“นิสิตนักศึกษา” เคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นครั้งแรกเมื่อเกิด “เลือกตั้งสกปรก 2500”

นิสิตนักศึกษา ชุมนุม ประท้วง เลือกตั้งสกปรก 2500
ภาพประกอบเนื้อหา - การชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งสกปรก 2 มีนาคม 2500 (ภาพจากหนังสือแผนชิงชาติไทย)

ในบรรดากลุ่มบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมือง “นิสิตนักศึกษา” เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีพลังในการขับเคลื่อน โดยมีบทบาทที่ชัดเจนยิ่งขึ้นตั้งแต่ “เลือกตั้งสกปรก 2500” แม้จะมีบุคคลบางกลุ่มมองว่าไม่เหมาะสม ไม่ใช่หน้าที่ (เพราะเห็นว่าหน้าที่ของพวกเขาคือการศึกษา) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในอดีตที่ผ่านมาในบ้านเมืองเราหลายๆ ครั้ง มีผลกระทบกับการเมืองของประเทศเพียงใด

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิตนักศึกษานั้น สุปรีดา ลอตระกูล ได้ค้นคว้าและอธิบายไว้ในวิทยานิพนธ์ชื่อ “การวิเคราะห์พัฒนาการขบวนการนิสิตนักศึกษา” (วิทยานิพนธ์คุรุศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2529) อย่างน่าสนใจ จึงขอคัดย่อบางส่วนมานำเสนอในที่นี้

ย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2483 นิสิตนักศึกษา และประชาชนร่วมเดินขบวนในการเรียกร้องดินแดนอินโดจีนที่ไทยสูญเสียให้ฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ 5 นับเป็นครั้งแรกที่นิสิตนักศึกษาเคลื่อนไหวในรูปแบบของกลุ่มพลังต่อสาธารณชน แม้จะเกิดด้วยอิทธิพลของอุดมการณ์ชาตินิยมและการโฆษณาของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

แต่ก็ทำให้นิสิตนักศึกษาเกิดสำนึกที่จะต้องการรับผิดชอบต่อสังคม

หลังจากนั้นมาก็นิสิตนักศึกษาก็เริ่มแสดงออกถึงความคิดต่างๆ โดยในระยะแรก เป็นในรูปแบบของการดำเนินงานของสโมสรมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นกลุ่มที่มีบทบาทนำในการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากที่สุด กิจกรรมที่นิสิตนักศึกษาทำก็มีหลากลาย เช่น

พ.ศ. 2491 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประท้วงสำนักอบรมบัณฑิตสภา เนื่องจากถูกลิดรอนสิทธิที่ได้รับแต่เดิม เมื่อสำนักอบรมบัณฑิตสภากำหนดให้ผู้สำเร็จการศึกษาทางกฎหมาย ต้องเข้ารับจากสำนักก่อนที่จะประกอบอาชีพทางกฎหมาย นักศึกษาจึงรวมกันประท้วงโดยการชุมนุมไม่เข้าฟังการบรรยาย

พ.ศ. 2493 คณะกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศสนับสนุนขบวนการสันติภาพสากล ที่จัดประชุมสมัชชาที่กรุงสต๊อกโฮล์ม และมีมติที่ประชุมออกมาว่า ขอให้มีการห้ามใช้อาวุธปรมาณูโดยปราศจากเงื่อนไข เพราะอาวุธปรมาณูเป็นเครื่องมือในการรุกรานและทำลายมนุษย์

ในปีเดียวกัน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประท้วงกระทรวงมหาดไทย ที่ออกประกาศกฎ กพ. ที่ 110 ให้รัฐศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการคัดเลือกบรรจุเป็นข้าราชการชั้นตรีได้ทันที และมีเงินเพิ่มค่าวิชาอีก 30 บาท

แต่บัณฑิตรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะบรรจุได้เมื่อมีตำแหน่งว่างในอัตราชั้นจัตวาอันดับ 3 รับราชการ 1 ปี จึงปรับเป็นชั้นตรี ไม่มีเงินเพิ่มค่าวิชาการ ในที่สุดกระทรวงมหาดไทยต้องยอมยกเลิกกฎดังกล่าว ให้บัณฑิตของสองสถาบันมีสิทธิเท่าเทียมกัน

พ.ศ. 2494 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสันติภาพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนอกจากจะรณรงค์ต่อต้านสงครามและการใช้อาวุธปรมาณูแล้ว ยังคัดค้านการส่งทหารไปช่วยรบที่ประเทศเกาหลีด้วย

พ.ศ. 2500 เป็นครั้งแรกที่ “นิสิตนักศึกษา” จากทุกสถาบันได้ร่วมกันเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน เมื่อเกิด “เลือกตั้งสกปรก 2500” ขึ้น แม้บทบาทของนิสิตนักศึกษายังเป็นเพียงผู้พิทักษ์ความถูกต้อง ไม่ได้แสดงบทบาทในการวิเคราะห์สะท้อนปัญหา หรือเป็นผู้นำในการเสนอความคิดเห็นใหม่ๆ ก็ตาม

แต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของนิสิตนักศึกษา ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากประชาชนเองก็ไม่พอใจการเลือกตั้งสกปรก 2500 ที่กระทำอย่างออกนอกหน้า มีการบันทึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า

“…บรรดาหนังสือพิมพ์ต่างๆ ลงบทความโจมตี ประชาชนจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ที่ท้องสนามหลวงมีการพูดไฮปาร์ค โจมตีรัฐบาลอย่างหนักหน่วง ประชาชนมาฟังกันล้นหลาม…2 มีนาคม 2500 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หยุดเรียนและชุมนุมกันที่สนามหญ้าหน้าหอประชุม เพื่อประท้วงการเลือกตั้งและลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยระบอบประชาธิปไตย…นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ และประชาชนทยอยมาสมทบ…ขบวนเคลื่อนสู่ทำเนียบ ประชาชนทยอยมาไม่ขาดสายเต็มถนนหน้าทำเนียบและถนนริมคลอง…”

หลังจากนั้นนิสิตนักศึกษาสถาบันทั้ง 5 ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , มหาวิทยาลัยแพทย์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็มีการเยี่ยมเยือนแลกเปลี่ยนพูดคุยกันมากขึ้น จนนิสิตนักศึกษา 5 มหาวิทยาลัยได้หารือกันเพื่อจัดตั้ง สหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (Students Federation of Thailand)  อย่างไรก็ตามการจดทะเบียนก่อตั้งสหภาพดังกล่าวต้องยุติลงด้วยเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2501

วันนี้นอกจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว นิสิตนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ก็คือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางประเทศด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2563