เปิดสมุดข่อย ส่องตำราแมวไทย เลี้ยงไว้ท่านว่าเป็นมงคล

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่หลายวัฒนธรรมทั่วโลก ในดินแดนประเทศไทยก็มีวัฒนธรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับแมวมากมาย นอกจากนี้ยังพบแมวปรากฏในวรรณคดีอย่างเรื่องยอพระกลิ่น และคำสุภาษิตต่าง ๆ ก็ปรากฏให้เห็น

แมวไทยขึ้นชื่อว่ามีลักษณะดีเด่นหลายประการ มีรูปร่างสง่างาม สีสวย และขนละเอียด ดังนั้น ใน พ.ศ. 2427 นายโอเวน กูลด์ และนายไซริล ยีทส์ ได้นำแมวไทยกลับไปอังกฤษคู่หนึ่ง และนำแมวไปประกวดในระดับนานาชาติ นั่นทำให้ชื่อเสียงของแมวไทยเริ่มเป็นที่รู้จักและโด่งดังมาตั้งแต่นั้น

แมวไทยตามตำราดูลักษณะแมว ได้กล่าวถึงแมวไทยที่มีลักษณะดีและให้คุณนั้นมี 17 ชนิด ได้แก่ นิลรัตน์, วิลาศ, ศุภลักษณ์หรือทองแดง, เก้าแต้ม, มาเลศหรือดอกเลา, แซมเศวต, รัตนกัมพล, วิเชียรมาส, นิลจักร, มุลิลา, กรอบแว่นหรืออานม้า, ปัตเศวตหรือปัดตลอด, กระจอก, สิงหเสพย์, การะเวก, จตุบท และ โกญจา

ยกตัวอย่างเช่น ศุภลักษณ์หรือทองแดง ตามตำราท่านว่า “หนึ่งนามทองแดงแสงใส เล็บลิ้นฟันใน นั้นทองแดงดั่งแกล้งย้อมทา ใครเลี้ยงจะได้ยศฐา ยิ่งพ้นพรรณา เป็นที่อำมาตย์มนตรี” นอกจากนี้ แมวทั้ง 17 ชนิดดังกล่าว ตามตำราท่านว่าอย่าเอาไปทิ้ง ให้ฝังไว้นานเป็นแรมปี แล้วเก็บกระดูกใส่หม้อรักษาไว้ จะให้คุณ ดังความว่า “อัฐิแมวนั้นมี คุณยิ่ง นักแล อาจประหารภัยนั้น กอบเกื้อพูนผล”

นอกจากตำรานี้แล้ว ยังมีสมุดข่อย “ตำราแมว” ซึ่งเก็บรักษาที่หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (The British Library) ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของแมวไทยโบราณ และความมงคลในด้านต่าง ๆ หากเลี้ยงแมวชนิดนั้น ๆ ไว้ ยกตัวอย่างเช่น

“วิลารีที่สองประกอบยศ ดำมดถีถวนเปนนักหนา ทั่วทั้งษาร่ภางกายา ทังลบลินพันตานั้นดำดี นามชื่อว่านิลรัด ใม่ของขัดปลอมแปลกแทรกสี ใครยเลียงไว้จักใดเปนเสนีเปนมลตรียผูใหญ่ไชยชาน ประกอบด้วยย่ดปราก่ฏยิ่ง ทุกสิ่งษาร่พันจหาวหาร ทั่งอายูจ่ยืนยาวนาน จ่สำร้าญรวยรืนชืนใจย”

“วิลารีที่สามนั้นงามเลิด ดูประเสีรฏดังสูวัรรอันผ่องใส ศรีแสงแดงทั่งทังงตังไปย ทังเลบตานั้นใสยประกอบกัน ดูงามลำเลีดประเสีรฏสี เลียงไวยใหดีอยาตีรัน จ่เกิดพ่ส่การทุกสิ่งอัน ษาร่พัรรพูนสุกทุกเวลา”

สมุดข่อยตำราแมวไทยโบราณ (จากหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ)

“วีลารียที่เจ็ดต้องสักข่นา พืนดังมึกทาเปนแสงใสย ที่ท่าวข้าวผ่องย่องไญย จ่มูกคางคางใสยวิไลยดี สองเอวนั้นดางอยู่ตร่งกัน วีลานั้นดูงามประเสีรฏสี จงเรงรักษาใหจ่งดี จ่เกีดลาพมากมีอยู่กายกอง”

“วีลารียทีสิบนั้นพืนดำ สีท่าวข้าวขำดูอำไภ จมูกหางนั้นดางเปนสางไปย เนตรทังสองใสยมาไสยดี แม้วนี้ละเลีดประเสีรฏนัก ดูงานหน้ารักประเสีรฏศรี ไครยเลียงไว้ยจักได้เปนม่ลตรีย จเปร้มปรียิ่งยดปราก่ฏไปย”

“ทัษ่เอกาวีลารีย พืนนั้นดำดีเปนแสงใสย ท้าวข้าวผ่องล่องใญย จ่มูกหางนั้นใสยประจ่บกัน หูตาค่างข้าวทังร้าวอ่ก เมื่อผันผ่กห่กเหีนดูเฉีดฉัน เมื่พิษช่มเหนสมทุกสิ่งอัน มางามครันยิ่งกว่าวีลารีย ต่อกูสนของไครยจึ่งจ่ใดเลียง มากล่อมเกลียงพีทักจำเรีญสี เช้นนี้ไม่มีไครยเปรียบใด้ย”

สมุดข่อยตำราแมวไทยโบราณ (จากหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ)

ตำราแมวเหล่านี้นับว่าเป็นเอกสารที่มีคุณค่าอย่างมาก เพราะทำให้เห็นถึงลักษณะของแมวไทยโบราณ ทำให้เห็นถึงคติความเชื่อการเลี้ยงแมวของไทยในสมัยก่อน ทั้งนี้สามารถชมสมุดข่อยตำราแมวไทยนี้ได้ที่เว็บไซต์ของหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (Animals in Thai manuscript art)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Jana Igunma. (2015). Animals in Thai manuscript art. Access 15 August 2021, from https://www.bl.uk/animal-tales/articles/animals-in-thai-manuscript-art.

ประยงค์ อนันทวงศ์. (2516). แมวไทย ใน, แจ่ม-พิมพ์ อนุสรณ์, อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายแจ่ม นางพิมพ์ อนันทวงศ์ ณ เมรุวัดจันทร์ประดิษฐาราม แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : รุ่งโรจน์การพิมพ์.

วัดอนงคาราม. (2500). ตำราดูลักษณะแมว กวนข้าวทิพย์ พิธีพิรุณศาสตร์, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทฺธสรมหาเถระ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 21 เมษายน 2500. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 สิงหาคม 2564