ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เลี้ยงแมวต้องมีบุญ! “แมว” ไม่ใช่ใครก็เลี้ยงได้ เพราะต้องมีบุญเทียบเท่าและเหมาะสมกับแมว
“แมว” สัตว์เลี้ยง ที่ใครต่างก็เอ็นดูและมักเลี้ยงไว้ ด้วยความน่ารัก ขี้อ้อน แต่บางครั้งก็ทำตัวเย่อหยิ่ง ทั้งรูปลักษณ์ภายนอกยังเต็มไปด้วยความปุกปุย เหมือนเจ้าก้อนขน จึงทำให้หลายคนตกหลุมรักเหล่าน้อง ๆ ได้ไม่ยาก
ในสมัยนี้การเลี้ยง แมว สัตว์เลี้ยง สุดน่ารัก อาจจะเลี้ยงเพราะความน่ารักหรือสงสาร ไม่ได้คาดหวังว่าเจ้าแมวจะมอบอะไรให้เป็นพิเศษ แค่อยู่ด้วยกัน ได้มองความแสบซน แม้จะต้องนั่งเก็บอึหรือต้องเอาใจ ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าของแล้ว
แต่รู้หรือไม่ว่า สมัยก่อน คนต่างเลี้ยงแมวเพราะแมวเป็นสัตว์ที่จะช่วยหนุนนำความเจริญ เพิ่มบุญบารมีให้ผู้เลี้ยง และที่สำคัญคือ กว่าจะเลี้ยงแมวได้ คนที่เลี้ยงต้องมีบุญเทียบเท่ากับแมวอีกด้วย
คนเลี้ยงแมวต้องมีบุญ
ในหนังสือ “Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว” (สำนักพิมพ์มติชน) ผลงานของนักประวัติศาสตร์ผู้รักแมว อย่าง กำพล จำปาพันธ์ ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ จากการอ้างอิงตำราแมวโบราณหลายฉบับ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ช่วงอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ว่า…
คติความคิดของคนสมัยก่อนมองว่าเจ้าก้อนขนที่มีหลายสี เป็นสัตว์ที่มีบุญมาก สามารถหนุนนำชีวิตตนไปสู่ทางที่ดีได้ เพราะปรากฏนานาหลักฐาน บ้างก็ว่า “เพราะบุญแมวแล้ววาศหนาตน” หรือ “ด้วยว่าบุนแมวนั้นมีมาก”
มีความเชื่อว่าเลี้ยงแมวจะทำให้การค้ารุ่งเรือง ไม่มีขาดทุน บางคนถึงขั้นคิดว่าบุญของแมวจะสามารถหนุนนำให้ตัวเองได้เป็นท้าวพระยาหรือเจ้าพระยาได้อีกด้วย
ทั้งแมวยังสามารถทำให้คนที่เลี้ยงได้ภรรยา ได้รับความรักความเมตตา รวมไปถึงความสุขในการใช้ชีวิต (ก็คล้าย ๆ กับปัจจุบันอยู่ไม่น้อย)
ด้วยชื่อเสียงอันเลื่องลือไปทั่วพื้นที่ ทำให้หลายคนอยากเลี้ยงแมว แต่ที่จริงแล้วการเลี้ยงดูปูเสื่อแมวในตอนนั้นมีข้อควรระวังหรือข้อห้ามหลายประการ ซึ่งหลายคนน่าจะคาดไม่ถึงมาก่อน
เพราะไม่ใช่คนจะมีโอกาสเลือกเป็นเจ้าของแมว แต่เป็นแมวต่างหากที่จะเป็น HR หรือผู้คัดเลือก ว่าใครสอบผ่านหรือสอบตก และสิ่งที่สำคัญคือ “บุญ” ต้องเท่ากัน ง่าย ๆ คือต้องตรงไทป์กันทั้งคู่นั่นแหละ
ถ้าบุญไม่ถึงแมวก็อด! ไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าเข้าเจ้าของอะไรกันอีก ในตำราแมวระบุไว้ว่า “ผู้ใดบุนมี จึงจะได้มาเลี้ยงไว้” หรือ “เพราะบุญทังสอง จึ่งคลองคล้าเปนวาศนาจึ่งได้มา”
ด้วยเหตุนี้ ทำให้กลุ่มคนที่เลี้ยงแมวส่วนใหญ่จึงเป็นชนชั้นเจ้านาย
นอกจากนี้ ยังมีแมวบางชนิดที่เหมาะกับคนบางประเภทเท่านั้น เช่นแมววิลาศ มักจะชอบพระ แมวสะดือด่าง จะชื่นชอบและเหมาะกับพ่อค้า เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- แมวของ “สมเด็จฯ กรมดำรงราชานุภาพ” ลักษณะเป็นอย่างไร ทำไมพระองค์จึงรับเลี้ยง?
- กรุงศรีอยุธยามี “ชาวเปอร์เซีย” ตั้งรกราก แต่ทำไมไม่ปรากฏหลักฐาน “แมวเปอร์เซีย”?
- เซอร์จอห์น เบาว์ริง-สังฆราชปาลเลกัวซ์ สุดทึ่ง! กรุงเทพฯ “เมืองแมว”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กำพล จำปาพันธ์. Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มีนาคม 2567