“สภาฯ ดุ” เมื่อ 80 กว่าปีก่อน เมื่อสมาชิกสภาฯ บางคน “พกอาวุธ” เข้าประชุม

การประชุมสภาฯ พระที่นั่งอนันตสมาคม ปีงบประมาณ
ภาพถ่าย พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อ ค.ศ. 1948 ขณะถูกใช้เป็นสถานที่จัดประชุมรัฐสภา (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

ขอชวนกลับไปดู การประชุมสภาฯ ในยุคแรกๆ ที่ ดุเดือด, เผ็ดร้อน ไม่แพ้ปัจจุบัน เนื่องจากมีสมาชิกสภาฯ บางคน “พกพาอาวุธ” เข้าสภาฯ, นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็มีการสั่งตรวจค้นสมาชิกที่จะเข้าประชุม, และสร้างความไม่พอใจแก่สมาชิกสภา ฯลฯ

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้เขียนไว้ “ประวัติการเมืองไทย 2475-2500” (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 3. ตุลาคม 2544) ว่า

“ในวันที่ 9 มีนาคม (ก่อนการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการ 12 มีนาคมนั้น) รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ มีคำสั่งให้ข้าราชการทหารและพลเรือนลาออกจากการเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง (สมาคมคณะราษฎร) และต่อมาวันที่ 17 มีนาคม สภาผู้แทนราษฎรก็ได้นําเรื่องนี้เข้ามาอภิปราย พร้อมๆ กับการที่หนังสือพิมพ์วิพากษ์ วิจารณ์ปัญหาความขัดแย้งของคณะรัฐมนตรี โดยที่หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ อ้างว่าไม่ทราบรายละเอียดของความขัดแย้ง แต่ก็ถูกกระทรวงมหาดไทย (พระยาจ่าแสนยบดี) ออกคําสั่งห้ามมิให้มีการวิพากษ์วิจารณ์

ในปลายเดือนนับแต่วันที่ 28 มีนาคมซึ่งมีการประชุมคณะรัฐมนตรีใน เรื่องสําคัญดังกล่าวข้างต้น ความแตกแยกของการเมืองระดับสูงทั้งในรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ดังจะเห็นได้จาก เหตุการณ์ในวันที่ 30-31 มีนาคมอันเป็นวันสิ้นสุดปีเก่า (2475) และในวันที่ 1-2 เมษายนขึ้นปีใหม่ (2476) ในวันที่ 30-31 มีนาคมนั้นมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

แต่ก็น่าสนใจว่ามิได้มีการอภิปรายเรื่องของเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งกําลังเป็นปัญหาอยู่แต่ประการใด กลับเป็นเรื่องของการห้ามข้าราชการเป็น สมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งสมาชิกผู้ก่อการฯ 2475 ถือว่าเป็นแผนมุ่งทําลาย คณะราษฎรโดยตรง ในเวลาเดียวกันก็ถือได้ว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ผู้อภิปรายในประเด็นนี้ก็มีนายมังกร สามเสน-นสพ.ศรีกรุง พระยานิติศาสตร์ ไพศาลย์-นายกสมาคมคณะราษฎร นายควง อภัยวงศ์ นายจรูญ สืบแสง ซึ่ง 2 ท่านหลังเป็นสมาชิกผู้ก่อการฯ)

และในการประชุมวันนี้ก็จะเป็นที่กล่าวอ้าง กันว่ามีสมาชิกสภาฯบางนายพกอาวุธเข้าประชุมสภา ก่อให้เกิดความหวาดกลัว ขึ้นในหมู่สมาชิก ทําให้ไม่กล้าเข้าร่วมประชุม และก็จะกลายเป็นข้ออ้างใน การที่รัฐบาลจะนําทหารเข้ามาตรวจค้นอาวุธสมาชิกในวันรุ่งขึ้น 31 มีนาคม อันเป็นวันประชุมสิ้นปีเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน โดยที่ พระยามโนปกรณ์และพระยาทรงสุรเดช นําทหารประมาณ 1 กองร้อยเข้ามาในบริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม ทําให้เกิดการต่อว่าต่อขานและโจมตีความเป็น ‘ดิ๊กเตเตอร์’ ของนายกรัฐมนตรี”

เรื่องดังกล่าวนี้สร้างความไม่พอใจแก่สมาชิกสภา ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ บันทึกไว้ “รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2513)” (กลุ่ม “รัฐกิจเสรี” จัดพิมพ์ครั้งที่ พ.ศ. 2517)  ว่า

“การตรวจค้นอาวุธสมาชิกสภา

เนื่องจากในระยะนี้ปรากฏว่า ได้เกิดความเห็นแตกต่างกัน อันเป็นเหตุให้มีการแตกความสามัคคีระหว่างรัฐมนตรีด้วยกันเอง ระหว่างสมาชิกสภากับรัฐมนตรี และรวมทั้งในระหว่างสมาชิกสภาด้วย ปรากฏว่าในวันประชุมสภา มีทหารมาทําการตรวจค้นอาวุธสมาชิกก่อนเข้าประชุม

สมาชิกสภาหลายท่านได้กล่าวซักถามรัฐบาลขึ้นในที่ประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม ในการนี้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้รับว่าเป็นผู้สั่งไปเอง เพื่อรักษาความปลอดภัยทุกฝ่าย ได้มีสมาชิกสภาอภิปรายอย่างรุนแรงหลายนาย เป็นทํานองติเตียนการกระทําครั้งนี้ว่า ไม่เป็นการสมควร ในที่สุดที่ประชุมได้ลงมติว่า ในที่ประชุมสภานั้น ประธานสภาเป็นผู้มีอํานาจสูงสุด ผู้ใดจะมาสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่นการตรวจค้นอาวุธสมาชิกสภาเช่นนี้ ย่อมทําไม่ได้ นายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี ทําการแทนประธานสภารับต่อที่ประชุมว่า ต่อไปจะไม่ให้ผู้อื่นมาใช้ อํานาจในสภาเช่นนี้อีก  (รายงานฯ สภาผู้แทนราษฎร ปี 2475 ครั้งที่ 59 หน้า 973 )”

ที่ว่ามานี่ ก็เป็นอีก “หน้าประวัติศาสตร์” ของ การประชุมสภาฯ ในการเมืองไทยๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มิถุนายน 2562