ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“หุ่นพยนต์” หมายถึง “รูปที่ผู้ทรงวิทยาคมเอาวัตถุมาผูกขึ้นแล้วเสกเป่าให้เป็นเหมือนรูปที่มีชีวิต” โดยคำว่า พยนต์ (อ่านว่าพะยน) หมายถึง “สิ่งที่ผู้ทรงวิทยาคมปลุกเสกให้มีชีวิตขึ้น”
หุ่นพยนต์ นับเป็นศาสตร์แห่งไสยอีกประการหนึ่ง โดยนำวัสดุประเภทต่าง ๆ มาขึ้นรูปเป็นหุ่น อาจเป็นคนหรือสัตว์ก็ได้ แล้วทำพิธีปลุกเสกให้มีคุณในด้านต่าง ๆ ตามปรารถนา
ความเชื่อเรื่องหุ่นพยนต์พบในสังคมมาช้านานย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”
สำหรับหุ่นพยนต์ในเสภาขุนช้างขุนแผนนั้นจะเป็นการนำหญ้ามามัดเป็นรูปหุ่นเหมือนคน จากนั้นลงคาถาอาคมเสกให้มีชีวิต มีอาวุธ มีพละกำลัง ฟันแทงไม่เข้า ฯลฯ จุดมุ่งหมายที่ทำหุ่นพยนต์ขึ้นก็เพื่อใช้สู้รบ หรือส่งข่าวสาร โดยผู้ใช้ศาสตร์นี้คือ “ตระกูลพลาย” อันได้แก่ พลายแก้ว (ขุนแผน) พลายงาม และพลายชุมพล
- พลายแก้ว
เมื่อตอนที่ขุนแผนยังเป็นเณรแก้ว ได้จากวัดป่าเลไลยมายังวัดแคเมืองสุพรรณบุรี แล้วได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับสมภารชื่อคง จากนั้นก็ร่ำเรียนวิชาต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ การผูกพยนต์ หรือทำหุ่นพยนต์ ดังว่า
“โบกปัดพัดวีพระอาจารย์ ให้สำราญรื่นจิตรพิสมัย
ปฏิบัติมิให้ขัดข้องเคืองใจ สมภารแนะนำให้ไม่ช้าการ
สะกดทัพจับพลทั้งปลุกผี ผูกพยนต์ฤทธีกำแหงหาญ
ปัถมังกำบังตนทนทาน สะเดาะดาลโซ่กุญแจประจักษ์ใจ”
[ตอนที่ 5 ขุนช้างขอนางพิม]
หุ่นพยนต์ของขุนแผนได้ออกศึกครั้งแรกเมื่อตอนขุนแผนรบกับขุนช้าง โดยก่อนหน้านั้น ขุนแผนลักพาตัวนางวันทองจากเรือนของขุนช้างแล้วหลบหนีเข้าป่า ขุนช้างจึงนำกำลังพลราว 500 ออกติตตามไล่ล่า เมื่อขุนแผนทราบว่า ขุนช้างยกพลมาหมายชิงตัวนางวันทองคืน จึงทำหุ่นพยนต์ขึ้นมาต่อสู้ ดังว่า
“จึงสั่งพรายให้ถอนหญ้าแพรกส่ง ปลงอารมณ์โอมอ่านพระคาถา
กลายเป็นคนพลันมิทันช้า สาตราง้าวทวนก็ถ้วนตน”
[ตอนที่ 19 ขุนช้างตามนางวันทอง]
ขุนแผนสร้างกองทัพหุ่นพยนต์ขึ้นแล้วก็สั่งให้รั้งรอไว้ก่อน จากนั้นขุนแผนจึงบุกไปรบกับฝ่ายขุนช้าง เมื่อล่อไพร่พลขุนช้างมาได้แล้ว ขุนแผนจึงสั่งกองทัพหุ่นพยนต์เข้าโจมตี ทำให้ฝ่ายขุนช้างแตกพ่ายล้มตายไปมาก เพราะหุ่นพยนต์มีฤทธิ์เดชฟันแทงไม่เข้า ดังว่า
“ขุนแผนครั้นเห็นพวกละว้า เกลื่อนกลุ้มกันมาเป็นหมู่ใหญ่
จึงเรียกหุ่นพลันทันใด ให้ไล่พลขุนช้างกลางที่รบ
พวกหุ่นโห่ฮึกสะอึกจับ รบรับชุลมุนฝุ่นตรลบ
ละว้าตายก่ายมอญลงนอนซบ บ้างตลบลุกแทงเข้าแย้งรับ
แทงหุ่นหยุ่นหยุ่นไม่ยักเข้า หุ่นกลับฟันเอาดังฉาดฉับ
พวกขุนช้างแตกพ่ายกระจายยับ ขุนช้างกลับช้างขี่หนีออกมา”
[ตอนที่ 19 ขุนช้างตามนางวันทอง]
ต่อมา ขุนช้างกลับมาฟ้องต่อพระพันวษา ใส่ความว่าขุนแผนซ่องสุมพรรคพวกไว้ในป่าเป็นการเหิมเกริมอันตราย พระพันวษาจึงมอบหมายให้ทหารนำกำลังราว 5,000 ไปตามจับขุนแผน ซึ่งครั้งนี้ขุนแผนก็ต้องทำกองทัพหุ่นพยนต์ขึ้นมาสู้อีกครั้งหนึ่ง ดังว่า
“ถอนหญ้ามามัดเป็นหุ่นพลัน ถ้วนพันวางเรียงเคียงกันไป
แล้วเสกบริกรรมสำทับ เกิดเป็นไฟวับวับดังจะไหม้
เอานํ้ามนตร์ประหุ่นลงทันใด ไฟดับหุ่นหายกลายเป็นคน
มีอาวุธครบมือถือประจำ แต่งตัวกำยำอย่างพหล
ต่างเคารพนบนอบยอบตน ขุนแผนสั่งหุ่นพลไปทันที
คอยอยู่ต่อกูเรียกให้รบ จึงตลบไล่พลให้ป่นปี้
ว่าแล้วก็ขับพาชี เร็วรี่เร่งออกนอกพนา ฯ
……..
ว่าพลางทางร่ายพระคาถา เรียกหุ่นหนุนมาเป็นหมู่หมู่
ออกจากดงรังสะพรั่งพรู โห่ร้องก้องกู่เป็นโกลา
ขุนแผนขับม้าเข้าถาโถม จู่โจมห้ำหั่นฟันทัพหน้า
พวกหุ่นวิ่งกลมดังลมพา แซงสองข้างม้ามาทันใด
ฤทธิมนตร์บนฟ้าเวหาพยับ มืดกลุ้มคลุ้มคลับสะท้านไหว
แผ่นดินดังจะควํ่าคะมำไป เพราะพระมนตร์ดลให้บันดาลเป็น
อาสาหกเหล่าเข้าต้านต่อ หอบหืดขึ้นคอสู้เต็มเข็ญ
ดังฟันหินบิ่นหักกักกระเด็น ไม่เข้าหุ่นหมุนเผ่นเข้าฟาดฟัน
ดาบหอกตอกป่ายประกายวาบ หอกดาบหักร่นจนถึงกั่น
ปืนจังกาง่านกยกยิงยัน โผงถูกลูกนั้นกระดอนมา
ปืนตับกลับซ้ำเข้าต้ำตึง ไม่หวาดไหวไล่อึงเข้ามาหา
จนสิ้นสุดอาวุธแลสาตรา พวกอาสาย่นแยกแตกกระจุย”
[ตอนที่ 20 ขุนช้างฟ้องว่าขุนแผนเป็นขบถ สมเด็จพระพันวษา]
หอกหรือดาบก็ฟันแทงไม่เข้า แม้แต่กระสุนปืนนั้นเล่าก็ไม่อาจระคายผิวหุ่นพยนต์ได้ ฝ่ายขุนช้างจึงพ่ายแพ้ขุนแผนอีกครา
- พลายงาม
นอกจากขุนแผนจะเป็นผู้ทำหุ่นพยนต์ได้แล้ว บุตรชายคือ พลายงาม ที่เกิดแต่นางวันทอง ก็ได้ร่ำเรียนศาสตร์นี้มาจากทองประศรี (แม่ของขุนแผน) อีกด้วย ดังว่า
“อันเรื่องราวกล่าวความพลายงามน้อย ค่อยเรียบร้อยเรียนรู้ครูทองประศรี
ทั้งขอมไทยได้สิ้นก็ยินดี เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทมนตร์
……..
ทั้งเรียนธรรมกรรมฐานนิพพานสูตร ร้องเรียกภูตพรายปราบกำราบผี
ผูกพยนต์หุ่นหญ้าเข้าราวี ทองประศรีสอนหลานชำนาญมา”
[ตอนที่ 24 กำเนิดพลายงาม]
- พลายขุนพล
บุตรชายอีกคนของขุนแผนคือ พลายชุมพล ที่เกิดแต่นางแก้วกิริยา ก็มีวิชาอาคมการทำหุ่นพยนต์เช่นกัน เมื่อตอนที่พลายชุมพลอาศัยอยู่ที่เมืองสุโขทัยก็หวนคิดถึงครอบครัว จึงมัดหญ้าเป็นรูปยักษ์ เสกคาถา ซัดข้าวสารใส่ จนร่างสูงใหญ่เทียมภูผา แล้วสั่งให้ถือหนังสือไปให้ขุนแผนผู้เป็นพ่อยังเมืองกาญจนบุรี
ตอนนั้น ขุนแผนกับพลายงาม (พระไวย) บาดหมางกันอย่างรุนแรง ขุนแผนจึงส่งหนังสือไปยังพลายชุมพลว่าให้ตระเตรียมกองทัพหุ่นพยนต์ลงมาทำศึกสู้รบกับพลายงาม ดังว่า
“เจ้าก็เรืองฤทธาวิชาการ ถึงผูกหุ่นยักษ์มารใช้มาได้
จงคิดผูกหุ่นพลสกลไกร ปลอมเป็นมอญใหม่ยกลงมา
……..
เห็นกับพ่อขอให้พลายชุมพล เจ้ารีบผูกหุ่นยนต์ยกลงมา ฯ”
[ตอนที่ 39 ขุนแผนส่องกระจก]
พลายชุมพลได้รับหนังสือจากขุนแผนก็ทราบเรื่องราวปัญหาระหว่างบิดากับพี่ชาย จึงคิดช่วยขุนแผนทำศึก แล้วจึงเสกกองทัพหุ่นพยนต์ไว้เตรียมรบ ดังว่า
“ครั้นแล้วเกี่ยวหญ้ามาฉับพลัน ผูกหุ่นถ้วนพันไว้กับที่
ซัดข้าวสารเสกประสิทธี หุ่นก็มีชีวิตขึ้นเป็นคน
สองมือถือเครื่องสาตราวุธ อุตลุดอึงป่าโกลาหล
ต่างนบนอบหมอบไหว้พลายชุมพล เจ้าขึ้นนั่งยังบนหลังกะเลียว
แล้วสั่งหุ่นมนตร์พลไพร่ จะยกไปเป็นทัพขับเคี่ยว
ให้โห่เสียงมอญใหม่ให้กราวเกรียว กำชับสั่งคำเดียวเป็นสำคัญ”
[ตอนที่ 39 ขุนแผนส่องกระจก]
- ศึกหุ่นพยนต์
พลายชุมพลปลอมตัวเป็นแม่ทัพมอญยกมาทำศึก ฝ่ายพระพันวษาก็ส่งพลายงามออกมาสู้ แล้วจึงเกิดเป็นศึกหุ่นพยนต์ครั้งใหญ่ เพราะต่างก็ปลุกเสกทำหุ่นพยนต์มารบกันทั้งสองฝ่าย พลายชุมพลและพลายงามต่างใช้ศาสตร์แห่งไสยเข้าต่อสู้ พลายงามซัดข้าวสารใส่ กองทัพของพลายชุมพลก็กลับกลายเป็นหญ้าดังเดิม พลายชุมพลเป่ามนตราคาถาใส่บ้าง กองทัพของพลายงามก็กลับคืนสภาพเป็นหญ้า ดังว่า
“พวกหุ่นหมุนร่าเข้าฝ่าฟัน คนขยั้นย่นย่อรอระอา
ฮึดฮัดขัดใจไล่พิฆาต ไม่ไหวหวาดอ้ายมอญนี่หนักหนา
พระไวยเห็นพลร่นลงมา มือขวาคว้าซัดข้าวสารไป
พอข้าวมนตร์หล่นต้องหุ่นชุมพล กลายเป็นหญ้ายับป่นไม่ทนได้
ชุมพลชักม้าผ่าพลไกร เป่าไปด้วยพระเวทวิทยา
ต้องพวกหุ่นมนตร์พลพระไวย ก็ย่อยยับกลับไปเป็นฟ่อนหญ้า
สองนายบ่ายห้ามโยธา ก็รั้งราหยุดรบประจัญบาน ฯ”
[ตอนที่ 40 พระไวยแตกทัพ]
และในการศึกครั้งนี้ พลายงามเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับพลายชุมพล
นอกจากเสภาขุนช้างขุนแผน หุ่นพยนต์ยังปรากฏในเรื่อง “พระอภัยมณี” และมีลักษณะคล้ายกันคือ หุ่นทำจากหญ้า ลงคาถาอาคมเสก และเอาไว้ใช้ในศึกสงคราม
อ่านเพิ่มเติม :
- “ขุนไกร-ขุนแผน” ยอมให้จับ ยอมให้ตัดหัว เพราะ “เกียรติทหารกรุงศรีฯ” คำเดียว
- 35 เดนตาย กลุ่มโจรผู้ยิ่งใหญ่ในขุนช้างขุนแผน
อ้างอิง :
ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. “เสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ”, จาก https://bit.ly/3Lav52q
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2566