ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|---|
เผยแพร่ |
ขุนช้างขุนแผน มีกำเนิดและพัฒนาการเป็น “นิทาน” ของรัฐสุพรรณภูมิ ขุนช้างขุนแผนที่รู้จักปัจจุบันเป็น วรรณกรรม “ผู้ดี” กระฎุมพี ไม่ใช่วรรณกรรมสะท้อนชีวิตชาวบ้านสามัญชน
“วันทองสองใจ” ข้อกล่าวหาใส่ร้าย เป็นผลจากวัฒนธรรมผู้ดี-กระฎุมพี
1. ถูกเลี้ยงดูในวัฒนธรรมผู้ดีกระฎุมพี อำนาจตัดสินใจอยู่ในกำมือของแม่ (นางศรีประจัน) ตระกูลเศรษฐีท่าพี่เลี้ยง
2. ผัวทั้งสองก็มาจากอำนาจบงการของแม่ (ยกเว้นเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งครั้งแรก)
3. ตนเองซื่อตรงต่อผัวทีละคน แต่มีมลทินเพราะอำนาจบงการจากคนอื่น คือ ครั้งแรกจากแม่ ส่วนครั้งหลังจากขุนแผน “ฉุด” จากเรือนขุนช้าง
ตำนานวีรบุรุษ
จะกล่าวถึงขุนแผนกับขุนช้าง ทั้งนวลนางวันทองผ่องศรี
ศักราชร้อยสี่สิบเจ็ดปี พ่อแม่เขาเหล่านี้คนครั้งนั้น
กลอนเสภาต้นเรื่องบอกศักราช 147 เป็น “ศักราชสมมุติ” หมายถึงเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ (เหมือนคนแต่กอนชอบพูดว่า “สมัยพระเจ้าเหา”)
พบในเอกสารโบราณ (เช่น ตำนานสิงหนวัติกุมาร) หมายถึงปีที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพาน (คำอธิบายของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2538)
สมเด็จฯ พยายามปรับแก้เป็นศักราช 847 เพื่อให้ตรงกับเหตุการณ์ที่เป็นจริงของสมัยอยุธยา ทั้งๆ ทั้งหมดเป็นเรื่องไม่มีจริง แต่เป็นนิทาน
ขุนช้างขุนแผนไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็น “ตำนานวีรบุรุษ” ของรัฐสุพรรณภูมิ จากนั้นมีการแต่งเติมเพิ่มโครงเรื่องย่อย และเพิ่มตัวละครตามที่รู้จักทุกวันนี้
พบหลักฐานต่างๆ บอกความเป็นมา ได้แก่ ตำนานขุนแผน, ตำนานพระพันวษา
ตำนานขุนแผน เป็นทหารเอก “วีรบุรุษในตำนาน” (ไม่มีตัวตนจริง) ของ.) เมืองสุพรรณ พบคำบอกเล่าในคำให้การชาวกรุงเก่า ว่าพระพันวษาให้ขุนแผนผู้มีอาวุธวิเศษคือดาบฟ้าฟื้น เป็นแม่ทัพยกไปตีได้เมืองเชียงใหม่
เมื่ออายุมากขุนแผนถวายดาบฟ้าฟื้น ฝ่ายพระพันวษารับไว้แล้ววางดาบฟ้าฟื้นของขุนแผนคู่กับพระขรรค์ชัยศรี (ของพระยาแกรก) ลาวปนเขมร
ขุนแผน แปลว่า “พระพรหม” พบในโองการแช่งน้ำ ดาบฟ้าฟื้น เป็นชื่อผีบรรพชนเมืองน่าน-เมืองหลวงพระบาง ชื่อ “ฟ้าฟื้น” พบในจารึกสุโขทัย หลัก 45 (จารึกปู่หลานสบถกัน)
ตำนานพระพันวษา เป็นกษัตริย์ในตำนาน (ไม่มีตัวตนจริง) ของเมืองสุพรรณ พบร่องรอยในพงศาวดารเหนือ ว่าพระพันวษาเป็นราชบุตรของพญาพาน (ตามเรื่องพญากงพญาพาน) แห่งเมืองนครชัยศรี ลุ่มน้ำท่าจีน (จ. นครปฐม)
พระพันวษา คือ พระพันปี เป็นคำยกย่องที่รับจากวัฒนธรรมจีน (เพราะกษัตริย์สุพรรณภูมิใกล้ชิดกับจีน)
วรรณกรรม “ผู้ดี” กระฎุมพี
ขุนช้างขุนแผนฉบับพิมพ์แพร่หลาย ไม่ใช่วรรณกรรมชาวบ้านตามที่ถูกครอบงำมานานมากจากระบบการศึกษา แต่เป็นวรรณกรรม “ผู้ดี” กระฎุมพี
- คนแต่งกลอนเสภาล้วนมาจาก “ผู้ดี” กระฎุมพี
- เนื้อหาหลักเป็นวิถีชีวิตของ “ผู้ดี” กระฎุมพี
- คนอ่านสมัยแรกเป็น “ผู้ดี” กระฎุมพี สมัยหลังเป็นคนในชนชั้นกลาง ชาวบ้านทั่วไปไม่อ่าน
พม่าเผาวรรณคดี
กรุงแตก พม่าเผาอยุธยา เลยถูกกล่าวหาพม่าเผาวรรณคดีอยุธยา รวมทั้งเผาขุนช้างขุนแผน จึงไม่พบสมุดข่อยต้นฉบับเสภาขุนช้างขุนแผน
แต่ในความเป็นจริง สมัยอยุธยาไม่เคยมีสมุดข่อยต้นฉบับหนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน คำอธิบายมีดังนี้
1. ขุนช้างขุนแผนเป็นคำบอกเล่ามีแล้วสมัยอยุธยา แต่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่เป็นกลอนเสภา ไม่ตีกรับขับเสภา
2. ขุนช้างขุนแผนเป็นลายลักษณ์อักษรกลอนเสภา มีครั้งแรกสมัยรัตนโกสินทร์ จึงมีตีกรับขับเสภาอย่างที่รู้จักทุกวันนี้
ดังนั้นเป็นวรรณกรรมกรุงรัตนโกสินทร์ สะท้อนวิถีชีวิตกระฎุมพี ชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย
3. ขุนช้างขุนแผน มีต้นตอเป็นตำนานวีรบุรุษชื่อขุนแผนของรัฐสุพรรณภูมิ ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง แต่ถูกโอนสมัยต่อมาไปเป็นของอยุธยา ด้วยเหตุผลทางสังคมและการเมือง
อ่านเพิ่มเติม :
- อวสานชีวิตนางวันทอง กับ “ฉากรักในป่า” ฉากรักสำคัญสุดในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน
- ทำไมต้องฆ่าวันทอง? วิเคราะห์ “นางวันทองสองใจ” จริงหรือ แล้วผิดข้อหาอะไร
- ขุนแผน “พระเอกในอุดมคติ” หรือ “ผู้ร้ายที่แฝงตัวในคราบพระเอก”
ชมรายการทอดน่องท่องเที่ยว
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดความจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ. ขุนช้างขุนแผน พื้นเพสุพรรณเมืองเพลง วรรณกรรม “ผู้ดี” กระฎุมพี, เอกสารประกอบรายการทอดน่องท่องเที่ยว | มีนาคม 2564
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2564