ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กรุงศรีอยุธยา มีความสัมพันธ์กับหลายชาติ หนึ่งในนั้นคือ “ชาวเปอร์เซีย” ปรากฏชุมชนชาวเปอร์เซียอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าชาวเปอร์เซียเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ แล้วพา “แมวเปอร์เซีย” สัตว์เลี้ยงสุดน่ารักเข้ามาด้วยหรือไม่ ทำไมถึงไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้?
กำพล จำปาพันธ์ นักประวัติศาสตร์ เฉลยประเด็นนี้ไว้ในผลงานเล่มล่าสุด “Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว” (สำนักพิมพ์มติชน, 2567) ว่า
ย้อนไปเมื่อครั้ง “ชาวเปอร์เซีย” เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา มีบันทึกเกี่ยวกับสัตว์แปลกที่พบในอยุธยา ตามเอกสารเรื่อง “สำเภากษัตริย์สุไลมาน” (The Ship of Sulaiman) ซึ่งเป็นบันทึกของคณะทูตเปอร์เซียรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ว่า เจอสัตว์แปลกที่ไม่มีในบ้านเมืองของพวกเขาอยู่ 2 ชนิด คือ แมวบิน (สันนิษฐานว่าหมายถึงกระรอก) และ แมวตาเสือ
อย่างไรก็ดี บันทึกของคณะทูตเปอร์เซียไม่มีระบุถึง “แมวเปอร์เซีย” (Persian Cat) ไว้เลยสักจุด เหตุใดแมวเปอร์เซียที่เชื่อว่าเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นยุคที่ชาวเปอร์เซียเข้ามาค้าขายและมีบทบาทมาก แต่กลับไม่พบหลักฐานว่ามีแมวชนิดนี้อยู่ในอยุธยา แม้แต่ตำราแมวที่แต่งกันแพร่หลายสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ไม่ระบุถึงแมวเปอร์เซีย
แล้วแมวเปอร์เซียหายไปไหน!?
กำพล บอกว่า ข้อมูลจากงานศึกษาประวัติศาสตร์แมวในต่างประเทศระบุว่า แมวเปอร์เซียเป็นแมวที่เพิ่งจะแพร่หลายไปจากฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปจากตุรกีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เดิมเรียกว่า “แมวแองโกร่า” (Angora Cat) ต่อมาเมื่อผสมกับแมวพันธุ์พื้นเมืองของเอเชียใต้ จึงเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่รู้จักกันภายหลังว่า แมวเปอร์เซีย
“ดังนั้นจึงเข้าใจได้ในแง่นี้ว่าเหตุใดจึงไม่มีแมวเปอร์เซียในอยุธยา” กำพล สรุป
อ่านเพิ่มเติม :
- ทาสแมวต้องอ่าน “ลักษณะแมวให้คุณ-ให้โทษ” บันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา
- เปิดสมุดข่อย ส่องตำราแมวไทย เลี้ยงไว้ท่านว่าเป็นมงคล
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กำพล จำปาพันธ์. Siamese Cat สยามวิฬาร์ & ประวัติศาสตร์ไทยฉบับแมวเหมียว. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2567