“ขุนช้างขุนแผน” จากนิทานพื้นบ้าน สู่วรรณกรรมราชสำนัก การแต่งเติมเรื่องราวฉบับพิสดาร

“แต่งงานขุนช้างกับนางวันทอง” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗

“เสภาขุนช้างขุนแผน” ประกอบด้วย “เค้าเรื่องเดิม” และ “ภาคพิสดาร” ซึ่งมี 3 ภาค “เค้าเรื่องเดิม” เป็นนิทานเรื่องเล่าเกี่ยวกับรักสามเส้าของสามัญชนชาย 2 หญิง 1 คือ ขุนช้าง ขุนแผน และนางวันทอง เหตุการณ์เกิดขึ้นที่สุพรรณฯ ส่วนภาคพิสดารทั้ง 3 ภาคเกี่ยวกับผู้คนและขุนนางที่ราชสำนักอยุธยา

เรื่องราว “ขุนช้างขุนแผน” ฉบับ “เค้าเรื่องเดิม” นี้น่าจะมีคนนิยมฟังกันมาก กระทั่งต่อมานักเสภาหรือกวีขยายแต่ละตอนออกไป ต่างก็ปรับปรุงสำนวนให้แตกต่าง จนมีหลายสำนวนขนานกันไป ผลคือทำให้เรื่องยาวขึ้น จนมีการแต่ง “ภาคพิสดาร” เข้ามาภายหลัง

ความต่างระหว่าง “เค้าเรื่องเดิม” และ “ภาคพิสดาร” สะท้อนให้เห็นวัฒนาการของเสภาเรื่องนี้ ที่เริ่มมาจากการขับร้องเพื่อเล่าเรื่องตามประเพณีพื้นบ้าน ต่อมาแพร่เข้าไปในราชสำนักจนเป็นที่นิยมและกลายเป็นวรรณกรรมที่กวีราชสำนักมีบทบาทเสริมแต่งและชำระขึ้นใหม่

“เค้าเรื่องเดิม” และ “ภาคพิสดาร” แตกต่างกันอย่างไร? สะท้อนภาพจากนิทานพื้นบ้าน สู่วรรณกรรมราชสำนักอย่างไร? คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร อธิบายไว้ในบทความ “ชีวประวัติของเสภาขุนช้างขุนแผน (1) พัฒนาการของเรื่อง” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2551 คัดบางส่วน ดังนี้ (จัดย่อหน้าและเน้นคำโดยกองบบรรณาธิการ)


 

“เค้าเรื่องเดิม” คืออะไร? เราคิดว่าคือตอนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเอก 3 ตัว ขุนช้าง ขุนแผน นางวันทอง สถานที่คือสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี บทอวสานคือฆ่านางวันทอง เรามีข้อสันนิษฐานว่า แก่นของเค้าเรื่องเดิม ไม่มีเรื่องราวของลูกขุนแผน คือไม่มีเรื่องพระไวย พลายชุมพล และไม่มีเรื่องศึกเชียงไหม่ ในฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ “เค้าเรื่องเดิม” นี้คือ ตอนที่ 1-23 และตอนที่ 35-36 ส่วนอื่น ๆ เข้าใจว่าเป็นภาคพิสดารทั้งหมด

สามภาคพิสดาร ผู้ฟังเสภาชอบเรื่องใหม่ ๆ น่าตื่นเต้น นักเสภาและนักกวีจึงไม่เพียงแต่ทำให้เรื่องยาวขึ้น แต่ใช้วิธีการเดียวกับนักแต่งนวนิยาย นักสร้างภาพยนตร์ คนแต่งละครทีวี และนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น คือ เพิ่มภาคพิสดารหลายภาค… ผู้เขียนคิดว่าสำหรับเสภาขุนช้างขุนแผนมีการแต่งแทรกเสริมภาคพิสดาร 1 เข้าไปภายในเค้าเรื่องเดิม

ภาคพิสดาร 1 นี้คือเรื่องราวของพระไวย บุตรชายคนโตของขุนแผน ทำนองเดียวกับการแต่งแทรกเสริมในวรรณกรรมแบบอื่น ๆ คือเป็นการเล่าเรื่องซ้ำเรื่องเดิมโดยมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เรื่องของพระไวยก็คล้าย ๆ กับขุนแผนผู้พ่อ คือพลัดพรากจากพ่อ จากแม่ ได้เล่าเรียนจนมีวิชา อาสาไปทัพ รับใช้พระมหากษัตริย์ ชนะศึกในภาคเหนือ ได้เมียสองคน ลักพานางวันทองจากเรือนขุนช้าง และทำให้พระพันวษาทรงพิโรธ จนถึงการมีคดีความ

ผู้เขียนสันนิษฐานว่า การแทรกเสริมให้พิสดารภาค 1 นี้ น่าจะเกิดจากมีนักกวีหลายคนแต่งให้มีหลายสำนวนขนานกันไป อาจเป็นเรื่องเล่าแข่งกับเค้าเรื่องเดิม ต่อมามีผู้ชำระสำนวนต่าง ๆ หรือผู้รวบรวมให้เป็นเรื่องต่อเนื่องกัน (คล้าย ๆ กับกรณีของตอนขุนแผนพานางวันทองหนี ที่กลายเป็นตอนที่ 14) ผู้ชำระเสียดายสำนวนต่าง ๆ ว่าด้วยการไปทัพเชียงใหม่ และไม่อยากเลือกเพียงอันใดอันหนึ่ง โดยเฉพาะตอนที่สำนวนว่าด้วยนักโทษอาสา 35 คน พลายงามได้นางศรีมาลา และขุนแผนพลายงามจับเจ้าเชียงใหม่ ดังนั้น ผู้ชำระจึงรวบรวมสำนวนทางเลือกให้เป็นภาคพิสดารที่มีพระไวยเป็นตัวเอกเหมือนพ่อ ในเค้าเรื่องเดิม

เหตุใดจึงแทรกภาคพิสดาร 1 เข้าไปในเค้าเรื่องเดิมแทนที่จะแยกออกมาเหมือนกับการเพิ่มภาคพิสดารแบบคลาสสิคทั่ว ๆ ไป? อาจเป็นเพราะว่าผู้รวบรวมรู้ว่า ฆ่านางวันทอง ควรเป็นบทสุดท้ายเพราะเหมาะเจาะที่สุด ดังนั้น จึงแทรกเสริมภาคพิสดารที่ 1 นี้เข้าไปในเค้าเรื่องเดิมก่อนบทสุดท้ายนี้ การตัดต่อให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องใหญ่จนต้องปรับพล็อต ขุนแผนต้องถูกจำคุกราว ๆ 15 ปี เพื่อให้ลูกชายโตพอจะอาสาไปทัพและช่วยพ่อออกจากคุกตอนท้าย ๆ ของภาคพิสดาร 1 พระไวยลักพาตัวนางวันทอง เหมือนกับที่่พ่อตัวเองทำไปแล้วหลายปีก่อนหน้า และทำให้พระพันวษาทรงพิโรธจะได้ดำเนินเรื่องกลับไปหาเค้าเรื่องเดิมที่จะต้องจบลงที่ฆ่านางวันทอง…

การแต่งแทรกเสริมภาคพิสดารที่ 2 และ 3 เข้าเค้าการเพิ่มภาคพิสดารแบบคลาสสิคในวรรณกรรมแบบอื่น ๆ คือ ใช้แกนเรื่องเดียวกัน แต่เพิ่มตัวละคร เปลี่ยนสถานที่ให้แปลกใหม่ (ไปถึงจีน) และมีลูกเล่นพิเศษ (จระเข้ยักษ์ วังน้ำวน ฯลฯ)

ภาค 2 นี้ก็ยังเป็นการเล่าเรื่องของลูกชายคนที่ 2 คือพลายชุมพลซ้ำทำนองเดียวกับเรื่องของขุนแผนและพระไวย โดยมีพลายชุมพลเป็นตัวเอก พลายชุมพลถูกพรากจากพ่อแม่เหมือนกัน ได้เล่าเรียน อาสาตัวรับใช้พระมหากษัตริย์ ประสบความสำเร็จ และได้ยศและตำแหน่ง เพื่อให้ภาคพิสดารนี้มีความหลากหลาย เพิ่มเนื้อหาอีก 2 พล็อต คือ ความขัดแย้งระหว่างศรีมาลากับสร้อยฟ้า และจระเข้เถรขวาด

เป็นไปได้ว่าพล็อตทั้ง 2 นี้ เป็นเรื่องเล่าที่มีอยู่แล้ว และไม่เกี่ยวกับเค้าเรื่องเดิมของขุนช้างขุนแผนเลย แต่นักเสภาหยิบฉวยมาเพิ่มเติมเป็นเรื่องต่อกันภาคพิสดาร ภาค 2 ที่แตกต่างจากภาคพิสดาร 1 คือการประสานเรื่องราวไม่แนบเนียน (ขุนแผนสัญญากับศรีมาลาจะกลับมาหาภายใน 2 อาทิตย์ ไม่ได้กลับมาพบกันเป็นเวลากว่า 10 ปี) การดำเนินเรื่องบางตอนเป็นการตัดต่อแบบลวก ๆ (พลายเพชรปรากฏตัวแม้จะยังไม่ได้เกิด)

ภาคพิสดารที่ 3 เข้าข่ายเป็นศึกสายเลือด และบรรยายความขัดแย้งระหว่างลูกหลานของพระไวยที่เกิดจากเมียทั้งสอง แน่นอนว่า เนื้อหาของ “เค้าเรื่องเดิม” ส่วนมาก ก็ได้รับการชำระโดยกวีราชสำนัก ในสมัยกรุงเทพฯ… ในกระบวนการชำระนั้น นักกวีราชสำนักเพิ่มเติมบทกลอนที่งดงาม การเล่นคำ บทสอนต่าง ๆ ฯลฯ แต่ดังที่เห็นได้จากการวิเคราะห์ 3 สำนวนของตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง แกนของเรื่องไม่ได้เปลี่ยนไป แกนเรื่องยังคงเดิม ดังนั้น เค้าเรื่องเดิมมีสองระดับ ระดับล่างเป็นเรื่องเก่า เล่าในวิธีเก่าด้วย ระดับบนมีกลอนที่ใช้ภาษาสละสลวย และแฝงด้วยทัศนคติ และรสนิยมของคนในวัง…

ภาคพิสดารทั้ง 3 ภาค ต่างจากเค้าเรื่องเดิมอย่างน่าสนใจ สถานที่เกิดของเค้าเรื่องเดิมเป็นเขตภูธรคือจังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี หรือไม่ก็เป็นป่า

นอกเหนือจากตัวเอก 3 ตัว ตัวละครอื่น ๆ คือเพื่อนบ้าน ข้าราชการท้องถิ่น พรานป่า คนพายเรือจ้าง ชาวบ้านป่า พระ และสมภารวัด เรื่องเล่าเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์สำคัญของชีวิตประจำวัน การเกิด การตาย การแต่งงาน การสร้างเรือนหอ การถูกโจรปล้น ความเจ็บไข้ สงกรานต์ และเทศน์มหาชาติ

สถานที่ของภาคพิสดาร คืออยุธยาเมืองหลวง หรือการเดินทัพ แม้ในภาคพิสดาร 1 มีการกลับไปเยือนสุพรรณเป็นระยะสั้น ๆ ไม่กี่ครั้ง ตัวละครประกอบล้วนแล้วแต่เป็นขุนนางหรือทหาร เนื้อเรื่องเกี่ยวโยงกับการเข้าเฝ้าที่วังหลวง การยาตราทัพ การทำสงคราม และการขึ้นโรงขึ้นศาล ทั้งหมดคือเรื่องราวชีวิตของขุนนาง

สไตล์การเล่าเรื่องก็แตกต่าง ในเค้าเรื่องเดิม เรื่องราวดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และมีหลายรสสลับกัน ทั้งบทรัก บทตลก บททะเลาะวิวาท และบทหยาบโลน ในภาคพิสดาร เรื่องราวดำเนินไปเรื่อย ๆ อ้อยอิ่ง การเล่าเรื่องมักแทรกด้วยบทกลอนที่จงใจแสดงให้เห็นฝีมือการใช้ภาษา การเล่นคำ ทักษะการแต่งกลอน อ้างถึงงานวรรณกรรมอื่น ๆ (โดยเฉพาะรามเกียรติ์ อิเหนา และละครนอก) มีคำสอนคล้าย ๆ กับตำราสอนสมบัติผู้ดีซึ่งเป็นที่นิยมเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19

ความแตกต่างระหว่างเค้าเรื่องเดิมกับภาคพิสดารสะท้อนว่าบทเสภาเปลี่ยนผ่านจากกลอนเสภาพื้นบ้าน เข้าสู่ประเพณีการแต่งกลอนละครของกวีราชสำนักที่สนองความนิยมการอ่านของบรรดาชนชั้นสูง โดยย่อเมื่อพูดถึงเสภาชาวบ้าน เราอาจจะจินตนาการนึกถึงนักเสภาขับกลอนเสภาสำนวนพื้นบ้านที่สามารถเรียกน้ำตาสลับกับเสียงหัวเราะ และเสียงปรบมืออย่างอื้ออึงจากชาวบ้านได้

แต่เมื่อนึกถึงกลอนเสภาของราชสำนัก อาจจะไม่สามารถจินตนาการว่าได้รับความนิยมจากชาวบ้านในทำนองเดียวกับกลอนเสภาแบบชาวบ้านได้ ทั้งนี้เพราะกลอนแบบในวังมีความสละสลวยด้านภาษาอย่างเป็นทางการ แสดงวิถีชีวิต วิธีคิดแบบขุนนางมีเป้าประสงค์ด้านหลักเป็นเรื่องจริยธรรม หลักการเมือง และคำสั่งสอนที่ชาวบ้านธรรมดา ๆ ฟังแล้วอาจไม่สนุก

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2564