อวสานชีวิตนางวันทอง กับ “ฉากรักในป่า” ฉากรักสำคัญสุดในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

จิตรกรรม เผาศพ นางวันทอง ขุนช้างขุนแผน
“เผาศพนางวันทอง” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

วันทอง 2021 ละครดังจบลาจอได้อย่างกระชากใจและแกงผู้ชมกับการปรับบทเปลี่ยนแปลงตอนจบไม่ตรงตามบทเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน นางวันทองจะตายหรือไม่ ตีความใหม่ถูกใจหรือเปล่า เข้าไปชมย้อนหลังได้

ส่วนนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2564 มีนำเสนอบทความที่ชื่อ “ฉากรักในป่า” เบื้องหลังฝังใจขุนแผนกับนางวันทอง โดย นิพัทธ์ แย้มเดช มีกล่าวถึงบทสรุป อวสานชีวิตนางวันทอง “ฉากรักในป่า” ไม่เลือนหาย จะขอคัดมาให้อ่านย้อนหลังพอเป็นกระแสนิดๆ ถ้ายังไม่จุใจตามอ่านได้เต็มๆ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2564

“ฉาก” ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนมีความสำคัญมาก เพราะฉากในแต่ละตอนถือว่าเป็นองค์ประกอบของเนื้อเรื่องที่ทำให้ตัวละครมีมิติเคลื่อนไหว และมีความสมจริง ดังที่วิภา กงกะนันทน์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของฉากในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนไว้ว่า …ในบรรดาวรรณคดีไทยที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นวรรณคดีที่แสดงให้เห็นความสมจริงในเรื่องตัวละคร และฉากมากกว่าเรื่องอื่นๆ…”[1]

“ฉากรักในป่า” ของขุนแผนกับนางวันทอง เป็นฉากรักอมตะครองใจผู้คนยาวนานกว่าศตวรรษ ฉากรักที่ว่านี้แทรกในท้องเรื่อง 4 ตอน คือ ตอนที่ 18 ขุนแผนพานางวันทองหนี ตอนที่ 19 ขุนช้างตามหานางวันทอง ตอนที่ 20 ขุนช้างฟ้องว่าเป็นขุนแผนเป็นขบถ และตอนที่ 21 ขุนแผนลุแก่โทษ ใครได้อ่านวรรณคดีเรื่องนี้ ล้วนจดจำฉากรักของขุนแผนกับนางวันทองด้วยกันทั้งนั้น

อวสานชีวิตนางวันทอง “ฉากรักในป่า” ไม่เลือนหาย

ส.ศิวรักษ์ เมื่อวิจารณ์บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ได้ชี้ชวนคุณวิเศษไว้ว่า “ถ้าจะอ่านขุนช้างขุนแผน ขอให้อ่านฉบับหอพระสมุด อ่านเพียงแค่ประหารวันทองก็นับว่าเกินคุ้ม แต่ถ้าใครไม่อ่านขุนช้างขุนแผน ก็อย่าเป็นคนไทยเลย”[2] ผู้เขียนเห็นด้วยในข้อที่ว่าอ่านวรรณคดีเรื่องนี้ในบทประหารนางวันทอง “นับว่าเกินคุ้ม” เพราะคงไม่เป็นการกล่าวเกินจริง หากจะชี้ว่าบทเสภาตอนประหารนางวันทอง เป็นตอนที่จับใจและสะเทือนอารมณ์มากที่สุด ยากนักที่จะหาวรรณคดีโบราณให้ภาพโศกนาฏกรรมตัวละครเอกฝ่ายหญิงแทงทะลุใจเท่าบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

“ฉากรักในป่า” เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เสริมบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนให้มีเสน่ห์ มีความประทับใจ และตราตรึงใจ “ฉากรักในป่า” คือ สถานที่บรรจุความหมายของชีวิตฝังลึกในห้วงอารมณ์ขุนแผนกับนางวันทอง ทั้งคู่ต่างเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านความสุขสโมสร ความยากลำบาก และความภาคภูมิในศักดิ์ศรี คละเคล้าด้วยเสียงหัวเราะและน้ำตา

“ฉากรักในป่า” คือ สถานที่ไร้การปรุงแต่ง ไร้กฎเกณฑ์ และไร้มารยา ท่ามกลางธรรมชาติโอบล้อมทั้งคู่ ตัดขาดจากสังคมภายนอก ธรรมชาติทำหน้าที่เป็นที่พักพิงยามที่คนทั้งสองหนีอาญาแผ่นดิน และธรรมชาติก่อกำเนิดชีวิตหนึ่ง หล่อเลี้ยงให้ขุนแผนกับนางวันทองประจักษ์ถึงรักแท้อันบริสุทธิ์

“ขุนแผนพานางวันทองลงเล่นน้ำในป่า” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย

เหตุการณ์อวสานชีวิตนางวันทอง คือ บทสรุปที่ให้ความหมายฉากรักในป่าได้อย่างดีที่สุด ก่อนที่นางวันทองจะสิ้นลมหายใจ นางถ่ายทอดประสบการณ์ฝังใจให้ลูกตระหนักถึงสายใยรักของนาง ดังที่นางเท้าความไปยังเหตุการณ์อุ้มท้องลูก ทนทุกข์เวทนาพร้อมกับลูก “ผ่าแดดแผดฝนทนลำบาก ปลิงทากร่านริ้นมันกินกัด หนามไหน่ไขว่เกี่ยวเที่ยวเลี้ยวลัด แม่คอยปัดระวังให้แต่ในครรภ์” สายใยรักนี้แข็งแกร่งยิ่งกว่าตาข่ายเพชร เป็นสายใยที่เกิดจากสองมือของนางที่ทะนุถนอมครรภ์ และความใส่ใจของขุนแผนที่มีต่อลูกในครรภ์ พ่อพาขี่ม้าไม่ขับควบ ขยับยวบกลัวเจ้าจะหวาดหวั่น ที่สำคัญยิ่ง นางวันทองถ่ายทอดสัจธรรมให้ลูกตระหนักถึงความผันแปร โดยย้ำเหตุการณ์ที่นางอยู่ในป่า โยงธรรมชาติที่หมุนเวียนผ่านไป และปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันคาดคิด เพื่อสื่อถึงความหมายที่ไม่ต่างอะไรกับหัวใจเต้นระริกของนางที่จะหยุดเต้นแล้ว เหมือนอุตส่าห์ดั้นด้นพ้นป่าชัฏ พอเห็นแสงจำรัสพระเวหา สำคัญคิดว่าจะสุขทุกเวลา พอสายฟ้าฟาดล้มจมดินดาน

ไม่เพียงนางวันทองลิ้มรสสีสันชีวิตขณะผจญภัยในป่า ขุนแผนผู้เป็นยอดชายชาตรี ยังหวั่นไหวอย่างสุดซึ้ง ขุนแผนปรับทุกข์กับเมียรักในวาระสุดท้าย โดยกล่าวย้อนหลังไปยังช่วงเวลาที่อยู่ในป่า ซึ่งทั้งสองใช้ชีวิตอย่างที่เรียกว่ากัดก้อนเกลือกิน ความหนักแน่นมั่งคงที่นางวันทองมีต่อผัวรัก ขุนแผนยกย่อง “น้ำใจ” นางวันทองว่า ถึงสุดแสนลำบากยากไร้ เจ้าสู้จนทนได้ไปกับผัว จนพฤกษาหายากกินรากบัว ชั้นชั่วข้าวสักเม็ดไม่พานพบ

ขุนแผนเอ่ยว่าเป็นเวลานานถึงแปดเดือน ที่พานางวันทองหลบอยู่ในป่าโดยไม่พบปะบ้านผู้คนสักหลัง จนเมื่อลูกเกิดขึ้น ก็หวาดระแวงสารพัดกลัวลูกจะเป็นอันตราย “ครั้นมีครรภ์ลูกยามาสมทบ ก็ปรารภคอยระวังแต่ตั้งท้อง ค่ำเช้าพี่เฝ้าประคับประคอง จนเห็นท้องแก่เกรงจลาจล จึงพาเจ้าเข้าหาพระพิจิตร ก็ได้รอดชีวิตไม่ขัดสน                                      

ชีวิตของขุนแผนกับนางวันทองสะกดตรึงอยู่ที่ฉากรักในป่า อันเป็นฉากที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งของเรื่อง เป็นฉากที่ขับเคลื่อนโครงเรื่องให้ดำเนินต่อไปได้ ป่าดงพงไพรมีพลังในการเย้ายวนอารมณ์ด้านลึกของขุนแผน นางวันทอง รวมทั้งขุนช้างที่ต่างหยั่งเห็นคุณค่าของความรัก ต่างกระจ่างแจ้งแก่ใจตนเองทั้งสิ้นว่า ความรักที่มีคุณค่านั้น คือ ความพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะดูแล และปกป้องความรักไม่ให้สูญหาย  อีกทั้งความรักที่จะยังโลกให้หวั่นไหวไปกับความอ่อนโยน คือ การเสียสละเพื่อให้คนรักอิ่มสุขและพ้นภัย

ขุนแผน นางวันทอง และขุนช้างต่างเจ็บปวดเพราะความรัก ต่างแลกมาด้วยเลือดเนื้อเพื่อความรัก เพราะฉะนั้น “ฉากรักในป่า” จึงเป็นฉากรักสำคัญที่สุดในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งเข้าถึง “ก้นบึ้งหัวใจ” ของตัวละครทั้งสามตัว และจับใจผู้อ่านผู้ฟังจวบจนปัจจุบัน…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] วิภา กงกะนันทน์. กำเนิดนวนิยายในประเทศไทย ประวัติวรรณคดีไทยสมัยใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2561), น. 47.

[2] สุลักษณ์ ศิวรักษ์. ชวนอ่านและวิจารณ์หนังสือต่างๆ. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2557), น. 81.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2564