“บัวคลี่” เหยื่อของการชิงดีชิงเด่นระหว่าง “พ่อ” กับ “ผัว” ในขุนช้างขุนแผน

ขุนแผน สังหาร นาง บัวคลี่
ภาพขุนแผนฆ่านางบัวคลี่ จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. 2548

“บัวคลี่” เหยื่อของการชิงดีชิงเด่นระหว่าง “พ่อ” กับ “ผัว” ใน “ขุนช้างขุนแผน”

คนไทยที่เรียนหนังสือในเมืองไทยคงจะไม่มีใครไม่รู้จัก “ขุนแผน” พระเอกเจ้าเสน่ห์ ไอดอลชายไทยในอดีต ที่เรียกได้ว่าตรงกับอุดมคติชายไทยขนานแท้ มีชีวิตโลดโผน รูปงาม ฝีมือรบชั้นยอด แถมยังมีเมียอีกหลายคน (คงเป็นความใฝ่ฝันของชายอีกหลายคนในยุคปัจจุบัน)

จะว่าไปเรื่องของขุนช้าง-ขุนแผนนั้นก็ยังมีการถกเถียงเหมือนกันว่ามีที่มาที่ไปยังไง อย่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเชื่อว่าเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องจริง สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ขณะที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้ความเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นเรื่องแต่งเพื่อยกย่องสมเด็จพระพันวษา ส่วนคริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร เชื่อว่า มีเค้าโครงของเรื่องจริงปรากฏอยู่ในส่วนที่เป็นเหตุการณ์ฆ่านางวันทอง

“พระพันวษา” ภาพเขียนจากภาพยาซิกาแร็ตชุดขุนช้างขุนแผนที่พิมพ์เป็นแผ่นเล็กๆ บรรจุอยู่ในซองบุหรี่ยี่ห้อ EAGLE ออกจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2468

แต่ไม่ว่า เรื่องราวของขุนช้างขุนแผนจะเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องแต่งมากน้อยเพียงใด มันก็เป็นเครื่องสะท้อนสภาพสังคมที่เสภาเรื่องนี้ค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ยุคอยุธยามาจนถึงกรุงเทพฯ และน่าจะหนักไปทางกรุงเทพฯ มากกว่า หากอิงตามความเห็นของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่กล่าวว่า “เรื่องนี้ถูกใช้สำหรับขับเสภามาแต่ปลายอยุธยา แต่เรารู้โครงเรื่องและตัวอย่างเสภาจากอยุธยาน้อยมาก ขุนช้างขุนแผนฉบับที่เรารู้จักทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ถูกชำระแล้วหรือยังไม่ถูกชำระ ล้วนเป็นงานสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น”

และตอนหนึ่งที่คงจะสะเทือนใจผู้อ่านหลายๆ คน คือตอนที่ ขุนแผนฆ่านางบัวคลี่ ก่อนควักลูกในไส้ออกมาทำกุมารทอง ซึ่งคนสมัยนี้ได้ฟังคงเห็นว่า ขุนแผนพระเอกในอุดมคติทำไมถึงอำมหิตได้ถึงขนาดนั้น และเชื่อว่า ผู้ฟังสมัยก่อนหากเป็นชาวพุทธ (ที่เคร่งครัด) ก็คงรู้สึกได้ไม่ต่างกัน (แต่หากเคร่งครัดเฉพาะเรื่องพิธีกรรม และชอบหาเหตุให้ละเว้นศีลได้เสมอ ก็คงไม่รู้สึกรู้สาอะไร)

แต่ก่อนจะไปถึงข้อสรุปนั้น เราน่าจะต้องไปดูถึงที่มาที่ไปของการสังหาร “บัวคลี่” ของ “ขุนแผน” กันเสียหน่อย

นางบัวคลี่ปรากฏตัวขึ้นมาในช่วงที่ขุนแผนกำลังออกแสวงหากุมารทอง เมื่อขุนแผนได้เห็นนางบัวคลี่เข้าก็ถูกใจ และเห็นลักษณะตรงตามตำรา หากมีลูกคนหัวปีจะเป็นเด็กผู้ชาย พูดง่ายๆ ว่าขุนแผนเห็นแล้วว่าตัวเองจะหากุมารทองได้จากไหนทันทีที่ได้เห็นนางบัวคลี่

จากนั้นขุนแผนจึงทำทีไปตีสนิทกับหมื่นหาญพ่อของนางบัวคลี่ ขอฝากตัวรับใช้เพื่อหาโอกาสเข้าใกล้นางบัวคลี่ เบื้องต้นหมื่นหาญก็ประทับใจในความสามารถของขุนแผนจนยอมยกลูกสาวให้ แต่อยู่ๆ ไป ขุนแผนก็ทำทีกระด้างกระเดื่องขึ้นมา พยายามท้าทายอำนาจของหมื่นหาญ ดูหมิ่นว่าทหารของหมื่นหาญไม่มีน้ำยา หมื่นหาญส่งคนไปทำร้ายขุนแผนก็ทำอะไรขุนแผนไม่ได้สุดท้ายจึงตัดสินใจวางแผน “ฆ่า” ขุนแผน โดยใช้ให้ลูกสาวของตัว คือนางบัวคลี่ ไปวางยาสังหาร “ผัว” ตัวเอง ซึ่งนางก็ไม่ขัดขืน ห้ามปราม เพราะเห็นว่า “เป็นเวรตนคนจะตายให้หน่ายผัว เชื่อคำพ่อตัวทุกสิ่งสรรพ์”

ฝ่ายขุนแผนได้โหงพรายกระซิบแผนร้ายให้ฟัง ก็ระมัดระวังตัวมากขึ้น ก่อนจะกินข้าวก็โยนให้กากินก่อน กากินเข้าไปตายโหง จึงเชื่อแน่ว่า นางบัวคลี่วางแผนจะฆ่าตัว จึงเคียดแค้นวางแผนจะฆ่านางบัวคลี่ แต่ก่อนหน้านั้นก็เอ่ยปากขอให้นางบัวคลี่ยกลูกในท้องให้เป็น “กรรมสิทธิ์” ของตัว ซึ่งเมื่อได้ฤกษ์ก็ถือมีดเข้าไปฆ่านางบัวคลี่ขณะที่นางยังหลับ แม้จะมีความลังเลเล็กน้อยแต่ก็เดินหน้าตามแผน และได้ฆ่าลูกตัวเองมาทำกุมารทองสมใจอยาก ดังกลอนว่า

หยิบเอามีดคร่ำด้ามกัลปังห
ตรงมาถึงตัวเจ้าบัวคลี่
แหวกม่านตลบมุ้งขึ้นทันที
อัจกลับริบหรี่เห็นรำไร

ยืนขึ้นบนเตียงเข้าเคียงข้าง
พินิจนางนิ่งนอนถอนใจใหญ่
กูไม่รู้เลยว่าร่างมันร้างใจ
จะฆ่าผัวเสียได้ช่างไม่คิด

แล้วชักมีดตั้งท่าง่าขยับ
ใจกลับมืดอ่อนสะท้อนจิต
แล้วกลับนึกขึ้นถึงนางวางยาพิษ
เอาชีวิตเสียเถิดอย่าไว้มัน

เอามีดคร่ำตำอกเข้าต้ำอัก
เลือดทะลักหลวมทะลุตลอดสัน
นางกระเดือกเสือกดิ้นสิ้นชีวัน
เลือดก็ดั้นดาดแดงดังแทงควาย

แล้วผ่าแผ่แล่แล่งตลอดอก
แหวะหวะฉะรกให้ขาดสาย
พินิจแน่แลเห็นว่าเป็นชาย
ก็สมหมายดีใจไม่รั้งรอ

อุ้มเอาทารกยกจากท้อง
กุมารทองมาเถิดไปกับพ่อ
หยิบเอาย่ามใหญ่ใส่สวมคอ
เอาผ้าห่อลูกชายสะพายไป”

จะเห็นได้ว่านางบัวคลี่เองคงอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เมื่อถูกพ่อขอให้ร่วมมือฆ่าผัวก็ไม่กล้าปฏิเสธ และเห็นว่าเป็น “เวร” เป็นกรรมจึงยอมทำตามที่พ่อบอก “ทุกสิ่งสรรพ์”

ขุนแผน กับ นางบัวคลี่
ภาพประกอบเนื้อหา – ภาพขุนแผนฆ่านางบัวคลี่ จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ.2548

ด้านขุนแผนเองเมื่อรู้ว่า เมียจะฆ่าตัวก็ไม่ถามไถ่ว่าเหตุใด แถมยังใช้เป็นเหตุอ้างเพื่อฆ่านางเอาลูกเพื่อมาทำเป็นกุมารทอง “สมใจหมาย” ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญเหนือสิ่งอื่นก็ได้ เพราะหากขุนแผนต้องการแก้แค้นจริง หมื่นหาญน่าจะเป็นเป้าหมายมากกว่าตัวนางบัวคลี่เสียอีก แต่กลายเป็นนางบัวคลี่กับลูกเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ เมื่อได้ลูกไปทำกุมารทองแล้ว ขุนแผนก็หนีไป ครั้งได้มีโอกาสเผชิญหน้ากับหมื่นหาญและเอาชนะหมื่นหาญได้ ขุนแผนก็หาได้เอาชีวิตของหมื่นหาญไม่

ด้วยเหตุนี้ นิพัทธ์ แย้มเดช ผู้เขียนบทความ “ขุนแผนฆ่านางบัวคลี่ ความผิดของใคร : นางบัวคลี่ใจทมิฬ หรือขุนแผนใจชั่ว?” จึงได้ให้ความเห็นไว้ว่า

นางบัวคลี่อ่อนต่อโลกเกินไป ไร้เดียงสาต่อระบบการแสวงหาอำนาจของชาย นางไม่รู้เท่าทันอำนาจการช่วงชิงความเป็นลูกผู้ชายระหว่างพ่อกับผัว นางอยู่แต่ในกรอบจารีตที่แช่แข็งความคิดและการกระทำ ในแง่ความอ่อนโอนผ่อนตามอำนาจของผู้ชายผู้เป็นทั้งพ่อและผัว นางบัวคลี่จึงไม่ต่างอะไรกับวัวป่าที่ถูกเชือดฆ่าอย่างโหดเหี้ยม และผู้ที่ฆ่าวัวป่าก็คือหมื่นหาญผู้เป็นพ่อของนางเอง และขุนแผนผู้เป็นผัวที่นางต้องปรนนิบัติดูแล”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“ขุนแผนฆ่านางบัวคลี่ ความผิดของใคร : นางบัวคลี่ใจทมิฬ หรือขุนแผนใจชั่ว?”. โดย นิพัทธ์ แย้มเดช. ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2561