอํามาตย โท จรูญ สิบแสง 55. รองอํามาตย์โท ชุณห์ ปิณฑานนท์ 56. นายวิลาศ โอสถานนท์ 57. นายแนบ พหลโยธิน 58. นายดิเรก ชัยนาม 59.นายวิเชียร สุวรรณทัต 60. นายยล สมานนท์

61.นายสงวน ตุลารักษ์ 62. นายซิม วีระไวทยะ 63. นายหงวน ทองประเสริฐ 64. นายมานิต วสุวัต 65. นายจรูญ ณ บางช้าง 66. นายเนตร พูนวิวัฒน์ 67. นายมังกร สามเสน 68. นายซุ่นใช้ คูตระกูล 69. นายสวัสดิ์ โสตถิทัต 70. นายบรรจง ศรีจรูญ

หากพันเอก พระยาวิชิตชลธีป ป่วยไม่สามารถรับตําแหน่งได้ เสนอที่ประชุมเลือกตั้งผู้อื่นแทนต่อไป

พระยาประมวญวิชาพูล เสนอว่า พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เริ่มการเปลี่ยนแปลงวิธีปกครอง แต่พระยาพหลพลพยุหเสนาทัดทานว่า ไม่มีความปรารถนาในข้อนี้มาแต่ไรๆ เลย หวังแต่เพียงจะถากถางให้เพื่อประโยชน์ของราษฎร 12 ล้านเท่านั้น  ทว่าพระยาประมวญวิชาพูลคัดค้านข้อทัดทานของพระยาหลพลพยุหเสนา และขอให้รับตําแหน่งนี้เพื่อราษฎรต่อไปอีกสักครั้งด้วย พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงได้ตอบรับ

จากนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ได้นําสมาชิกกล่าวปฏิญาณพร้อมกันว่า

ข้าพเจ้า (ออกนามผู้ปฏิญาณ) ขอให้คําปฏิญาณว่าจะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎร และจะช่วยรักษาหลัก 6 ประการของราษฎรไว้ให้มั่นคง

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราช ในการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกัน ลดน้อยลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎร ในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทํา โดยเพิ่มความสามารถ จะร่างโครงการณ์เศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพมีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนั้นไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

เสร็จแล้ว เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรได้เชิญ พระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเปิดประชุมว่า

วันนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสําคัญอันหนึ่งในประวัติการณ์ ของประเทศ อันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจที่จะช่วยกัน ปรึกษาการงานเพื่อนําความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศสยามสืบไป และเพื่อรักษาความอิสสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกําลังกาย กําลังปัญญาเพื่อจะได้ช่วยกันทําการให้สําเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่าน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันทุกประการเทอญ” ที่ประชุมน้อมรับพระกระแสนี้ใส่เกล้า ฯ

จบแล้วสภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมกันต่อไป ในประเด็นสำคัญดังนี้

2.มอบอํานาจให้สภาผู้แทนราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนอว่า บัดนี้ธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้ง ขึ้นสําเร็จแล้วข้าพเจ้าขอมอบการงานปกครองแผ่นดินที่ได้ยึดไว้ให้แก่สภาต่อไปแต่บัดนี้

3.เลือกประธานผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ประชุมเสนอชื่อบุคคล 3 คนด้วยกันคือ (1.) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ว่ามีความรู้ความสามารถดี  เคยเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการอันเป็นตําแหน่งสําคัญมาแล้ว และเป็นผู้ใหญ่เหมาะสําหรับจะรักษาระเบียบการประชุมให้ดําเนินเรียบร้อย ได้ด้วยดี ควรที่จะได้รับตําแหน่งประธานแห่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

(2.)พระยาพหลพลพยุหเสนา แต่เจ้าตัวปฏิเสธเด็ดขาดไม่ยอมรับตําแหน่งนี้ และรับรองว่าควรได้แก่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (3.) พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเจ้าตัวทัดทานว่า โอกาสทํางานเพื่อชาติเพื่อราษฎรให้เต็มกําลังความสามารถ การเป็นผู้แทนราษฎรเพียงเท่านี้ พอจะมีโอกาสทําประโยชน์แก่ราษฎรได้ มากกว่าการเป็นประธาน ด้วยว่าการเป็นประธานไม่มีหน้าที่จะโต้เถียงแสดงเหตุผลในที่ประชุม

ในที่สุดที่ประชุมลงมติเลือก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยปราศจากเสียงค้าน

4. การเลือกรองประธานฯ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กล่าวว่า ระเบียบวาระต่อไปนี้เป็นระเบียบวาระที่จะต้องเลือกรองประธานฯ ที่ประชุมเสนอ (1.) พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (2.) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (แต่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมนขอถอนตัว) (3.)พระยาอินทรวิชิต  ที่ประชุมลงมติเลือก พระยาอินทร วิชิตเป็นรองประธานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยปราศจากเสียงค้าน

5.ประธานคณะกรรมการราษฎร เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กล่าวว่า บัดนี้มาถึงระเบียบวาระที่จะต้องเลือกประธานคณะกรรมการราษฎร ตามธรรมนูญมาตรา 33

พระยาพหลพลพยุเสนา เสนอ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาๆ แถลงว่ารู้สึกเป็นเกียรติยศอย่างใหญ่ยิ่ง แต่ก็หนักใจเป็นอันมาก ขอปรึกษาและสอบถามพระยาพหลพลพยุหเสนากับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ประมาณ 5 นาที จึงจะตอบให้ทราบได้ ผู้แทนราษฎร ทั้งหลายให้ท่านทั้งสามได้มีโอกาสสอบถามและปรึกษากันเสร็จแล้ว พระยามโนปกรณ์นิติธาดาตกลงรับที่ประชุมลงมติเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

6. เลือกกรรมการคณะราษฎร วาระต่อไปที่สภาจะต้องตั้งคณะกรรมการราษฎรอีก 14 นาย โดยประธานคณะกรรมการราษฎรเป็นผู้เลือกเสนอ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเลือกบุคคลต่อไปนี้คือ

1.นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ  2. มหาอํามาตย์ตรี พระยาศรีวิสารวาจา  3. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา 4. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช  5. นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเณย์  6. อํามาตย์เอก พระยาประมวญวิชาพูล 7. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์  8. นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม  9. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย 10. อำมาตย์ตรี หลวง ประดิษฐ์มนูธรรม 11.รองอํามาตย์เอก หลวงเดชสหกรณ์  12. รองอํามาตย์เอก ตั้ว ลพานุกรม 13. รองอํามาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี 14. นายแนบ พหลโยธิน

ซึ่งสมาชิกลงมติคะแนนเลือกสูงเกินครึ่งแล้ว จึงเป็นอันสมบูรณ์ตามธรรมนูญมาตรา 23 ผู้ถูกเลือกเหล่านั้นได้เป็นคณะกรรมการราษฎรตามธรรมนูญมาตรา 33 ต่อไป

7. การตั้งอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมแถลงต่อไปว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับนี้เป็นธรรมนูญชั่วคราว อาจจะยังมีที่บกพร่องอยู่บ้างก็ได้ จึงควรที่จะได้ ผู้มีความรู้ความชํานาญในการนี้เป็นอนุกรรมการตรวจแก้ไขเพิ่ม เดิมเสียใหม่ให้เรียบร้อยบริบูรณ์

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี กล่าวว่า ถ้ากระนั้นขอให้ท่านเลือก ผู้ควรเป็นอนุกรรมการขึ้นชุดหนึ่งแล้วจะได้มอบให้ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนี้แก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ที่ประชุมตกลงเลือก พระยามโนปกรณ์ นิติธาดา, พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี, พระยามานวราชเสวี, พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์, พระยาปรีดานฤเบศร์, หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และหลวงสินาดโยธารักษ์ รวม 7 นาย เป็นอนุกรรมการดังกล่าว

และนี่คือครั้งแรกของการประชุมสภาผู้แทนฯของไทย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 17 ตุลาคม 2562