ผ่าเลือกตั้ง “สกปรก” 2500 อ่านคำฟ้องฉบับเต็มโดยม.ร.ว.เสนีย์ ระบุ “การโกง” อย่างไร

พวงหรีด ไว้อาลัย เลือกตั้งสกปรก 2500 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
(ซ้าย) ประชาชนวางหรีดไว้อาลัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังเกิดกรณีการเลือกตั้งสกปรก 2500 (ขวา) การชุมนุมประท้วงเลือกตั้งสกปรก 2500 เมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500

ในงานเสวนา “การเมืองเบื้องหลัง เลือกตั้งสกปรก 2500” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ วิทยากร ได้อธิบายกลวิธีการโกงการเลือกตั้งสกปรกของไทย เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 โดยยกหลักฐานมาจากคำฟ้องของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ว่ามีรูปแบบกลโกงสารพัดวิธี (อ่านเพิ่มเติม : “เลือกตั้งสกปรก สกปรกตั้งแต่ออกแบบรธน.” เสวนาเบื้องหลัง เลือกตั้งสกปรก 2500)

พลเอก บัญชร ได้นำหลักฐานชิ้นนี้มาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง “รัฐประหาร พ.ศ. 2500 ในประเทศไทย” ของเฉลิม มลิลา หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2518 (คลิกอ่านวิทยานิพนธ์ได้ที่นี่) ซึ่งมีเอกสารคำร้องการฟ้องการเลือกตั้งของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ไว้ในภาคผนวกของวิทยานิพนธ์เล่มนี้ด้วย

คำฟ้องของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บันทึกเหตุการณ์การเลือกตั้งครั้งนั้นว่าสกปรกอย่างไรบ้าง ในคำฟ้องได้อธิบายค่อนข้างละเอียดว่าเกิดเหตุการณ์ใด ใครเป็นผู้กระทำ และกระทำสิ่งใดบ้าง

แต่ขอให้ผู้อ่านต้องมีวิจารณญาณในการอ่านคำฟ้องนี้ เพราะ… หม่อมราชวงศ์เสนีย์เป็นผู้เขียนคำร้องในฐานะทนายของนายควง อภัยวงศ์ กับ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล จุดมุ่งหมายของคำฟ้องนี้ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ฉะนั้นแล้วข้อมูลที่อยู่ในคำฟ้องอาจเป็นจริงหรือไม่ก็ได้ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ย่อมมีความคิดบางอย่างเข้ามาผสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอยู่ไม่มากก็น้อย เช่น กรณีที่มีประชาชนผู้หนึ่งพูดว่า “นายควงชนะแหง ๆ” ทันใดนั้นก็ถูกอันธพาลใช้ขวานฟันศีรษะผ่าออกเป็น 2 ซีก ตรงนี้ก็ดูจะโหดเหี้ยมและดูจะเกินเหตุไปบ้าง ซึ่งก็ไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้ว่าจริงแท้ประการใด แต่ก็มีหลักฐานอีกหลายจุดที่ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็น “เลือกตั้งสกปรก 2500”

คำร้องด้านล่างที่ยกมานี้จึงคัดมาแบบเต็ม ๆ ไม่ได้ตัดทอนเนื้อหาของคำฟ้องออก โดยหวังจะให้ประโยชน์แก่ผู้ต้องการศึกษาจากหลักฐานชิ้นนี้ เพียงแต่มีการปรับการเว้นวรรคและหัวข้อเพื่อให้อ่านง่ายขึ้น และเปลี่ยนคำที่พิมพ์ผิดให้ถูกบ้าง แต่จะขอเตือนผู้อ่านไว้ก่อนว่าคำฟ้องนี้ค่อนข้างยาวมาก ผู้เขียนจึงจะเน้นตัวหนาสีน้ำเงินให้ในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งสกปรกในครั้งนี้

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ผลสุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ถูกประชาชนและนักศึกษาชุมนุมต่อต้าน ไม่นานก็ถูกทหารที่นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจในการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500


 

การฟ้องเลือกตั้ง (26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500) เป็นโมฆะของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

นายควง อภัยวงศ์ กับพวกผู้ร้อง 8 คนปรากฏตามบัญชีรายชื่อท้ายคำร้อง ร้องขอให้ศาลสั่งว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดพระนครเป็นไปโดยมิชอบ ขอยื่นคำร้องมีข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้

ข้อที่ 1

โดยที่พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2499 บัญญัติว่า ถ้าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยชอบ เมื่อผู้มีสิทธิ์ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลจังหวัด ซึ่งเขตเลือกตั้งนั้นตั้งอยู่ ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้น ถ้าเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบ

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเขตเลือกตั้งจังหวัดพระนคร ตามประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ประเภท 1 พุทธศักราช 2499 การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดพระนครทั้งเขตมิได้เป็นไปโดยชอบ กล่าวคือ ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งเขต ไม่ได้มีโอกาสที่จะใช้สิทธิ์ใช้เสียงโดยเสรี และผลของการเลือกตั้งมิได้เป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ผู้ร้องในฐานะเป็นผู้เลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดพระนคร ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในการช่วยดำรงไว้ซึ่งหลักการระบอบประชาธิปไตย ให้เป็นไปด้วยความสะอาดบริสุทธิ์และถูกต้อง จึงขอยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในเขตเลือกตั้งจังหวัดพระนคร ด้วยเหตุผลดังจะกราบเรียนต่อไปนี้

ก. เหตุการณ์ก่อนวันเลือกตั้ง

(1) เพื่อให้การใช้สิทธิ์ใช้เสียงของราษฎรในการเลือกตั้งเป็นไปโดยเสรี ย่อมเป็นการมิชอบอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกตั้ง จะประกาศเปิดเผยไปในทางหนึ่งทางใดที่จะยังให้เกิดความหวั่นเกรงต่ออิทธิพลในหมู่ประชาชน ก่อนการเลือกตั้งปรากฏว่า พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้ไปร่วมประชุมเลี้ยงอาหารและกล่าวคำปราศรัยขอความร่วมมือจากเหล่าอันธพาลทั่วทั้งจังหวัดพระนครให้ร่วมมือกับพรรคเสรีมนังคศิลาในการเลือกตั้งนี้ ณ บ้าน พ.ต.ต. เชาว์ ธนสุกาญจน์ บางซื่อ และได้มีการเลี้ยงดูเหล่าอันธพาล ขอความร่วมมือช่วยเหลือการเลือกตั้ง ณ บ้านนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกหลายครั้งหลายหน ต่อข้อสงสัยของหนังสือพิมพ์ที่ว่าเหตุไฉน พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ จึงใช้บุคคลจำพวกเหล่าอันธพาลเป็นเครื่องมือในการหาเสียงเลือกตั้งให้แก่พรรคเสรีมนังคศิลา พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ กลับยกย่องเชิดชูเหล่าอันธพาลว่าเป็นคนดี กว้างขวาง ได้รับความนับถือจากประชาชนทั่วไป

นอกจากนั้นเมื่อก่อนวันเลือกตั้ง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยังได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ด้วยความแน่นอนใจว่า ผู้สมัครในนามพรรคเสรีมนังคศิลา สำหรับพระนคร จะได้รับเลือกทั้ง 9 คน ทั้งในต่างจังหวัดก็จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นส่วนมาก ซึ่งถ้าการเลือกตั้งได้เป็นไปโดยชอบ อาศัยมติมหาชนอย่างตรงไปตรงมาแล้วเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในราชการ เช่น พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ย่อมทำนายผลของการเลือกตั้งล่วงหน้าดังนี้ไปไม่ได้ และผลของการเลือกตั้งก็ปรากฏว่าใกล้เคียงกับคำทำนายของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอย่างยิ่ง ดังจะได้กราบเรียนต่อไปในคำร้องนี้

ต่อมาก่อนการเลือกตั้งเล็กน้อย ได้มีข่าวแพร่สะพัดออกไปในหมู่ประชาชนว่า จะมีอันธพาลไปรบกวนบรรดาผู้ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง อาจจะถึงฆ่าฟันกันตายเป็นเหตุให้ประชาชนบางคนไม่ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ผู้ร้องรวม 9 คนสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเขตจังหวัดพระนครครั้งนี้ด้วย ในวันเลือกตั้งปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในความบังคับบัญชาของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ มิได้ทำการตามหน้าที่ในการปราบปรามผู้กระทำผิดและให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนผู้ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง พฤติการณ์ของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ดังว่ามานี้ จึงมุ่งไปในทำนองที่แสดงว่า ได้มีแผนการณ์เพื่อปฏิบัติการอันมิชอบในวันเลือกตั้ง

(2) ตามวิธีการลงบัตรเลือกตั้งนั้น ผู้ที่จะมีสิทธิ์ลงบัตรได้จำเป็นจะต้องมีรายชื่อในบัญชี ซึ่งฝ่ายกรมการอำเภอและเทศบาลเป็นผู้จัดทำขึ้นไว้เสียก่อน ดังนั้น บัญชีรายชื่อนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างที่สุด เพราะแม้ประชาชนผู้ใดจะมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย ถ้าไม่มีชื่อในบัญชีรายชื่อแล้วก็หาอาจลงบัตรใช้สิทธิ์ออกเสียงของตนได้ไม่ การทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งโดยทั่ว ๆ ไป ทุกอำเภอและโดยเฉพาะอำเภอดุสิตเต็มไปด้วยความบกพร่องจนผิดปกติวิสัยที่จะเชื่อได้ บกพร่องตามธรรมดาเช่น ปรากฏมีชื่อคนตายแล้วในบัญชี เปลี่ยนแปลงชายให้เป็นหญิง หญิงให้เป็นชายเพิ่มเติมชื่อเอาเอง ให้อยู่ในบ้านใดบ้านหนึ่งเหล่านี้ เป็นต้น ซ้ำบางแห่งไม่ปิดประกาศไว้ให้ประชาชนตรวจดูและคัดค้าน ได้มาปิดเอาในวันสุดท้ายที่ประชาชนจะใช้สิทธิ์คัดค้านความผิดพลาดของบัญชีรายชื่อนั้น ทั้งที่กฎหมายเลือกตั้งมาตรา 31 วรรค 2 บัญญัติให้นายอำเภอปิดประกาศรายชื่อไว้ก่อนการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน และกรรมการอำเภอมีเวลาถึง 1 ปี ที่จะทำบัญชีรายชื่อให้เรียบร้อย และปิดประกาศไว้ก่อนกำหนดเวลานั้นเป็นเวลานาน

ทั้งในวันเลือกตั้งก็มีอันธพาลทำการรบกวนการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ของผู้เลือกตั้งจริง ๆ

พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ผู้นี้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยตรง นอกจากนั้น พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ยังเป็นอธิบดีกรมตำรวจ มีอำนาจควบคุมตำรวจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในวันเลือกตั้ง เเละเป็นเลขาธิการพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งได้ส่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม หมายเลข 25 พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 26 พลเอก เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ ผู้สมัครหมายเลข 27 พระยาลัดพลีธรรมประคัลป์ ผู้สมัคร หมายเลข 28 พลเอก มังกร พรหมโยธี ผู้สมัครหมายเลข 29 พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้สมัครหมายเลข 30 พลเอก หลวงสวัสดิ์สรยุทธ ผู้สมัครหมายเลข 31 พลเอก เดช เดชปติยุทธ ผู้สมัคร หมายเลข 32 และนายรักษ์ บัณยารชุน ผู้สมัครหมายเลข 33

(3) พระราชบัญญัติเลือกตั้งพุทธศักราช 2499 มาตรา 65 บัญญัติห้ามมิให้บรรดาข้าราชการประจำการ นายกเทศมนตรี เทศมนตรี พนักงานเทศบาล หรือพนักงานสุขาภิบาลใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายกระทำการเป็นการอุปการะหรือเป็นโทษแก่การเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ก่อนการเลือกตั้งนี้ได้มีข้าราชการประจำการบางคน เช่น พระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทยทำการปราศรัยหาคะแนนเสียงนิยมให้แก่พรรคเสรีมนังคศิลา อย่างเปิดเผยและขณะนี้กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดียังศาลจังหวัดนครสวรรค์อยู่ พลเอก มังกร พรหมโยธี นายกเทศมนตรีนครกรุงเทพฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ สั่งให้โรงเรียนต่าง ๆ หยุดทำการสอนเพื่อเกณฑ์ครูและนักเรียนมาฟังตนและพรรคเสรีมนังคศิลาปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง

นอกจากนี้ก่อนการเลือกตั้งเล็กน้อย เพื่อกีดขวางการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่น พลเอก มังกร พรหมโยธี ในฐานะนายกเทศมนตรีนครกรุงเทพฯ ยังได้สั่งให้พนักงานเทศบาลใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ และใช้รถยนต์ของเทศบาลนครกรุงเทพฯ ทำการเก็บแผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนเช่น นางละเอียด จิตติเวชช์ ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่งในเขตจังหวัดพระนคร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เรียกประชุมราษฎรบังคับให้ลงบัตรให้ผู้สมัครในนามพรรคเสรีมนังคศิลา เช่นที่หน่วยเลือกตั้งอำเภอมีนบุรี การกระทำดังกล่าวล้วนแล้วแต่มิชอบด้วยตำแหน่งหน้าที่ และส่งผลโน้มเอียงให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบทั้งสิ้น

(4) เหตุการณ์ก่อนวันเลือกตั้งซึ่งแสดงว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบ ประการสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ ได้มีการจับบัตรซึ่งเรียกว่า “บัตรโกง” ได้เป็นอันมาก ซึ่งเป็นบัตรปิดหมายเลข 25 ถึง 33 อันเป็นหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครในนามพรรคเสรีมนังคศิลา ทั้ง 9 คน ลักษณะของบัตรที่โกงปิดหมายเลข 25 ถึง 33 ดังกล่าวมีลักษณะรูปพรรณสันฐาน ตลอดจนกระทั่งรอยประทับตราเป็นอย่างเดียวกับบัตรเลือกตั้งแท้ทุกประการ บัตรเลือกตั้งไม่ว่าจะทั้งโกงหรือไม่โกงได้พิมพ์ขึ้น ณ ที่แห่งเดียวและจำหน่ายจ่ายแจกโดยบุคคลผู้มีหน้าที่รักษาและจำหน่ายบัตรเลือกตั้งแต่เพียงบุคคลเดียว หรือคณะเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการเลือกตั้งโดยตรง

แม้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้เป็นเจ้าพนักงานรักษาการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์โดยตรงได้ทราบบัตรโกงนี้ในคืนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ซึ่ง นายชลอ วนะภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครได้รายงานให้ทราบ แต่ก็มิได้มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการระงับปราบปรามแต่อย่างใด ทั้งในวันเลือกตั้งก็ปรากฏว่ามีการลงบัตรโกงชนิดนี้ อันเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปในคำว่า “ไพ่ไฟ” กันอย่างแพร่หลายและไม่เพียงแต่รับไพ่ไฟได้เท่านั้น ยังมีผู้พบเห็นการปิดบัตรไพ่ไฟกันในสถานที่หลายแห่ง เช่น ที่โรงเรียนประชาบาลวัดสุทัศน์เทพวราราม มีการปิดไพ่ไฟด้วยหมายเลข 25 ถึง 33 เป็นจำนวนมาก

ส่วนบุคคลซึ่งจะทำหน้าที่โกงการเลือกตั้งได้มีการซักซ้อมวิธีการแอบลงไพ่ไฟไว้ล่วงหน้า บุคคลจำพวกนี้เรียกกันว่า “เหล่าพลร่ม” เหล่าพลร่มนี้ส่วนมากเป็นพวกอันธพาล ซึ่งได้รับเงินเป็นอามิสสินจ้างเพื่อลงบัตรไพ่ไฟ พร้อมทั้งได้รับแจกบัตรประจำตัวเป็นเครื่องคุ้มกันการกระทำผิดกฎหมาย บัตรที่แจกกันครั้งนี้มี 3 ชนิดด้วยกันคือ 1. บัตรประจำตัวสมาชิกสามัญ พรรคเสรีมนังคศิลา 2. ผ้าแถบขาวมีตราไก่กระพือปีกและข้อความว่า พรรคเสรีมนังคศิลา 3. นามบัตรแล้วแต่ได้จัดไว้และเป็นไปโดยมิชอบเป็นอย่างยิ่ง ดังผู้ร้องจะได้แยกพรรณาเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้

((1)) สถานที่ลงบัตรเลือกตั้ง จัดไว้ในลักษณะที่เปิดโอกาสให้มีการพลร่มไพ่ไฟได้สะดวก เป็นต้นว่า คูหาปิดบัตรเลือกตั้ง ตั้งอยู่ห่างจากสถานที่รับบัตรและลงบัตรเป็นอันมาก ระยะช่องว่างที่ห่างกันนี้เอง ในวันเลือกตั้งปรากฏว่าแออัดยัดเยียดไปด้วยผู้คน แม้ผู้ที่มิได้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง ถ้ามีบัตรไพ่ไฟหรือโกงอยู่แล้ว ก็อาจเอาบัตรนั้นไปลงได้สะดวก โดยคณะกรรมการควบคุมหน่วยเลือกตั้งไม่มีโอกาสล่วงรู้ได้เลย เป็นการง่ายแก่การลงบัตรไพ่ไฟได้หลายครั้งหลายหน ความบกพร่องเกี่ยวกับการจัดสถานที่เช่นนี้มีหลายแห่ง เช่น หน่วยกรมทางหลวงแผ่นดิน อำเภอดุสิต หน่วยโรงเรียนเทเวศร์ศึกษา อำเภอดุสิต ที่ว่าการอำเภอดุสิต วัดจอมสุดาราม อำเภอดุสิต หน่วยเลือกตั้งวัดธาตุทอง อำเภอพระโขนง

((2)) บัตรเลือกตั้งทั้งที่ได้กราบเรียนไว้แล้วในข้อ ก. (4) ว่าด้วยลักษณะไพ่ไฟและบัตรเลือกตั้งที่ชอบพิมพ์ ณ แห่งเดียวกันมีลักษณะอย่างเดียวกันทุกประการ และบัตรไพ่ไฟเหล่านี้เอง บางส่วนได้ถูกจับได้บนโต๊ะกรรมการควบคุมหน่วยเลือกตั้งหลายหน่วย ก่อนที่จะหย่อนลงในหีบบัตร เช่นที่ สมาคมสตรีไทยอันเป็นหน่วยเลือกตั้งในเขตอำเภอดุสิต จับได้ __ ปึก (ตัวเลขเลือนลางไม่ทราบจำนวนปึก – ผู้เขียน) ประมาณ 5-6 ร้อยฉบับ บิกหมายเลข 25 ถึง 30 ทั้งหมด ที่สมาคมปราบวัณโรค อำเภอดุสิต จับได้ 6 ปึก ปิดหมายเลข 25-33 เช่นเดียวกัน ไพ่ไฟดังกล่าวที่ขึ้นไปกองอยู่บนโต๊ะกรรมการนี้ นอกจากกรรมการเลือกตั้งจะต้องรับผิดชอบโดยตรง ในหน้าที่ของตนแล้ว พฤติการณ์ของกรรมการยังแสดงเจตนาว่า ตนเป็นผู้ร่วมรู้ในการนำเอามาและจะใส่ลงในหีบบัตร นายชลอ วนะภูติ ผู้ควบคุมการเลือกตั้งโดยตรง เป็นคนหนึ่งที่จับไพ่ไฟได้คาหนังคาเขา

การทุจริตเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งไฟไฟดังกล่าวก็ดี ความประพฤติของกรรมการคุมหน่วยเลือกตั้งต่าง ๆ ก็ดี ความบกพร่องในหน้าที่การงานของนายอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอดุสิตเป็นผลให้ นายชลอ วนะภูติ ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพระนคร เพราะไม่สามารถทนเหตุการณ์อันน่าอับอาย ผิดกฎหมายเช่นนี้ต่อไปได้ ปรากฏการณ์ต่อมาชี้ชัดว่า บัตรไฟไฟที่ปิดหมายเลข 25 ถึง 33 ได้ถูกแอบยัดใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งอย่างแน่นอน เช่นเมื่อเปิดหีบบัตรที่ปิดหมายเลข 25 ถึง 33 กองอยู่ในหีบบัตรเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งถ้าเป็นไปในลักษณะใส่ลงไปทีละบัตรแล้ว บัตรจะอยู่ในลักษณะเช่นนั้นไม่ได้ เป็นต้น

ข. เหตุการณ์วันเลือกตั้ง

การเลือกตั้งจะเป็นไปโดยชอบได้ ต้องจัดให้มีเครื่องมือเครื่องใช้ และอุปกรณ์ ตามหน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วย ปฏิบัติงานด้วยความถูกต้องสะอาดบริสุทธิ์ เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์นี้ประกอบด้วยสถานที่ลงบัตร หีบลงบัตร บัตรเลือกตั้ง บัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้ง กรรมการคุมหน่วยเลือกตั้ง เจ้าพนักงานคุ้มครองความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยแก่ประชาชน และวิธีการนับบัตร เป็นต้น

(3) กรรมการคุมหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม สะอาดบริสุทธิ์ได้เพราะกรรมการบางหน่วย เช่นหน่วยซอยกล้วยน้ำไทย อำเภอพระโขนง เมื่อกรรมการไม่ยอมให้เหล่ากรรมกรท่าเรือลง พลร่มไพ่ไฟก็รุมทำร้ายถึงสลบ แล้วเหล่าพลร่มก็ลงบัตรไพ่ไฟกันเองตามชอบใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งรักษาการณ์อยู่ที่นั่นก็ไม่ได้ทำหน้าที่ขัดขวาง ปราบปราม กรรมการบางหน่วย เช่น หน่วยเลือกตั้งลุมพินี อำเภอปทุมวัน ถูกเหล่าอันธพาลใช้อาวุธมีดโกนบังคับให้ปลีกตนออกไปจากสถานที่เลือกตั้ง ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้

บางหน่วย เช่นหน่วยเขาดินวนา อำเภอดุสิต กรรมการแจกบัตรเลือกตั้งให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และบางครั้งถึงกับประชาชนไปหยิบบัตรเอาเอง โดยกรรมการไม่ได้ทำงานตามหน้าที่ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหลายสิบหน่วยไม่มาปฏิบัติงาน กรรมการบางหน่วยไม่มาเลย บางหน่วยมาเพียงคนสองคน แล้วมีการตั้งกรรมการขึ้นโดยไม่มีอำนาจ เช่น หน่วยเลือกตั้งหลังกรมทหารสนามเป้า อำเภอดุสิต หน่วยเลือกตั้งวัดโบสถ์สามเสน อำเภอดุสิต หน่วยเลือกตั้งวัดแค อำเภอดุสิต บางหน่วยเที่ยงวันแล้วก็ยังมิได้เปิดให้ผู้เลือกตั้งลงบัตร เช่น หน่วยเลือกตั้งหลังกรมทหารสนามเป้า อำเภอดุสิต วัดแค อำเภอดุสิต วัดโบสถ์ สามเสน อำเภอดุสิต บางหน่วยล่วงพ้น 17 นาฬิกาไปแล้ว กรรมการยังเปิดโอกาสให้ผู้เลือกตั้งลงบัตรได้

(4) การลงบัตรเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งบัญชีรายชื่อผู้เลือกตั้งเต็มไปด้วยความสับสน ไม่ถูกต้อง บางคนไม่มีสิทธิ์ลงบัตรก็ลงบัตร บางคนมีสิทธิ์ลงบัตรแต่กลับมิได้รับแจกบัตร กรรมการไม่แจกเลขให้ครบตามจำนวนของผู้สมัคร เช่นที่หน่วยเขาดินวนา อำเภอดุสิต ผู้เลือกตั้งถูกเหล่าอันธพาลซึ่งไปประจำอยู่ตามหน่วยเลือกตั้งก่อกวนมิให้ลงบัตรได้สะดวก เช่นที่หน่วยโรงเรียนเทเวศร์ศึกษา อำเภอดุสิต โดยเฉพาะหน่วยเลือกตั้งท่าดินแดง อำเภอดุสิต คณะกรรมการกำลังนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง มีประชาชนผู้หนึ่งพูดว่า “นายควงชนะแหง ๆ” ทันใดนั้นก็ถูกผู้ร้ายเหล่าอันธพาลใช้ขวานฟันศีรษะผ่าออกเป็น 2 ซีก ล้มลงขาดใจตายแทบเท้า

ตำรวจหาได้จัดการจับกุม หรือมีทีท่าว่าจะปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน แม้แต่สักน้อยไม่ จนกระทั่งหน่วยมูลนิธิชาวจีนหน่วยหนึ่งต้องมาจัดการหามศพผู้เคราะห์รายนั้นออกไป ตัวอย่างต่อไปของการกระทำอันมิชอบของเหล่าอันธพาล และความเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยของประชาชน คือขณะที่นายเกชา เปลี่ยนวิถี หัวหน้าคนหนึ่งของเหล่าอันธพาล กำลังประชุมเหล่าอันธพาลแจกไพ่ไฟกันอยู่เชิงสะพานมอญนั้น ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทรายวันไปถ่ายภาพไว้ นายเกชา เปลี่ยนวิถี กับพวกประมาณ 7-8 คน พร้อมด้วยอาวุธ รีบขับรถยนต์สองคันสะกัดกั้นรถของหนังสือพิมพ์ไทรายวันไว้ แล้วลงมาขู่เข็ญบังคับเอาฟิล์มซึ่งถ่ายภาพนั้นไป การปล้นกลางวันแสก ๆ เช่นนี้นับเป็นพฤติการณ์อันอุกอาจอย่างยิ่ง แต่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่สถานีตำรวจชนะสงครามที่รับแจ้งความจากผู้เสียหายไว้ หาได้ดำเนินการตามกฎหมายแต่ประการใดไม่

(5) พฤติการณ์อันมิชอบของเหล่าอันธพาลก็ดี เหล่าพลร่มก็ดี ยังมิซ้ำเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในวันเลือกตั้งก็ดี เป็นเหตุให้สุจริตชนไม่สามารถทนดูอยู่อย่างเฉยเมยต่อไปได้ จึงได้เกิดการก่อตั้งหน่วยปราบอันธพาลกันขึ้นเอง อันประกอบด้วยทหารทุกเหล่า และประชาชนพลเรือน เมื่อได้ข่าวว่ามีอันธพาลไปลงพลร่มไพ่ไฟกัน หรือก่อกวนยังหน่วยเลือกตั้งใด ก็รีบบุกบั่นเข้าไปควบคุมเหตุการณ์ทันที การกระทำของหน่วยปราบอันธพาลนี้ แทนที่ฝ่ายบริหารจะถือเป็นความดีความชอบกลับตั้งข้อรังเกียจ จนถึงกับ จอมพล ฟื้น รณภากาศ ฤทธาคนี แม่ทัพอากาศ และจอมพล เรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล แม่ทัพเรือ ร่วมกันตระเวณจับหน่วยปราบอันธพาลนี้

แต่ส่วนเหล่าอันธพาลและพลร่มซึ่งกระทำการอันผิดกฎหมายด้วยประการต่าง ๆ รวมทั้งเป็นผู้รับจ้างทำลายหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ดังที่ทำอุกอาจต่อหน้าประชาชนผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป กลับไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารผู้ใดเอาใจใส่จับกุมปราบปรามเลย เช่นที่หน่วยเลือกตั้งวัดญวนสะพานขาว อำเภอดุสิต เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งความจากประชาชนให้จับพลร่มคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มพลร่มที่ถูกขนให้มาลงไพ่ไฟประมาณ 3-4 คันรถ ตำรวจผู้นั้นจับไปแล้วพาเดินไป 3-4 เมตร ก็ปล่อยตัวไป ที่หน่วยเลือกตั้งเซนต์คาเบรียล สวนเสน อำเภอดุสิต จ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวพลร่มซึ่งจะลงบัตรไพ่ไฟหมายเลข 25 ถึง 33 ได้ แล้วก็พาตัวไปสถานีตำรวจ แล้วก็ปล่อยตัวไปไม่ดำเนินการตามกฎหมาย

(6) การนับคะแนนเสียงเป็นไปด้วยความเหลวแหลก โดยมิชอบเป็นที่สุด กรรมการเปิดและเทบัตรเลือกตั้งจากหีบลงบัตรใส่เข่ง แล้วนับจากเข่งลงใส่หีบเช่นเดียวที่วัดทัศนาราม อำเภอดุสิต กรรมการนับคะแนนหมายเลข 25 ในบัตรเสีย เช่นที่หน่วยเลือกตั้งปั๊มน้ำมันศรีเมือง บางซ่อน อำเภอดุสิต หน่วยมัสยิดดครุณาบิดิน อำเภอยานนาวา กรรมการเขียนคะแนนหมายเลข 4 ให้เป็นหมายเลข 25 กรรมการเพิ่มบัตรที่ปิดหมายเลข 25 ถึง 33 เอาเอง กรรมการหยิบบัตรเลือกตั้งที่มิได้ปิดหมายเลข 25 ถึง 33 ออกทิ้ง เช่นที่หน่วยเลือกตั้งสวนลุมพินี อำเภอปทุมวัน แกล้งดับไฟขณะนับคะแนน ครั้งไฟเปิดปรากฏว่ามีบัตรเลือกตั้งปิดหมายเลข 25 ถึง 33 เพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก เช่นที่หน่วยเลือกตั้งซอยทองหล่อ อำเภอพระโขนง บัตรในหีบบัตรมีจำนวนมากกว่าผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่นหน่วยสมาคมสตรีไทย อำเภอดุสิต กรรมการแกล้งหน่วงเหนี่ยวนับคะแนนล่าช้า โดยเฉพาะ 13 หน่วยสุดท้ายของอำเภอดุสิต เพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำบัตรหมายเลข 25 ถึง 33 มาใส่เพิ่มเติม

ตามปกติ การนับบัตรของผู้เลือกแต่ละหน่วยเลือกตั้งจะไม่เกิน 3-4 พันบัตร เริ่มต้นนับคะแนนตั้งแต่ 17 น. วันที่ 26 อย่างชาต้องเสร็จไม่เกินวันที่ 27 แต่ 13 หน่วยสุดท้ายนี้ปรากฏว่ากว่าจะประกาศผลได้ ได้ใช้เวลานับคะแนนอยู่จนถึงเวลาเที่ยงของวันที่ 28 ทั้งเมื่อพิเคราะห์คูตามสถิติของผู้ลงบัตรในหน่วยเลือกตั้งอื่น ๆ แล้ว มีผู้ลงบัตรให้ผู้สมัครหมายเลย 25 ถึง 33 ตัว เฉลี่ยไม่เกินหน่วยละ 295 ถึง 509 คะแนน แต่เฉพาะ 13 หน่วยสุดท้ายนี้เอง ผู้สมัครหมายเลข 25 ถึง 33 ได้รับการลงบัตรเพิ่มขึ้นถึง หน่วยละ 971 ถึง 1,183 คะแนน คือเพิ่มขึ้น 125 ถึง 247 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเกิดขึ้นจากความจริงไม่ได้ ตัวอย่างเช่น พลเอก มังกร พรหมโยธี ผู้สมัครหมายเลข 29 ก่อนที่จะประกาศผลของการนับคะแนน 13 หน่วยสุดท้าย ปรากฏว่าได้รับคะแนนเป็นอันดับ 10 ของผู้สมัครทั้งหมด และมีคนลงบัตรให้ประมาณหน่วยละ 308 คะแนน แต่ครั้นถึง 13 หน่วยสุดท้ายนี้ พลเอก มังกร พรหมโยธี กลับได้คะแนนเพิ่มขึ้นถึง 971 คะแนน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ 221 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ยังมีตัวเลขแสดงให้เห็นชัดอีกคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้สมัครหมายเลข 25 ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นที่ 13 หน่วยสุดท้ายนี้ 125 เปอร์เซ็นต์ พลอากาศโท มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 26 ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น 224 เปอร์เซ็นต์ พลเอก เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ ผู้สมัครหมายเลข 27 ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น 265 เปอร์เซ็นต์ พระยาลัดพลีธรรมประคัลป์ ผู้สมัครหมายเลข 28 ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น 240 เปอร์เซ็นต์ พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้สมัครหมายเลข 30 ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น 240 เปอร์เซ็นต์ พลเอก หลวงสวัสดิ์สรยุทธ ผู้สมัครหมายเลข 31 ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น 247 เปอร์เซ็นต์ ล้วนแต่เป็นคะแนนอาเพศ เฉพาะ 13 หน่วยสุดท้ายนั้น

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่เชื่อไม่ได้ว่า จำนวนผู้มาลงบัตรเลือกตั้งให้ผู้สมัครพรรคเสรีมนังคศิลาจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์นั้นก็คือ การหาเสียงของพรรคเสรีมนังคศิลาแต่ละครั้ง หาได้รับความสนใจจากประชาชนผู้เลือกตั้งเท่าเทียมหรือเกินกว่าพรรคอื่น ๆ ไม่ ตัวอย่างเห็นได้ชัดก็คือ ใน วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2500 จอมพล ป. พิบูลสงคราม และผู้สมัครอื่น ๆ ในนามพรรคเสรีมนังคศิลาเปิดการปราศรัยแก่ประชาชนที่เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า แต่ปรากฏว่ามีผู้มาฟังการปราศรัย 40-50 เท่านั้น จนกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ยอมปราศรัย ซึ่งในขณะเดียวกันมหาชนจำนวนแสนพากันไปฟังการปราศรัยหาคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ อันมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้า ณ ท้องสนามหลวง ดังนี้เป็นต้น

ค. เหตุการณ์หลังวันเลือกตั้ง

เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอย่างมากมายชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ดังนั้นเหตุการณ์ก่อนวันเลือกตั้งและวันเลือกตั้งได้ดำเนินไปโดยมิชอบอย่างที่สุดนี้เอง ได้ส่งผลเกิดปฏิกิริยาประณามการเลือกตั้งที่เป็นไปโดยมิชอบจากประชาชนทั่วพระนคร กล่าวคือ หนังสือพิมพ์ที่เป็นปากเสียงของประชาชนเช่น หนังสือพิมพ์สารเสรี ไทรายวัน เดลิเมล์ ประชาธิปไตย สยามนิกร สยามรัฐ ฯลฯ ต่างลงข่าวและบทความโจมตีวิธีดำเนินการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างรุนแรงที่สุด และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งกันใหม่

ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ประณามการเลือกตั้งว่า เป็นไปโดยมิชอบอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทำให้สถานการณ์ของชาติตกอยู่ในภาวะตึงเครียด จนจะเกิดการจลาจลหรือเดินขบวนคัดค้านการเลือกตั้ง อันเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ห้ามประชาชนร่วมชุมนุมเกี่ยวกับการเมืองเกิน 5 คน และทั้ง ๆ ที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน ซึ่งผู้ใดละเมิดกฎหมายจะต้องโทษหนักกว่าปกติอยู่นี้เอง นิสิตทั่วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แสดงความไม่พอใจอย่างยิ่ง ถึงกับลดธงชาติลงเหลือครึ่งเสาเป็นการไว้อาลัยให้แก่ประชาธิปไตยอันต้องเศร้าหมอง เพราะการเลือกตั้งอันมิชอบนี้ เปิดประชุมเสนอข้อเรียกร้องรัฐบาลให้ประกาศว่า ผลของการเลือกตั้งเป็นโมฆะใช้ไม่ได้ แล้วพากันเดินขบวนไปยังกระทรวงมหาดไทย สมทบด้วยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ศิลปากร เทคนิก และประชาชนรวมกันประมาณแสนคน อันเป็นการแสดงออกซึ่งมติมหาชนชาวไทยอย่างรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อเจ้าหน้าที่เชิญประชาชนให้ไปพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จึงพากันเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อฟังคำตอบเด็ดขาด ครั้นเดินไปถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถูกสะกัดกั้นโดยหมู่ทหารเกิดขวางปาชกต่อยกันได้สักครู่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ก็ออกมารับพากันเดินขบวนต่อไป จนถึงทำเนียบ รัฐบาลอนุญาตให้นักศึกษาเข้าไปเป็นรายตัว แต่ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศไม่ยินยอม ต้องการเข้าไปร่วมรับรู้รับเห็นด้วย จึงพร้อมกันพังบานประตูทำเนียบและหลั่งไหลกันเข้าไปจนหมดสิ้น

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกมาชี้แจงแก่เหล่ามหาชนทั้งหลายว่า ขอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดการเลือกตั้งเป็นไปโดยชอบหรือไม่ กลับถูกโห่เยาะเย้ยและประณามว่า เป็นคนขี้โกง โกหก จนถึงกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม เอง ต้องหลบหน้าหนีไป ณ สถานที่นี้เอง และอีกหลายแห่งหลายครั้ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารในภาวะฉุกเฉิน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงยอมรับโดยเปิดเผยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยสกปรก ไม่ชอบและทำการเปิดตู้รับจดหมายจากประชาชนแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐบาลและการเลือกตั้งครั้งนี้โดยเสรี ทั้งไม่ยอมเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีและพรรคเสรีมนังคศิลา ประกาศจะไม่ยอมเป็นสมาชิกประเภท 2 ต่อไป นี่เป็นปฏิกิริยาจากผลของการเลือกตั้งที่กระทบถึงจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยตรง

พลอากาศโทมุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษดิ์ ประกาศลาออกจากอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทันที เพราะไม่สามารถระงับการแสดงออกซึ่งมติของเหล่านิสิตทั้งมวลได้ พ.อ. ม.ร.ว. น้ำเพชร เกษมสันต์ ผู้สมัครผู้แทนในพระนครคนหนึ่งแถลงแก่หนังสือพิมพ์ว่า ตนถูกปองร้าย จอมพลอากาศ ฟื้น รณภากาศ ฤทธาคนี แถลงต่อที่ประชุมหนังสือพิมพ์ว่า จะลาออกจากรองหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นผู้มีกรณีพัวพันกับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างยิ่ง ถึงกับประกาศลาออกทุกตำแหน่ง การเลือกตั้งล่วงไปแล้ว 4 วัน วิทยุกรมประชาสัมพันธ์จึงได้ออกประกาศแถลงการณ์เลือกตั้งอันเป็นไปโดยมิชอบครั้งนี้ ดังที่ผู้ร้องจะได้ยื่นต่อศาลในวันพิจารณา มีหนังสือพิมพ์และประชาชนประณามต่อมาอีกเกือบ 1 เดือน นายสะอาด ศิริพัฒน์ นายอำเภอดุสิต ผู้มีกรณีพัวพันกับการเลือกตั้งอันมิชอบครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ป้ายร้ายฝ่ายค้าน

ข้อ 2

ไม่ว่าจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าวในคำร้องนี้ก็ดี จากคำแถลงรับของฝ่ายบริหารผู้ควบคุมการเลือกตั้งก็ดี จากมติมหาชนก็ดี ล้วนแล้วแต่มีความเห็นตรงกันว่า การเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบทั้งสิ้น สมควรที่ศาลจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นอย่างยิ่ง เพราะมิฉะนั้นแล้ว นอกจากจะไม่สามารถรักษาการระบอบประชาธิปไตยให้คงไว้ด้วยความชอบธรรมและถูกต้องได้ต่อไปแล้ว ยังเป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียงของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างประเทศทั่วโลก และขัดมติมหาชนถึงกับจะเกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงจากประชาชนขึ้นอีกก็ได้

ข้อ 3

นอกจากปรากฏตามข้อเท็จจริงซึ่งแสดงว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดพระนครเป็นไปโดยมิชอบดังได้กล่าวมาแล้ว ผู้ร้องยังเห็นว่าโดยข้อกฎหมายต้องถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดพระนครเป็นการเลือกตั้งที่เป็นไปโดยมิชอบอีกสถานหนึ่งด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

ก. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 15 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล บัญญัติไว้ว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 116 ในวาระเริ่มแรกภายในระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภทมีจํานวนเท่ากัน ____” เมื่อมีบทบัญญัติไว้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 ประเภทมีจำนวนเท่ากันดังนี้ ก็ต้องถือว่าการกระทำใด ๆ อันจะเป็นผลให้สมาชิก 2 ประเภทมีจำนวนไม่เท่ากัน (นอกจากการปฏิบัติตาม มาตรา 116) เป็นการกระทำที่มิได้เป็นไปโดยชอบเพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ข. สภาผู้แทนราษฎรในสมัยก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 มีจำนวน 123 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีจำนวน 123 คน เป็นจำนวนเท่ากันถูกต้องตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้วด้วย เหตุนี้เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยชอบ จะทำการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 ให้มีจำนวนเกินสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 หาได้ไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้นจากจำนวนเดิมเท่าที่มีอยู่แล้ว แต่วันใช้บังคับรัฐธรรมนูญได้ การเลือกตั้งทั่วไปที่กล่าวแล้วได้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 160 คน เฉพาะในเขตเลือกตั้งจังหวัดพระนคร ซึ่งจะทำการเลือกตั้ง ได้เพียงมีจำนวน 6 คนเท่าเดิม แต่ได้ทำการเลือกตั้งมีจำนวนถึง 9 คน ดังปรากฏรายนามผู้รับสมัครเลือกตั้งซึ่งประกาศผลเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ตามบัญชีท้ายคำร้องนี้

และเพราะเหตุดังกล่าว การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งจังหวัดพระนครจึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปโดยชอบ

ข้อ 4

อาศัยเหตุดังกล่าวแล้ว ขอศาลได้โปรดดำเนินการพิจารณาและมีคําสั่งให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในเขตจังหวัดพระนครใหม่ทั้งเขต ตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2499

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2562