ผู้เขียน | อาทิตย์ ศรีจันทร์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นางแก้วกิริยา ในขุนช้างขุนแผน ถูก “ละเมิด-(ข่ม)ขืนกาย” แต่ถูกทำให้จำยอม!?
นางแก้วกิริยา ธิดาพระยาสุโขทัยกับนางเพ็ญจันทร์ ในเรื่องขุนช้างขุนแผน ผู้ถูกบิดานำตัวมาขายฝากไว้กับขุนช้างเพื่อนำเงิน 15 ชั่งไปชำระหลวง พระยาสุโขทัยให้สัญญากับนางแก้วกิริยาว่าอีก 3 เดือนจะนำเงินมาไถ่ตัวนาง ในระหว่างนั้นนางแก้วกิริยาซึ่งได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากขุนช้างก็ได้ตกเป็นของขุนแผนอย่างไม่ตั้งใจ…หรือจำใจ…หรือมีใจ…
ขุนช้างขุนแผน เป็นวรรณคดีไทยยอดนิยมเรื่องหนึ่งด้วยเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน ชวนติดตาม มีความไพเราะตามแบบฉบับของวรรณคดีไทย และยังเป็นวรรณคดีไทยที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตได้เป็นอย่างดี ขุนช้างขุนแผนนั้นก่อนหน้าที่จะกลายเป็นวรรณคดีอย่างที่เราท่านอ่านกันอยู่ในทุกวันนี้ก็เคยเป็นนิทานชาวบ้านที่ขับเสภาร้องเล่นกันอยู่ในหมู่ผู้คนทั่วไป ต่อมามีการรวบรวมและชำระโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งก็คือฉบับทางการที่ใช้ในการเรียนการสอนและในความรับรู้ของสังคมไทยปัจจุบันนั่นเอง
ตอนที่ผู้คนนิยมนำมาขับเสภามากที่สุดตอนหนึ่งก็เห็นจะไม่พ้นตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง เพราะเป็นตอนที่ไพเราะ กวีแสดงความสามารถทางภาษาได้อย่างยอดเยี่ยม ในตอนนี้ขุนแผนได้เข้าผิดห้องไปเจอนางแก้วกิริยาก่อน เมื่อเห็นความงามของนางแก้วกิริยาจึงได้คลายมนต์สะกดทำให้นางแก้วกิริยาตื่นขึ้นมา จากนั้นก็โอ้โลมปฏิโลมจนกระทั่งนางแก้วกิริยาตกเป็นเมียคนที่ 4 ของขุนแผน…
ดูเหมือนหลายคนจะมองข้ามไปว่านางแก้วกิริยาตกเป็นเมียขุนแผนด้วยเล่ห์เพทุบายของชายเจ้าชู้อย่างขุนแผนได้อย่างไร มันคือการ “ข่มขืน” หรือ “สมยอม”…
สิ่งที่ผู้อ่านและผู้ฟังเสภาขุนช้างขุนแผนในตอนนี้มองข้ามไปก็คือกรณีการ “ละเมิด” ที่เกิดขึ้นระหว่างนางแก้วกิริยากับขุนแผน เพราะในตอนแรกที่ขุนแผนได้เข้าห้องนางแก้วกิริยาไปและรู้ว่านี่ไม่ใช่นางวันทองแน่ๆ ขุนแผนจึง
พิเคราห์ดูหน้านวลควรจะรัก
ถ้าชายชมก็จะชักให้นวลคลาย
คิดพลางทางแอบเข้าแนบน้อง
ต้องเต้านึกชมอารมณ์หมาย
เอนอิงพิงทับแล้วขับพราย
ร่ายลมละลวยลงให้ลานใจฯ
การละเมิดที่เกิดขึ้นดังกล่าวคือการที่ขุนแผนนั้นถึงเนื้อถึงตัวนางแก้วกิริยา รู้ทั้งรู้ว่านี่ไม่ใช่นางวันทอง แต่ด้วยความอยากได้และความใคร่ก็ทำให้ขุนแผนใช้อำนาจทั้งเวทย์มนต์ทั้งการแกล้งทำเป็นใสซื่อบริสุทธิ์หลอก “ต้องเต้า” นางแก้วกิริยา
เมื่อนางแก้วกิริยาตื่นขึ้นมาพบขุนแผนก็ตกใจจะร้องให้ใครช่วยก็ไม่ได้เพราะต้องอาคมอยู่ความกลัวตัวสั่นระริกของนางแก้วกิริยาก็ทำได้แค่ถามขุนแผนไปว่าเป็นใครถึงได้หลงมาที่นี่ ท่าทีก็ไม่ใช่คนพาลแต่อย่างใด…นางแก้วกิริยาทำได้เพียงเท่านั้น
อาวุธอีกประการของขุนแผนที่ใช้ในการละเมิดนางแก้วกิริยาคือถอยคำอันหวานระรื่นหู ขุนแผนแจ้งว่าตนคือใครและเข้าห้องผิดคิดว่านางแก้วกิริยาคือนางพิมก็เลย
ได้ลักจูบลูบไล้ไม่คิดกลัว
ผิดตัวเกินแล้วอย่าโกรธา
ขออภัยเถิดมิใช่เจ้าวันทอง
นิจจาน้องอย่าสะเทินเมินหน้า
ไปหลอกจับ “ต้องเต้า” แถมด้วย “ลักจูบลูบไล้” แล้วยังไปขอให้นางแก้วกิริยาให้อภัยอีกด้วย อย่างไรก็ตามจะด้วยมนต์สะกดหรือความพึงใจในตัวขุนแผน อีกทั้งคารมคมคายทำให้นางแก้วกิริยาตกเป็นของขุนแผน เมื่อดูเผินๆ จะเห็นว่านางแก้วกิริยานั้นดูสมยอมมากกว่าที่จะถูกข่มขืน เพราะตัวนางแก้วกิริยาเองก็มีใจให้กับขุนแผนอยู่เช่นกัน…
หากพิจารณาให้ดีและกลับไปอ่านขุนช้างขุนแผนใหม่อีกครั้งเราอาจจะเห็นได้ว่าวรรณคดีเรื่องนี้เต็มไปด้วยการล่วงละเมิดทางเพศอยู่หลายตอน ในกรณีนี้คือนางแก้วกิริยาและขุนแผน ผู้อ่านหลายคนมีความคิดว่าขุนแผนเป็นพระเอก เป็นคนดี
ดังนั้น ภายใต้คำว่าพระเอกและคนดีของเรื่องแล้ว การล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่อง “หยวนๆ กันได้” เพราะตัวละครขุนแผนนั้นได้สร้างคุณลักษณะบางอย่างของชายไทยว่าจะต้องเป็นคนที่มีความเก่งกล้าสามารถในด้านต่างๆ และที่สำคัญคือความเจ้าชู้ มีเมียหลายคน เพราะนั่นคือเครื่องหมายของผู้ชายที่มี “เสน่ห์” ดังนั้นการได้เมียไม่ว่าจะวิธีใดๆ ก็ตาม นั่นคือการเพิ่มเสน่ห์ให้กับผู้ชายนั่นเอง
ตัวละครอย่างนางแก้วกิริยานั้น มิพักต้องพูดว่าต้องตกเป็นเมียของขุนแผนแบบงงๆ แต่ตัวนางเองก็ไม่ได้อำนาจในการต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น จะปกป้องร่างกายตัวเองก็ไม่ได้ จะร้องให้ใครช่วยก็ไม่ได้ ตัวเองเป็นแค่คนที่พ่อเอามาขัดดอกชั่วคราวเท่านั้น นางแก้วกิริยาจึงไม่มีทางสู้ขุนแผนด้วยประการใดๆ ทั้งปวง…สุดท้ายก็ต้องจำใจนั่นแล
ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับนางแก้วกิริยานั้นยังถูกซ้ำเติมจากโครงเรื่องของขุนช้างขุนแผนด้วยการทำให้นางแก้วกิริยา “รัก” ขุนแผนแบบไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย หลังเสร็จกิจการงานขุนแผนก็ได้ให้แหวนกับนางแก้วกิริยาไว้ไถ่ตัวเอง คล้ายกับว่าเป็นค่าเสียหายที่ “ยอมๆ กันไป…เถอะนะ” แม้นางแก้วกิริยาจะรำพึงรำพันในทำนองว่าแท้จริงมาหาวันทองแต่ก็ข่มเหงน้ำใจนาง แต่ก็ด้วยความมี “เสน่ห์” ของขุนแผนอีกนั่นแหละที่ทำให้การข่มเหงนางแก้วกิริยาเป็นเรื่องที่ “หยวนๆ กันได้…น่า”
อ่านบทความมาทั้งหมดนี้ก็อาจจะมีคำถามได้ว่า การนำเอาความคิดปัจจุบันไปตัดสินอดีตนั้นสมเหตุสมผลหรือ แน่นอนว่ามันดูไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนัก แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ สังคมไทยไม่เคยมีแนวคิดเรื่องการละเมิดหรือการปกป้องศักดิ์ศรีใดๆ บนเรือนร่างของผู้หญิงเลย
ผู้หญิงเป็นเพียงเครื่องมือที่ทำให้ผู้ชายดูมีเสน่ห์ เก่งกล้าสามารถ “สมเป็นชาย” เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่การละเมิดเรือนร่างของผู้อื่นกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างความมีเสน่ห์ ความรัก การสมยอม และสิทธิเหนือเรือนร่างของบุคคล ดังนั้นสังคมไทยกับเรื่องเพศและการล่วงละเมิดทางเพศก็อีรุงตุงนังด้วยประการฉะนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- ขุนแผน “พระเอกในอุดมคติ” หรือ “ผู้ร้ายที่แฝงตัวในคราบพระเอก”
- “บัวคลี่” เหยื่อของการชิงดีชิงเด่นระหว่าง “พ่อ” กับ “ผัว” ในขุนช้างขุนแผน
- อวสานชีวิตนางวันทอง กับ “ฉากรักในป่า” ฉากรักสำคัญสุดในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2560