ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เซอร์จอห์น เบาว์ริง-สังฆราชปาลเลกัวซ์ สุดทึ่ง! กรุงเทพฯ เมืองแมว
เราอาจรู้จักสังคมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ในแง่วิถีชีวิตผู้คน แต่เราแทบไม่รู้เรื่องเพื่อนร่วมโลกอย่าง “สุนัข-แมว” ในสมัยนั้นสักเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องสัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้ เซอร์จอห์น เบาว์ริง และ สังฆราชปาลเลกัวซ์ ชาวต่างชาติที่มีบทบาทสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3-4 ได้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน ทำให้รู้ว่า กรุงเทพฯ เมืองแมว เป็นอย่างไร
กำพล จำปาพันธ์ นักประวัติศาสตร์ เล่าไว้ในผลงานเล่มล่าสุด “Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว” (สำนักพิมพ์มติชน, 2567) ว่า
กรุงเทพมหานคร สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นเมืองที่ชุกชุมไปด้วย “แมว” เหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังที่ เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) ราชทูตอังกฤษที่เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริง สมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกไว้ว่า
“ในถนนหนทางและบ้านเรือนของชาวสยาม มีสุนัขและแมวเป็นจำนวนมาก สุนัขนั้นก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นและสกปรก เป็นสัตว์ที่ไม่มีตระกูล การปรากฏตัวของพวกมันโดยเฉพาะตามวัดวาอารามก่อให้เกิดความรบกวนและเป็นที่รังเกียจ
“ส่วนแมวนั้น พวกมันจำนวนมากสวยแต้มเป็นสีและรูปต่างๆ ไม่เหมือนแมวตระกูลยุโรปทั่วไป พวกมันมีทั้งหางยาว หางสั้น หางกวัก หางกุด คือไม่มีหางเลย แมวที่จับหนูดีที่สุดคือพวกที่มีขนสีเปลือกลูกเกาลัด มีจุดแต้มสีดำและขาว ซึ่งพวกเราได้เอาไปเป็นตัวอย่างหลายตัว และพวกมันก็เป็นที่โปรดปรานในความรักและการเอาใจจากเจ้าของ และคุณภาพที่เป็นประโยชน์ของมัน”
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเซอร์จอห์น เบาว์ริง เทใจให้น้องแมวชัดเจน!
จากบันทึกข้างต้น กำพลสังเกตว่า ประโยค “ซึ่งพวกเราได้เอาไปเป็นตัวอย่างหลายตัว” ทำให้ทราบว่าคณะของเซอร์จอห์น เบาว์ริง น่าจะเป็นกลุ่มแรกๆ ตามที่มีหลักฐานปรากฏเรื่องการนำแมวสยามไปยังประเทศในยุโรป
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่มีหลักฐานบอกว่า บรรดาแมวที่นำออกไปนั้นอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ หรือมีลูกแมวหลานแมวหรือเปล่า เพราะการนำแมวจากประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนอบอ้าวไปยังประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นเป็นเรื่องค่อนข้างลำบาก ระยะแรกของการเดินทางของแมวสยามจะพบว่า พวกมันมีอายุสั้นมาก เพราะทนกับสภาพอากาศและโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้เท่าช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20
เซอร์จอห์น เบาว์ริง ยังกล่าวถึงสุนัขและแมวที่อยู่ในวัดในกรุงเทพฯ ด้วยว่า
“สุนัขและแมวนั้นมีอยู่มากมายภายในกำแพงของวัด ณ ที่นั้น พวกมันมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยและแก่ตาย แน่นอนพวกมันเป็นสิ่งรบกวน แต่ว่ากรุงเทพฯ ก็มิสู้จะเลวร้ายกว่ากรุงดามัสกัส หรือกรุงคอนสแตนติโนเปิล”
กำพลยังยกตัวอย่างบุคคลสำคัญอีกหนึ่งราย ที่ทำให้เห็นถึงความเป็น กรุงเทพฯ เมืองแมว ก็คือ ฌัง-บัพติสต์ ปาลเลกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ในสยามตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 4
สังฆราชปาลเลกัวซ์ มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชุมชนชาวคริสต์ในหัวเมืองต่างๆ ในสยาม ทั้ง อยุธยา อินทร์บุรี พรหมบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี บางปลาสร้อย แปดริ้ว นครนายก ระยอง จันทบุรี และทุ่งใหญ่ ซึ่งทุกที่ที่ไป สัตว์ที่มีมากก็คือสุนัขและแมวนั่นเอง จนสังฆราชปาลเลกัวซ์ถึงกับออกปาก “หมากับแมวมีมากเหลือเกินในประเทศสยาม”
กำพลให้เหตุผลว่า ที่สยามมีสุนัขและแมวเยอะ เพราะนอกจากสัตว์ทั้ง 2 ชนิดแล้ว สยามยังมี “หนู” ชุกชุม ผู้คนจึงนิยมเลี้ยงแมวไว้ตามบ้านเรือนเพื่อให้ช่วยไล่หนู และวิธีหนึ่งที่จะให้แมวอยู่แต่บนเรือนก็คือการเลี้ยงสุนัขไว้ใต้ถุนเรือน
จากเมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่ชาวสยามเลี้ยงสุนัขและแมวไว้เพื่อประโยชน์ใช้สอย มาถึงปัจจุบันนี้ ทั้งสุนัขและแมวต่างกลายเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักประจำบ้านไปแล้ว
อ่านเพิ่มเติม :
- กรุงศรีอยุธยามี “ชาวเปอร์เซีย” ตั้งรกราก แต่ทำไมไม่ปรากฏหลักฐาน “แมวเปอร์เซีย”?
- เปิดสมุดข่อย ส่องตำราแมวไทย เลี้ยงไว้ท่านว่าเป็นมงคล
- ทาสแมวต้องอ่าน “ลักษณะแมวให้คุณ-ให้โทษ” บันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กำพล จำปาพันธ์. Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2567