“เลือกตั้งสกปรก 2500” เมื่อหลักฐานโกงเลือกตั้งที่นักข่าวได้มา โดน “ผู้ใหญ่” สั่งเก็บ

กล้องทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม
กล้องถ่ายทีวีสมัยช่อง 4 บางขุนพรหม

“เลือกตั้งสกปรก 2500” เป็นคำนิยามที่เอาไว้ใช้เรียกการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ที่มีการใช้สารพัดวิธีในการโกยคะแนนเสียงเข้าฝั่งตนเอง 

การเลือกตั้งคราวนั้น มีทั้งพวกอันธพาลเข้าก่อกวนการเลือกตั้ง ถึงขั้นทำร้ายกรรมการประจำหน่วยจนได้รับบาดเจ็บ บางหน่วยเที่ยงแล้วก็ยังไม่เปิดให้ลงคะแนน บางหน่วยเลยเวลาปิดหีบแต่ก็ยังไม่ปิด ระหว่างนับคะแนนหากพบบัตรเสียของพรรคเสรีมนังคศิลาก็จะนับเป็นบัตรดี หรือบางหน่วยอยู่ดีๆ ก็ไฟดับ เป็นต้น เรียกว่าเป็นการเลือกตั้งที่น่ากังขามากสุดครั้งหนึ่ง

สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้บุกเบิกวงการโทรทัศน์ ข่าวโทรทัศน์ และโฆษณาโทรทัศน์ของไทย และเป็นคนแรกที่สร้างแอนิเมชันในไทย เคยเล่าถึง “เลือกตั้งสกปรก 2500” ปรากฏอยู่ในตอน “อุดมการณ์ สังหารคนข่าวทีวี” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ผมชื่อ…สรรพสิริ วิรยศิริ” พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ สรรพสิริ วิรยศิริ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ว่า

สรรพสิริ วิริยศิริ

ชีวิตของคนข่าวก็เหมือนกับข่าวที่สนุกสนาน เฮฮา ทั้งที่เศร้าน้ำตาหยดติ๋งๆ ยิ่งคนข่าวของทีวี ที่สื่อทั้งด้วยภาพและด้วยเสียง ยิ่งต้องให้มันโลดโผนโจนทะยานหน่อยถึงจะเข้าท่า ชีวิตคนข่าวทีวีของผมก็มันไม่หยอก หัวร่อคลอน้ำตาว่างั้นเถอะ

ที่ต้องหัวร่อกันจนฟันหลุด ก็ตอนที่ในปี 2498 ตอนเปิดทีวีช่อง 4 ใหม่ๆ เกิดไฟไหม้ใหญ่ที่พิษณุโลก ผมได้ข่าวตั้งแต่ตอนดึก พอรุ่งเช้าก็ไปบินปร๋ออยู่เหนือเมืองสองแควโดยเครื่องดาโกต้าของ บ.ด.ท. ได้ความเอื้ออารีของกัปตันใหญ่ ชื่อเสียงเรียงไรวันหลังต้องค้นให้เจอ กรุณาพาบินวนอยู่เหนือเมืองที่ควันไฟยังลุกไหม้ทะมึนขึ้นสูงกว่าเครื่องบินตั้งหลายรอบ จนกระทั่งผมกับ “เจน จํารัสศิลป์” เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ที่บินไปทําข่าวด้วยกัน บอกว่าฟิล์มจะหมดแล้วครับ แล้วนั้นแหละจึงยอมแหมะเครื่องลงจอด

ด้วยความอารีเป็นพิเศษของรถยนต์ บ.ด.ท. อีกนั่นแหละ ที่ในไม่ช้าพ่อเจนกับผมก็วิ่งพล่านอยู่รอบๆ กองไฟใหญ่ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นครึ่งหนึ่งของตัวเมืองพิษณุโลก ที่ผมมีความรู้สึกผูกพันเป็นอันมาก ในฐานะของเมืองแรกในเมืองไทย ที่ให้ผมเอาทีวีไปอวดต่อจากกรุงเทพฯ เมื่อสองปีก่อนนั้น

เหตุการณ์ระทึกใจเกิดขึ้นแต่กลายเป็นขาลง พอได้ภาพไฟไหม้มุมสูงสวยงามเรียบร้อยสมใจ ผมก็ไต่เดียะลงมาก่อนพ่อเจน อารามดีใจจะได้มาเหยียบพื้น รีบร้อนก้าวลงตั้งแต่ยังเหลืออีกตั้งสองขั้นบันได ผลก็คือคะมำไปข้างหน้า มือคว้าขั้นบันไดไว้ได้ กล้องถ่ายภาพหนังไม่ตก ตัวก็ไม่ตก แต่ส่วนหนึ่งของใบหน้าดันไปโขกเข้ากับขั้นบันได

โชคไม่ดีที่อวัยวะของใบหน้าส่วนที่ไปโขกเบาๆ กับขั้นบันไดนั้นเป็นฟันข้างบน แถมโชคร้ายยิ่งขึ้นไปอีก เป็นฟันปลอมสองซี่ที่ติดซีเมนต์แน่น แต่ไม่แน่นเหมือนธรรมชาติแน่นอน ฟันปลอมติดแน่นก็หลุดออกมา พอเสียบติดเข้าไว้ชั่วคราวได้ ไม่แน่นอย่างเดิมไม่เป็นไร พรุ่งนี้ค่อยไปหาหมอฟัน แต่เหตุอุกฉกรรจ์ชิงเกิดเสียก่อนตอนเสนอข่าวไฟไหม้ใหญ่ทางทีวีช่อง 4 ในคืนนั้น

ถ้าเป็นสมัยนี้ที่มีวิดีโอถ่ายปุ๊บเปิดดูได้ปั๊บ หรือบางทีถ่ายปุ๊ปดูได้ปั๊บโดยไม่ต้องเอามาเปิดใหม่ก็ยังได้ไม่มีปัญหา แต่ที่มีปัญหาเพราะว่ามันเป็นหนังที่ต้องล้าง ต้องตัดต่อ แถมยังต้องเขียนบทอีกด้วย ใช้วิธีข่าวของใครของมัน ข่าวไฟไหม้วันนั้นผมเป็นคนถ่าย แม้ “ไอ้ปู่” จะเป็นคนล้างฟิล์ม แต่ผมก็ยังต้องตัดต่อเองอยู่ดี และยังไม่มีเวลาจะเขียนบทก็ถึงเวลาเสนอข่าวเสียก่อน

เมื่อเขียนบทไม่ทัน คนที่ถ่ายข่าวมาก็ต้องโดดลงไปพากย์เองสดๆ ผมสับเปลี่ยนหน้าที่ขอให้โฆษณาสมชายไปทําหน้าที่ผู้กํากับรายการ แล้วให้ผมลงไปนั่งอ่านข่าวแทน ก็ทําท่าว่าจะเป็นไปได้สวยตอนเริ่มอ่าน แต่พออ่านๆ ตอนท้ายๆ ข่าวไฟไหม้ใหญ่เมืองสองแคว คงจะตื่นเต้น เล่นลิ้นมากไปนิดหรือไงไม่รู้ อยู่ๆ รู้สึกมีอะไรหลุดในปาก เอาลิ้นดุนๆ ตายละวา ฟันปลอมสองซี่ข้างหน้าที่จิ้มใส่ไว้ชั่วคราวน่ะเอง พยายามเอาลิ้นดุนๆ ให้เข้าที่ไม่สําเร็จ มิหนํายังทําท่าว่าจะหลุดเข้าคอถ้าขืนจ้อต่อไป

เห็นท่าไม่ได้การ กลัวจะตกเป็นข่าวคนข่าวทีวีที่ฟันปลอมติดคอตายรายแรกของโลก ผมเอาลิ้นดุนฟันปลอมแล้วกล้อมแกล้มพูดได้แค่สองคําว่า “จบข่าว” พร้อมกับโค้งอย่างสวยงามเพื่ออําพราง แต่ก็เสียดายข่าวอุตส่าห์ถ่ายมาดี๊ดี ควรที่จะฮิตกลับพังไม่เป็นท่า เพราะฟันปลอมทําพิษแท้ๆ ถึงยังไงยังไงผมก็ภูมิใจที่มีส่วนทําให้คนไทยได้มี “ตาทิพย์” เป็นครั้งแรก “หูทิพย์” นะเรามีมานานแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 2473 นับอย่างเดี๋ยวนี้ก็ 2474 ที่วันนั้นเมืองไทยได้มี “วิทยุกระจายเสียง” ส่งเป็นครั้งแรก

รายการวิทยุวันนั้น ประเดิมด้วยความเป็นมงคล คือ การถ่ายทอดสดกระแสพระราชดํารัสของในหลวง รัชกาลที่ 7 ในพระราชพิธีฉัตรมงคลจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปออกอากาศที่สถานีวิทยุกรุงเทพฯ วังพญาไท เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่พสกนิกรทั้งหลายได้ยินพระสุรเสียงของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เป็นการรวมใจให้เกิดความจงรักภักดียิ่งขึ้น ด้วยความรู้สึกที่ใกล้ชิดมิได้ห่างไกลจากเบื้องพระยุคลบาทเช่นกาลก่อน สมตามความหมายของยุคแห่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

และแล้ว 24 ปีหลังจากนั้น “ตาทิพย์” ซึ่งทีวีหยิบยื่นให้แก่ชาวไทย ก็ได้ทําให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทยิ่งขึ้น ด้วยการที่มหาชนทั้งหลายในแผ่นดินได้มีโอกาสประทับใจในรูปโฉมพระวรกายอันสง่างาม และพระพักตร์อันเปี่ยมด้วยพระเมตตาของล้นเกล้าฯ เจ้าแผ่นดินของเรา เป็นคำรบแรก

ความมี “ตาทิพย์” จึงเป็นวิวัฒนาการอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยยุคปัจจุบันอย่างแน่นอน เป็นวิวัฒนาการซึ่งเราท่านมีหน้าที่ต้องอนุรักษ์และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไป เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม มิใช่เฉพาะเพื่อใครคนใดคนเดียวหรือกลุ่มเดียว

ตอนที่มะงุมมะงาหราเข้ารับหน้าที่ เตรียมการให้มี “ตาทิพย์” ขึ้นในเมืองไทย จนถึงเริ่มงานทีวีเป็นกิจจะลักษณะแล้วนั้น อันที่จริงผมยังไม่ค่อยรู้เสียด้วยซ้ำว่า “สื่อสารมวลชน” นั้นมีความหมายแค่ไหน เอาอะไรเป็นมาตรวัดความถูกต้องสมควร แต่เมื่อทําไป ทําไป และเพิ่มความสํานึกในหน้าที่ ความมีเกียรติที่เป็นผู้ให้ความมี “ตาทิพย์” แก่ประชาชนยิ่งขึ้น การทํางานด้วยความซื่อตรงต่ออุดมการณ์จึงชักจะเป็นการหักหาญน้ำใจผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้มีโอกาสชี้ต้นสายปลายเป็นแก่คนในบ้านเมืองนี้เพิ่มทวียิ่งขึ้น

ตอนต้นปี 2500 ไม่ถึงสองปีดีที่เริ่มงานไทยทีวีช่อง 4 ผู้ที่เป็นใหญ่ หรืออยากเป็นใหญ่ในบ้านเมือง เริ่มรู้ได้ว่าไอ้ “ตาทิพย์” นี่มันจะมีประโยชน์อะไรกับการรักษาอํานาจ หรือว่าแสวงหาอํานาจของเราได้บ้าง ใครเป็นก้างขวางคอก็ควรจะดึงทิ้งเสียให้พ้นทาง

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปีนั้น มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่หนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญปี 2495 พรรคเสรีมนังคศิลาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่ ต้องทําทุกอย่างที่จะให้ได้ชัยชนะ เพื่อได้บริหารบ้านเมืองต่อไปก็ถูกแล้ว

แต่ผมเห็นว่า ทุกอย่างที่ทํานั้นควรจะเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ที่ควรต้องให้ประชาชนร่วมรู้เห็นเป็นพยาน ดังนั้นฝ่ายข่าวของไทยทีวีช่อง 4 จะต้องใช้ความมี “ตาทิพย์” สอดส่องความเป็นไปในระหว่างการเลือกตั้ง เอามาเสนอให้คนทั่วไปได้รู้ด้วยอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทําได้โดยตรงไปตรงมาตามหน้าที่ของสื่อสารมวลชน

ตอนปิดหีบบัตรเลือกตั้ง ที่อําเภอหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่ขึ้นชื่อลือชาว่ามีพลร่มไฟชุกชุม ตากล้องของผมหรือผมเองก็จําไม่ได้ ดันใช้ “ตาทิพย์” ยี่ห้อ “โบแล็กซ์” ล่องไปเห็นว่า ทั้งๆ ที่มีจํานวนผู้มีสิทธิออกเสียงไม่มากมาย แต่หีบบัตรนั้นจึงแออัดด้วยบัตรมากมายไหงขนาดนั้น จึงถ่ายเอาภาพเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียดลออ “ไอ้ปู่” ล้างหนังม้วนนั้นเสร็จที่บางขุนพรหม เอามาวางไว้ที่โต๊ะตัดต่อหน่อย พอผมจะลงมือตัด อ้าว ! อันตรธานไปไหนไม่มีใครรู้เสีย

ได้ข่าวภายหลังว่าท่านผู้ใหญ่ไม่พอใจมาก ที่ทีวีแทนที่จะช่วยฝ่ายรัฐบาล ดันไปคอยจับผิดเสียนี่ มันน่านัก

หมายเหตุ : เว้นวรรคและจัดย่อหน้าใหม่โดย กองบรรณาธิการออนไลน์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ กุมภาพันธ์ 2562