“ผู้หญิงไทย” ได้สิทธิ “เลือกตั้ง” เป็นครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ผู้หญิง เลือกตั้ง

24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หลังเกิดการยึดอำนาจครั้งนั้น มีการร่างรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ และตัวบทกฎหมายให้ประชาชนชาวสยามสามารถ “เลือกตั้ง” ผู้นำของประเทศ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2476 แม้จะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม แต่ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ชาย-หญิงในประเทศได้มีส่วนในการกำหนดผู้นำของตนเอง

ขอย้ำ! ทั้งชายและ “หญิง”

การเลือกตั้งครั้งแรกเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม โดยให้ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนตำบล แล้วผู้แทนตำบลจึงไปเลือกผู้แทนราษฎรอีกที ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดมี 156 คน โดย 78 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม และอีก 78 คนมาจากการแต่งตั้ง

ในวันเลือกตั้งมีผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด  1,773,532 คนจาก 4,278,231 คน คิดเป็นร้อยละ 41.45 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด แม้จะไม่มีระบุถึงจำนวนผู้หญิงที่มาใช้สิทธิ์ แต่ก็มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ประเทศสยามได้ให้สิทธิ์ในการเลือกตั้งกับผู้หญิง โดยไร้ซึ่งแรงต้านใด ๆ จากสังคม

สิทธิของผู้หญิงในการมีปากเสียงต่อระบบการเมืองการปกครองเริ่มปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 5 จากพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ซึ่งประกอบไปด้วยบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอำเภอและการเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมไปถึงภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ คุณสมบัติของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งแม้จะระบุว่าผู้ใหญ่บ้านต้องเป็นบุรุษเพศเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้มีการห้ามผู้หญิงในการร่วมกำหนดหรือเสนอรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านในยุครัชกาลที่ 5 ก็ไม่ได้เป็นการเลือกตั้งเพื่อการกระจายอำนาจการปกครองแต่อย่างใด เพราะไม่ได้มีการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอ ผู้ใหญ่บ้านและกำนันไม่มีวาระชัดเจน สามารถอยู่ได้ตราบเท่าที่ทางส่วนกลางไม่ได้สั่งปลด ทำให้บางชุมชนไม่มีการเลือกตั้งเป็นเวลานานได้ ในแง่บทบาทหน้าที่ กำนันผู้ใหญ่บ้านมีลักษณะคล้ายๆ “หัวหน้าห้อง” ที่ทำหน้าที่ดูแลความสงบตามนโยบายของส่วนกลาง มากกว่าที่จะเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน 

จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เกิดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและวางแผนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นที่สนใจกัน ทั้งในหมู่ชนชั้นนำและสาธารณะชน มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดในประเด็นต่าง ๆ ทั้งเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นผู้แทนราษฎรและผู้แทนตำบล รวมไปถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง สำหรับประเด็นสิทธิของผู้หญิงในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ มีเพียง “มังกร สามเสน” ที่ตั้งคำถามในที่ประชุมสภาฯ เพื่อความกระจ่างเท่านั้น ความว่า

“ในพระราชบัญญัติเลือกตั้งนี้ สงสัยว่าผู้หญิงจะรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ เพราะไม่ได้ระบุเพศ แต่ทางราชการไม่เคยนิยมให้เพศหญิงเกี่ยวข้องแก่การเมือง จึ่งควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน” 

พระยาราชวังสัน ซึ่งขณะนั้นเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ให้คำตอบว่า

“ในพระราชบัญญัติ (การเลือกตั้ง-ผู้เขียน) มิได้บ่งไว้ว่าเพศใดและผู้หญิงก็คือราษฎรเช่นเดียวกับชาย ฉะนั้นไม่มีข้อห้ามว่าผู้หญิงจะสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้”

ในที่ประชุมสภาฯ วันนั้น ประเด็นเรื่องการให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งอาจไม่ใช่เรื่องสลักสําคัญอะไร  ดูจะเป็นเรื่องเล็กที่ไม่ต้องหารือด้วยซ้ำ เพราะคณะราษฎรและสภาฯ คงมุ่งปรารถนาที่จะให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่ราษฎรโดยทั่วกัน โดยไม่เกี่ยงเพศชายหรือหญิง

นอกเหนือที่ประชุมสภาฯ จะมีการประชุมหารือกันในเรื่องดังกล่าวแล้ว ในแวดวงสื่อสารมวลชนเองก็นำเรื่องสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงมาพูดคุยในสังคม โดยที่ความคิดโน้มเอียงไปเชิงสนับสนุนให้ผู้หญิงได้มีบทบาททางการเมือง ดังเช่น

หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “ดวงประทีป” เผยแพร่บทบรรณาธิการที่พูดถึงสิทธิเลือกตั้งผู้หญิงติดต่อกัน 2 ชิ้น สาระสำคัญคือ ผู้หญิงสยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเคราะห์ดีกว่าชาติอื่น เพราะมีทั้งสิทธิออกเสียงและสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทัดเทียมกับผู้ชาย

บทบรรณาธิการ ชี้ว่า “เราจะเห็นได้ว่า สำหรับสิทธิทางการเมืองที่ให้แก่ผู้หญิงนั้น ยุโรปมีการหวงแหนกันมาก แต่รัฐบาลใหม่เรามิได้หวงเลย”

นอกจากนี้ยังมีการโต้แย้งประเด็นที่บางคนกังวลว่า การที่ผู้หญิงมีสิทธิ์ทางการเมืองจะเป็นเครื่องชักชวนให้โลกกลายเป็นคอมมูนิสต์ 

นอกจากบทบรรณาธิการ ยังมีการแสดงปาฐกถา หัวข้อ “เสรีภาพ สมภาพ ภราดรภาพ” โดย นาวาเอก พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ ผู้แทนราษฎร ณ สามัคยาจารย์สมาคม ซึ่งในการเนื้อหาก็มีส่วนที่กล่าวถึงสิทธิ์ของผู้หญิงในทางการเมือง โดยอภิปรายนำเสนอเหตุผลของทั้งฝ่ายที่ต่อต้านและฝ่ายที่สนับสนุนการให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิงในต่างประเทศมาเทียบกัน 

เริ่มจากฝ่ายต่อต้านว่า ข้อแรก ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลบ้าน หากมัวแต่ยุ่งเรื่องการเมือง ย่อมทำให้ที่บ้านเดือดร้อน ข้อสอง พอได้สิทธิไป ผู้หญิงมักลงคะแนนตามสามี หรือในกรณีที่เห็นต่างก็อาจเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง จนทำให้ครอบครัวแตกแยก และข้อสาม ในคราวสงครามผู้ชายต้องออกรบ ในขณะที่ผู้หญิงไม่ต้องไป จึงไม่ควรมีสิทธิเท่ากัน 

ส่วนทางฝ่ายสนับสนุน ให้เหตุผลโต้แย้งดังนี้ ข้อแรก ประเทศที่ยึดหลักสมภาพย่อมต่อต้านการกีดกันทางเพศ ข้อสอง ผู้หญิงมีสามัญสำนึก (Common sense) และสามารถเลือกผู้แทนที่ดีไม่ต่างจากผู้ชาย ข้อสาม ยามเกิดศึก ผู้หญิงก็ต้องเสียสละเช่นกัน และข้อสี่ ทางการต้องจัดหน่วยเลือกตั้งหลายแห่ง ผู้หญิงจึงเดินทางไปใช้สิทธิได้อย่างสะดวก ไม่เปลืองเวลาทำงานบ้าน 

นอกจากนี้ พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ก็ยังให้ความคิดเห็นของตนเองว่า

“สำหรับท่านสุภาพสตรีที่ฟังข้าพเจ้าอยู่ ณ ที่นี้ ข้าพเจ้าขอรีบตอบว่า แน่นอนทีเดียวหญิงควรจะลงมติได้เหมือนชาย คือข้าพเจ้าขอยกสมภาพนั้นให้แก่ท่านอย่างบริบูรณ์ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อว่า ท่านคงอยากจะให้เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าท่านไม่พอใจ ข้าพเจ้าก็ขอรีบตอบเสียใหม่ว่า แน่นอนทีเดียว หญิงไม่ควรจะลงมติได้เหมือนชาย”

ข้อคิดเห็นของพระเรี่ยมวิรัชชพากย์ก็เป็นไปอย่างคลุมเครือ

ทั้งภายในสภาฯ และที่สาธารณะ แม้จะมีการพูดคุยประเด็นผู้หญิงกับสิทธิ์ทางการเมืองและการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้ถกเถียงกันใหญ่โต ราวกับว่าการที่ผู้หญิงจะมีสิทธิ์ทางการเมืองจะส่งผลร้ายแรงต่อประเทศ และเมื่อมีการเปิดรับสมัครผู้แทนตำบล ก็มีผู้หญิงที่พอมีหน้ามีตาในสังคมลงสมัครเป็นผู้แทนตำบลอีกด้วย!

จังหวัดธนบุรี มีนางราชมัชชากร (เทียม บุญกูล) ซึ่งเป็นภรรยาของขุนราชมัชชากร (จู บุญกุล) และนางสาวอนงค์ บุนนาค จากตำบลวังน้อย ลงสมัคร, จังหวัดพระนคร ก็มีนางสาวสุวรรณ ปทัมราช จากตำบลสะพานผ่านฟ้า แต่ก็พ่ายแพ้แก่นายเชื้อ หล่อวิจิตรไป

อีกด้านหนึ่ง นางสุทธิสารวินิจฉัย หรือแม่ผ่องศรี จากตำบลทับยาว ได้กลายเป็นผู้แทนตำบลหญิง ด้วยคะแนนเสียง 275 เสียง ในขณะที่อันดับสองได้ 147 เสียง เรียกได้ว่าชาวบ้านบริเวณนั้นต้องไว้ใจเธอจริง ๆ ถึงได้ให้คะแนนเสียงถล่มทลายเช่นนี้ 

ไม่เฉพาะแต่ผู้แทนตำบลเท่านั้นที่ได้รับความสนใจ นางสาวอนงค์ บุนนาค ก็ลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี แม้จะไม่ได้รับเลือก แต่เธอก็ความสนใจด้านการบ้านการเมือง เห็นได้จากการที่เธอทำหนังสือเสนอความคิดเห็นต่อปัญหา พร้อมแนะนำวิธีการป้องกันมิให้เกิดทุจริตการเลือกตั้ง 

ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็มี นางสาวมยูร กาญจนสุวรรณ ลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎร แม้จะไม่ได้รับเลือกเช่นกัน แต่ก็เป็นผู้ที่มีการศึกษาและสนใจในการเมือง เห็นได้จากการที่มีงานประพันธ์ที่เป็นบทกลอนชื่อ “ดินทอง-แดนไทย” เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ดวงประทีป ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2476 ด้วย 

การที่ผู้หญิงสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า สยามหลังปฏิวัติ 2475 เปิดโอกาสทางการเมืองให้แก่ราษฎรทั้งหญิงชายอย่างทัดเทียม ซึ่งยุคนั้นถือเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าไปไกลกว่าชาติในยุโรปบางชาติเสียอีก

แม้ยังไม่อาจกล่าวว่าผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย ทั้งด้วยกรอบความคิดที่สังคมจำกัดบทบาทของผู้หญิงก็ดี เงื่อนไขเชิงเศรษฐกิจก็ดี กระนั้นการ เลือกตั้งครั้งแรกในปี 2476 ที่ให้โอกาสผู้หญิงมีสิทธิทางการเมือง ก็เป็นหมุดหมายสำคัญของการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ผศ.ดร. ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. “การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม: บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยา ทางสังคม”. พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว สถาบันพระปกเกล้า, ม.ป.ป.

สถาบันปรีดี พนมยงค์ PRIDI BANOMYONG INSTITUTE: Pridi.or.th. “แนวคิดของปรีดี พนมยงค์และ คณะราษฎร เรื่องการเลือกตั้งครั้งแรกของสยาม”. สืบค้น 13 มิถุนายน 2023. http://pridi.or.th/th/content/2022/11/1324.

The MATTER. การเลือกตั้งครั้งแรก! กับสตรีผู้ปรารถนาจะมีส่วนร่วมทางการเมือง”, 8 มีนาคม 2018. https://thematter.co/thinkers/women-first-election/47199.

THE STANDARD. 15 พฤศจิกายน 2476 – เลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย”, 15 พฤศจิกายน 2021. https://thestandard.co/onthisday-15112476/.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2566