“ดาบฟ้าฟื้น” ของขุนแผน ได้ชื่อจากบรรพชนลาว “อาวุธวิเศษผีฟ้าพญาแถน”

ขุนแผน ตีดาบ ดาบฟ้าฟื้น
ภาพขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้น วาดโดย อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ประกอบหนังสือ “เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน สำนวนกาญจนาคพันธุ์ และ นายตำรา ณ เมืองใต้” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504

เหล็กที่ใช้ตี ดาบฟ้าฟื้น มีส่วนผสมเป็นเหล็กจากเหมือง 2 แห่งที่ใช้เพื่อสร้างพระราชกกุธภัณฑ์ และเหล็กจากยอดปราสาทของพระมหาราชวัง ขุนแผน เรียกดาบนี้ว่าดาบฟ้าฟื้น มีความหมายว่า ฟ้าร้องก่อนฝนมา และเป็นชื่อหนึ่งของอาวุธในบรรดาพระราชกกุธภัณฑ์ที่ถวายในพระราชพิธีครองราชย์ของขุนบรม พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในตำนานไทย-ลาว (คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2551) ขุนแผนยังบอกกับลูกชายว่า

“อันฟ้าฟื้นเล่มนี้ดียิ่งนัก

ดาบอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเลย

ตัวพระแสงทรงองค์กษัตริย์

ไม่เทียมทัดของเราดอกเจ้าเอ๋ย”

ส่วนสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึง “ดาบฟ้าฟื้น” ว่าได้ชื่อจากบรรพชนลาว

“ขุนแผนตีดาบฟ้าฟื้น” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

“ฟ้าฟื้น” ในชื่อดาบฟ้าฟื้นของขุนแผน มีร่องรอยให้น่าเชื่อว่ามาจากชื่อปู่ฟ้าฟื้นในตำนานผีบรรพชนของกษัตริย์ หรือเจ้านายเมืองน่าน ซึ่งมีลำดับรายชื่ออยู่ในจารึกพบที่เมืองสุโขทัย

ดาบฟ้าฟื้น หมายถึง ดาบ (อาวุธ) วิเศษที่ผีฟ้าพญาแถนสร้างคืนกลับขึ้นใหม่ในสถานการณ์ศักดิ์สิทธิ์

ฟ้าฟื้น หมายถึง เทวดาสร้างคืนกลับขึ้นใหม่ (ฟ้า หมายถึง เทวดา, แถน, ฟื้น แปลว่า คืนกลับ, พลิกกลับขึ้นมา, สร้างใหม่)

ปู่เมืองน่าน หลานเมืองสุโขทัย จารึกที่มีชื่อปู่ฟ้าฟื้น เป็นจารึกหลักที่ 45 เรียกกันด้วยภาษาปากว่าจารึกปู่สบถหลาน หรือปู่หลานสบถกัน พบที่วิหารสูง วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย (ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2508 หน้า 61)

เนื้อหาสาระสำคัญของจารึกปู่สบถหลานเกี่ยวกับคำสัตย์สาบานที่ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1935 ว่าจะไม่รบพุ่งรุกรานกันระหว่างเครือญาติ 2 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์เมืองน่านผู้เป็นปู่ กับราชวงศ์เมืองสุโขทัย ผู้เป็นหลาน (สรุปจากหนังสือรวมบทความวิชาการชื่อ ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด ของ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549)

น่าน-หลวงพระบาง เมืองน่านกับหลวงพระบาง เป็นเมืองเครือญาติใกล้ชิดสนิทสนมมาแต่ยุคแรกๆ ราวหลัง พ.ศ. 1700

ตำนานลาวเล่าว่าเจ้าฟ้างุ่มหนีความขัดแย้งทางการเมืองในหลวงพระบาง ไปตายอยู่เมืองน่าน

เมืองน่านอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงในไทย ส่วนเมืองหลวงพระบางอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในลาว (แล้วเชื่อมโยงเป็นเครือญาติไปถึงเมืองแถนในเวียดนาม)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. “ชีวประวัติของเสภาขุนช้างขุนแผน”. ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2551.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “ดาบฟ้าฟื้น พระแสงขรรค์ชัยศรี ลาวปนเขมร กรุงศรีอยุธยา”. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 – 22 มีนาคม 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2562