ย่าเหล สุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลที่ 6 ที่มหาดเล็กและคุณข้าหลวงหมั่นไส้-ชอบแกล้ง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์อย่างอยู่กับบ้าน ประทับฉายพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมด้วย “ย่าเหล” สุนัขทรงเลี้ยง

“ย่าเหล” เป็นชื่อสุนัขทรงเลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เพราะมีอนุสรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับย่าเหลมากมาย เช่น อนุสาวรีย์ย่าเหลไว้ที่พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ทั้งการเสด็จฯ พระราชทานเพลิงศพย่าเหล ฯลฯ

ทว่ายังมี “นันทา” และ “มากาเร็ต” ฯลฯ เป็นสุนัขทรงเลี้ยงในรัชกาลเช่นกัน แต่ที่โปรดสุดคงหนีไม่พ้น “ย่าเหล”

ดังจะเห็นได้จาก การจัดทำแผ่นทองคำลงยาห้อยคอย่าเหล เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นย่าเหลภายนอกพระราชฐานได้ทราบและนำกลับมาถวายคืน, การพระราชทานเงินเดือน เดือนละ 40 บาท (เท่ากับเงินเดือนมหาดเล็กชั้นสำรอง) เงินเดือนเหล่านี้โปรดให้เก็บรวบรวมไว้ แล้วได้พระราชทานไปในการกุศลต่าง ๆ ในนามของย่าเหล เช่น กุฏิย่าเหลที่วัดพระปฐมเจดีย์, สมทบทุนการจัดซื้อเรือรบหลวงพระร่วงในนามย่าเหล ฯลฯ

การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงย่าเหล เหมือนเป็นคุณมหาดเล็กนี้เอง คงจะทําให้ย่าเหลลําพองตนว่าเป็นสุนัขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เลยทําให้มหาดเล็กบางคนเกิดความหมั่นไส้ และคอยหาเหตุกลั่นแกล้งย่าเหลอยู่เสมอ ๆ เล่ากันว่า

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจภายนอกพระราชฐานคราใด มหาดเล็กซึ่งเป็นคู่ปรับกับย่าเหลมักจะถือโอกาสนั้นรังแกย่าเหลอยู่เสมอ แต่ถึงแม้จะเป็นสุนัขก็ใช่ว่าย่าเหลจะยอมให้ถูกรังแกเอาง่าย ๆ

เมื่อเสด็จพระราชดําเนินกลับสู่พระราชฐานที่ประทับ เวลาเสด็จพระราชดําเนินผ่านคนที่เคยรังแกย่าเหล ซึ่งเดินตามเสด็จมาโดยใกล้ชิด ย่าเหลก็จะตรงเข้างับหน้าแข้งผู้ที่รังแกคนนั้นทันที เป็นที่กราบบังคมทูลฟ้องว่ามหาดเล็กผู้นั้นได้รังแกตนในยามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ประทับอยู่

แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีมหาดเล็กคนใดต้องรับพระราชอาญาเพราะรังแกย่าเหลเลย จะมีบ้างก็แต่เพียงรับสั่งตําหนิฉันนายกับบ่าว ดังที่นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง ประสาท สุขุม ได้บันทึกไว้ว่า

“ข้าพเจ้าชอบสัตว์โดยเฉพาะสุนัขมาก ฉะนั้นในโอกาสที่ข้าพเจ้าเข้าเฝ้า และอยู่ใกล้ย่าเหล ข้าพเจ้ามักจะรังแกมันเสมอ โดยการแอบบีบหางบ้าง บีบขาบ้าง ดึงขนบ้าง แล้วแต่ใกล้อะไร และในทํานองเดียวกัน ย่าเหลก็โกรธข้าพเจ้า มันก็หันมากัดบ้าง ตามภาษาหมาของมันเท่าที่มันจะแสดงออกมาได้ แต่ทว่ามันชอบทําเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ข้าพเจ้าถูกพระองค์กริ้วข้าพเจ้าบ่อย ๆ ในครั้งหนึ่งถ้าจะทรงรําคาญ จึงมีพระราชดํารัสว่า

‘ไอ้นี่ชอบกัดกับหมาจริง’

นับแต่นั้นก็ทรงขนานนามข้าพเจ้าว่า ‘ไอ้หมา’

ดังที่ข้าพเจ้าเล่ามานี้ บางทีจะเข้าใจกันถ่องแท้ว่า ข้าพเจ้าได้ชื่อว่า ‘ไอ้หมา’ มิใช่ไปกัดกับย่าเหล แต่ถ้าจะเข้าใจว่า ‘ข้าพเจ้ากัดกับย่าเหลจนได้ชื่อว่าไอ้หมาก็คงไม่แปลกอะไรนัก’”

เมื่อย่าเหล่เสียชีวิตลง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้สุนัขทรงเลี้ยงตัวใหม่แทน แต่ที่ทรงเมตตาเป็นพิเศษคงเป็น “นันทา” และ “มากาเร็ต” ที่พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) จัดหามาถวายเป็นสุนัขทรงเลี้ยงใหม่  สุนัขทรงเลี้ยงทั้งสองนี้ได้ถวายการรับใช้และได้ตามเสด็จไปทุกหนทุกแห่ง ตราบจนเสด็จสวรรคต ดังที่คุณเจรียง (อากาศวรรธนะ) ลัดพลี คุณข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาได้บันทึกไว้ใน “รําลึกพระมหากรุณาธิคุณ” ว่า

“นันทา มากาเร็ต จะต้องตามเสด็จล้นเกล้าฯ ทุกแห่ง ฉะนั้นเมื่อเวลาเสด็จเข้ามาเสวยเขาก็ตามเสด็จมาด้วย ฉะนั้นเวลาเชิญเครื่องขึ้นจะต้องมีน้ำมาให้ทั้งสองกินด้วยทุกครั้ง น้ำใสสอาดจะใส่มาในจานกินข้าวที่มีก้นลึก แล้วก็จะมีชามแกงเนื้อดี ใส่ก้อนน้ำแข็งเปล่าตอกเป็นก้อนเล็ก ๆ วางมาตรงกลางจานในน้ำเพื่อน้ำเย็นหรืออะไร ทํานองนั้น พวกเราไม่มีน้ำจะกินเหมือนเขา เวลาอยากขึ้นมาก็แอบแย่งกันควักน้ำแข็ง กันคนละก้อนสองก้อนแทบหมดทุกที เสร็จแล้วก็มาไต่ถามถกเถียงกันเป็นขบขันว่า วันนี้ใครเป็นผู้แย่งน้ำหมากินบ้าง”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวังในบั้นปลายพระชนมชีพ นันทาและมากะเร็ตก็ได้ตามเสด็จไปด้วย ดังมีบันทึกของนายแพทย์เมนเดลสัน (R.W.M. Mendelson) ศัลยแพทย์ประจําโรงพยาบาลกลางซึ่งได้เข้าไปถวายการรักษาพระอาการประชวรว่าเห็นสุนัขทั้งสองนี้ป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ที่ประทับในเวลาที่ทรงพระประชวร และเมื่อพระองค์สวรรคตลงไม่นาน สุนัขทั้งสองก็เสียชีวิตลงเช่นกัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วรชาติ มีชูบท. “สุนัขทรงเลี้ยง ในรัชกาลที่ 6” ใน ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2562