ขุนแผน “พระเอกในอุดมคติ” หรือ “ผู้ร้ายที่แฝงตัวในคราบพระเอก”

เสภาขุนช้างขุนแผน ขุนแผน วันทอง นางวันทอง ฉาก ใน ป่า เล่นน้ำ
“ขุนแผนพานางวันทองลงเล่นน้ำในป่า” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

มองต่างกันคนละมุม : ขุนแผน พระเอกในอุดมคติ / ขุนแผน ผู้ร้ายที่แฝงตัวในคราบพระเอก

เหตุผลข้อหนึ่งที่น่าจะหยิบยกมาพิจารณาเป็นลำดับแรกเกี่ยวกับความนิยมบท “เสภาขุนช้างขุนแผน” ที่ติดตรึงในใจผู้คนมายาวนาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวพระเอกของเรื่องเช่น “ขุนแผน” ได้ประทับอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของผู้เสพในลักษณะพระเอกที่น่าชื่นชมยกย่อง และเป็นภาพลักษณ์ของชายไทยขนานแท้ แม้ในปัจจุบัน ขุนแผนก็เป็นตัวละครมหาเสน่ห์ที่นำมาผลิตซ้ำในสื่อสมัยใหม่ รวมทั้งสิ่งเคารพบูชาที่รู้จักกันดี คือ พระเครื่องขุนแผนรุ่นต่างๆ

ภาพลักษณ์ของชายไทยขนานแท้แบบฉบับอุดมคติเป็นเช่นไร? หากมองขุนแผนน่าจะเข้าข่ายชายไทยตามแบบฉบับนิยมได้ลักษณะหนึ่ง ดังเหตุผลที่อธิบายได้เป็นข้อๆ ดังนี้

หนึ่ง ขุนแผนมีชีวิตโลดโผน ทรหดอดทนตั้งแต่เยาว์ มีวิสัยกล้าหาญมุมานะ กล้าได้กล้าเสีย ผู้ใดหยามเกียรติไม่ได้ และหากมุ่งหวังกระทำการใดก็ไม่ลังเลที่จะยั้งคิด

สอง ขุนแผนบวชเรียนหาวิชาความรู้ใส่ตัวจนเป็นคนดีมีวิชา ร่ำเรียนวิชาคาถาทางไสยศาสตร์จนเจนจบ มีอาวุธคู่กาย คือ ดาบฟ้าฟื้น มีกุมารทอง และม้าสีหมอก คอยติดตามอยู่ตลอด อาวุธอันศักดิ์สิทธิ์เช่น ดาบฟ้าฟื้น มีอานุภาพที่ว่าไม่มีคมดาบอื่นใดจะเทียมได้

สาม ขุนแผนมีรูปร่างงาม แม้ตัวบทเสภาจะไม่ได้กล่าวถึงความงามอย่างละเอียด แต่ก็แสดงนัยว่าขุนแผนเป็นชายหนุ่มเอวบางร่างน้อย ผิวพรรณสะอาด มีสง่าราศี มีเสน่ห์ ใครเห็นก็นิยมชมชอบ

สี่ ขุนแผนเป็นผู้มีวาจาคมคาย มีวาทศิลป์อันเลิศ ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเล้าโลมน้ำใจคนให้โอนอ่อนผ่อนตาม เป็นเสน่ห์ผูกมัดใจหญิงสาวให้มอบกายเพื่อตน และตรงกันข้ามในเวลาโกรธ วาจาของขุนแผนก็ดุดัน เชือดเฉือนความรู้สึกคนฟังให้เจ็บช้ำ

ห้า ขุนแผนมีฝีมือการรบฉกาจฉกรรจ์ ขุนแผนเป็นแม่ทัพใหญ่ที่มีความสามารถในการรบกับเมืองเชียงใหม่จนได้รับชัยชนะ ฝีมือในการรบของขุนแผนนี้ แม้สมเด็จพระพันวษาก็ทรงรับทราบดี

หก ขุนแผนมีภรรยาเกินหนึ่ง และได้เสียกับหญิงอื่นด้วยความพอใจของตน คาถาอาคมส่วนหนึ่งก็กระทำใส่หญิงสาวให้รับรักตน จะเห็นได้ว่าผู้หญิงที่มอบกายและใจให้ขุนแผน คือ นางวันทอง นางสายทอง นางลาวทอง นางบัวคลี่ และนางแก้วกิริยา [1] ความเป็นยอดชายจึงเป็นที่เลื่องลือว่าขุนแผนเป็นนักรักชั้นยอด

“พลายแก้วเข้าห้องนางพิม” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลย์ไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

และที่สำคัญตามที่เชื่อกันว่าเพราะ “ขุนแผน” เป็นข้ารับใช้ที่ซื่อตรง คือ การจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แม้ตนเองจะมีวิชาอาคมมากเพียงใด ก็ไม่เคยท้าทายพระบรมเดชานุภาพของผู้ปกครองโดยตรง ข้อนี้เองขุนแผนจึงได้รับการเชิดชูว่าเป็นข้ารับใช้เจ้าขุนมูลนายอย่างผู้ซื่อสัตย์ถึงที่สุด

คุณลักษณะที่สะท้อนผ่านตัวตนของขุนแผนดังกล่าวนี้ จึงอาจสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นชายไทยตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เป็นภาพลักษณ์ในการสถาปนาความเป็นชายอันสูงส่ง กล่าวคือ…

ชายไทยจะต้องเป็นคนต่อสู้ชีวิต ใจเด็ด ไม่ยอมคน รักเกียรติยิ่งชีพ เป็นคนเด็ดขาด ไม่โลเล บวชเรียนมีวิชาความรู้ คาถาอาคมและอาวุธไว้ป้องกันตัว มีเสน่ห์ รูปร่างงาม มีวาจาคมคาย มีฝีมือในทางต่อสู้ มีความเจ้าชู้อย่างแยบยล และมีความซื่อสัตย์ยิ่งชีพ

จึงไม่แปลกที่ภาพลักษณ์ชายชาตรีเช่นขุนแผนจะครองใจมาหลายชั่วอายุคน และแน่นอนย่อมมีนักวิชาการมองภาพลักษณ์ของขุนแผนในทางนิยมยกย่องเสียมาก ดังที่ว่า “ภาพของขุนแผนในสายตาของผู้อ่าน ผู้ฟังเสภา คือ ภาพชายชาตินักรบ มีคุณสมบัติแห่งความเป็นผู้นำ มีลักษณะก้าวร้าว แต่ก็อ่อนโยน อ่อนหวาน อันเป็นลักษณะที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว” [2]

และจำแนกความดีเด่นไว้ว่า “มีจิตใจเป็นชาติชายทหาร เป็นนักรบ บุคลิกภาพแบบนักรบผู้กล้าหาญนี้คือบุคคลภาพของชาติชาตรีในสมัยกรุงศรีอยุธยา…ขุนแผนรักเกียรติ รักศักดิ์ศรีของตนยิ่งกว่าชีวิต…มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อบ้านเมือง…เป็นคนจริงใจ” [3]

หรือในการยกย่องว่า “มีรูปงาม แบบบาง แต่สง่างาม เป็นนักรบ ช่างสังเกต มีความฉลาด ใฝ่ใจในการศึกษา และมีวาจาอ่อนหวานนุ่มนวลต่อผู้ที่เป็นมิตร” [4]

ด้วยเหตุนี้ ขุนแผนจึงเป็น “สุดยอดพระเอก” “วีรบุรุษ” หรือ“ยอดชายชาตรี” เป็นแบบฉบับผู้ชายไทยตามแบบอย่างอุดมคติ

ในขณะที่อีกมุมหนึ่ง นักวิชาการที่รื้อตัวตนของขุนแผน ก็พยายามชี้ชวนให้เห็นมุมมองพระเอกคนนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง อาทิ ในด้านความก้าวร้าว

“ขุนแผนมีความก้าวร้าวที่แสดงออกมาทั้งในความนึกคิด คำพูด และการกระทำไม่น้อยกว่าตัวละครอื่นๆ และอาจจะกล่าวได้ว่า พฤติกรรมก้าวร้าวของขุนแผนแสดงออกมาอย่างชัดเจนและรุนแรงยิ่งกว่าตัวละครอื่นๆ หากแต่ว่าขุนแผนมีคุณงามความดีอยู่มาก ผู้อ่านจึงไม่ค่อยรู้สึกถึงความรุนแรงนั้น ความก้าวร้าวดังกล่าวมีปรากฏในบทบาทของขุนแผนตั้งแต่ในวัยเด็กจนกระทั่งสูงอายุ ชวนให้คิดว่าขุนแผนอาจจะมีตัวตนจริงและชีวิตส่วนตัวของขุนแผนที่ปรากฏในเสภาส่วนใหญ่อาจจะถอดแบบมาจากชีวิตจริงก็ได้” [5]

หรือในด้าน ความมักมากในกาม ดังมีผู้กล่าวว่า “ในฝ่ายปฏิปักษ์ทั้งหมดขุนช้างเป็นตัวที่มีเล่ห์กลมากที่สุด แต่ก็ด้วยความรักจริงที่มีต่อคนคนเดียว ในขณะที่ขุนแผนก็ทำด้วยความรักเช่นกัน แต่เป็นความรักของผู้ชายสำส่อนทางกามารมณ์” [6]

รวมทั้งยังมีการป่าวประกาศในทำนองที่แฉพฤติกรรมของขุนแผนในด้านลบว่า “อย่าปล่อยให้ขุนแผนลอยนวล” [7] หรือความเคลือบแคลงสงสัย “ขุนแผน : พระเอกในอุดมคติดีจริงหรือ?” [8]

แน่นอนการมองในด้านนี้ ขุนแผนมิใช่คนดีที่น่าปลาบปลื้มแต่อย่างใด หากเป็นตัวร้ายที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวถึงขุนแผนในประเด็นนี้ไว้ว่า ขุนแผนเป็นตัวอย่างผู้ชายที่รื่นไหล สำนวนเก่า คือ สำนวนพื้นบ้านขุนแผนมีเมียอีก 2 คน สำนวนที่กวีราชสำนักชำระ ขุนแผนมีเมียอีก 4 คน เรื่องนางบัวคลี่ เพิ่มเข้าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ส่วนนางแก้วกิริยาจะเพิ่มขึ้นมาทีหลัง ดูในเชิงอรรถของบทความเรื่อง เพศภาวะ เพศวิถี และครอบครัวของสยามในอดีต ศึกษาจากความสัมพันธ์หญิงชายใน เสภาขุนช้างขุนแผน ตีพิมพ์ในวารสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 (ตุลาคม 2556-มีนาคม 2557), น. 24.

[2] ดูใน เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. วรรณกรรมเอกของไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2552), น. 67.

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 67-77.

[4]  ดูใน ประจักษ์ ประภาพิทยากร. รายงานผลการวิจัยพระเอกในวรรณคดีคลาสสิคของไทย เรื่องขุนแผน : พระเอกแบบนักรบ. น. 195-196.

[5] ดูใน ชลธิรา สัตยาวัฒนา. การนำวรรณคดีวิจารณ์แผนใหม่แบบตะวันตกมาใช้กับวรรณคดีไทย. (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2513), น. 101.

[6] ดูใน ชมัยพร วิทูธีรศานต์. “ลักษณะร่วมน่าเห็นใจของฝ่ายปฏิปักษ์,” ใน ศาสตร์และศิลปะแห่งอักษร. (พระนคร : โรงพิมพ์พิฆเนศ, 2515), น. 52.

[7] ดูใน อย่าปล่อยให้ขุนแผนลอยนวล เข้าถึงใน http://www.mettadham.ca/Don’t%20leave%20kunpan%20alone.htm

[8] ดูใน จีรณัทย์ วิมุตติสุข. “ขุนแผน : พระเอกในอุดมคติดีจริงหรือ?,” ใน จุลสารลายไทยฉบับพิเศษวันภาษาไทยแห่งชาติ 2548. (29 กรกฎาคม 2548), น. 69-76.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ขุนแผนฆ่านางบัวคลี่ ความผิดของใคร : นางบัวคลี่ใจทมิฬ หรือขุนแผนใจชั่ว?” เขียนโดย นิพัทธ์ แย้มเดช ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2564