ทำไมต้องฆ่าวันทอง? วิเคราะห์ “นางวันทองสองใจ” จริงหรือ แล้วผิดข้อหาอะไร

วันทอง กับ นางสายทอง จิตรกรรม วัดป่าเลไลยก์
จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต นางพิมพิลาไลย (นางวันทอง) กับนางสายทอง (ภาพจากวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย)

ในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ทำไมต้องฆ่า “วันทอง” ? ความลังเลใจเลือกไม่ได้ไม่ใช่ความผิดทางอาญา เธอต้องตายเพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างขุนแผน กับพระพันวษา

คำตอบพื้นๆ คือ นางวันทองสองใจ เพราะไม่อาจตัดสินใจ หรือไม่ตัดสินใจว่าจะอยู่กับใคร ขุนช้างหรือขุนแผน เมื่อพระพันวษารับสั่งให้นางตัดสินใจให้เด็ดขาด แต่นี่คือเหตุผลที่แท้จริงกระนั้นหรือ?

เค้าเรื่องเดิมของเสภา มุ่งไปที่ความสัมพันธ์ของชายกับหญิงเริ่มต้นที่การแข่งขันกันระหว่างยาจก (ขุนแผน) กับเศรษฐี (ขุนช้าง) เมื่อเรื่องราวดำเนินไปก็ทวีความซับซ้อนขึ้นเกี่ยวกับบทบาทหรือบริการที่ชายสามารถให้กับหญิง ขุนแผนสนองอารมณ์ความรัก ความเสน่หา มีลูกสืบทอด และความตื่นเต้นในชีวิต แต่ไม่อาจให้ความคุ้มครอง (เหมือนร่มโพธิ์ร่มไทร) เพราะมักต้องจากไป เดินทัพ ไปป่า หรือไม่ก็ถูกราชอาญาจองจำในคุก กับขุนช้าง นางได้ครองเรือน มีทรัพย์ศฤงคาร และได้รับการคุ้มครอง แต่อยู่ด้วยกันโดยไม่มีโรแมนซ์และไม่มีลูก

แต่เสภาก็มีเนื้อเรื่องด้านอื่นๆ ด้วย

วันทอง กับ นางสายทอง จิตรกรรม วัดป่าเลไลยก์
จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต นางพิมพิลาไลย (นางวันทอง) กับนางสายทอง (ภาพจากวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี เขียนโดย เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย)

โทษทัณฑ์

นางวันทองทำผิดอะไร? ความลังเลใจตัดสินใจไม่ได้ ไม่ใช่ความผิดทางอาญา ตามกฎหมายตราสามดวง หญิงที่ถูกพบว่าเป็นชู้ หรือมีสองชาย มีโทษถูกประจานไปตามถนน มีคนตีกลองเดินนำหน้า หญิงคบชู้มีป้ายติดที่หน้าผาก ทัดดอกชบา และพวงมาลาบนศีรษะ กฎหมายอนุญาตให้ผัวฆ่าเมียที่มีชู้ได้ แต่ต้องฆ่าชายชู้เสียก่อน

ในเสภา นางวันทองวิตกกังวลว่าอาจถูกตราหน้าว่าเป็นหญิงสองใจ นางกลัวถูกนินทา กลัววงศ์ตระกูลเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่นางไม่ได้กลัวว่าจะถูกลงโทษตามกฎหมาย

เช่นนั้นแล้ว บทลงโทษมาจากไหน? รายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายในเสภาค่อนข้างถูกต้อง กระบวนการศาลเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายตราสามดวง การลงโทษเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย นักกวีดูเหมือนจงใจและภูมิใจที่สำแดงความรู้ในเรื่องเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้ที่บทลงโทษจะผิดเพี้ยนไปจากข้อกำหนดที่มีอยู่

ขอให้พิจารณาดูกลอนเสภาตอนพระพันวษารับสั่งบทลงโทษ

เร่งเร็วเหวยพระยายมราช   ไปฟันฟาดเสียให้มันเป็นผี

อกเอาขวานผ่าอย่าปรานี   อย่าให้มีโลหิตติดดินกู

เอาใบตองรองไว้ให้หมากิน ตกดินจะอัปรีย์กาลีอยู่

(ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 3 ตอนที่ 35 น. 232)

ส่วนสำคัญคือ “อย่าให้มีโลหิตติดดินกู”

นี่คือบทลงโทษสำหรับกบถ พบใน มาตรา 1 ของ พระไอยการกระบดศึก โดยย่อ มาตรานี้กำหนดว่า ผู้ใดพยายามยึดพระราชบัลลังก์ หรือพยายามทำลายพระมหากษัตริย์ด้วยอาวุธ ยาพิษ หรือปฏิเสธที่จะส่งบรรณาการในฐานะเป็นเจ้าเมือง หรือผู้ใดที่ยุยงส่งเสริมให้ศัตรูโจมตีหรือให้ข้อมูลกับศัตรู ต้องโทษประหารชีวิตให้ริบราชบาตรเป็น 3 สถาน (ก) หนึ่งชั่วโคตร (ข) สองชั่วโคตร หรือ (ค) จนกระทั่งไม่มีผู้สืบตระกูล ให้ประหารให้ได้ 7 วัน จึงให้สิ้นชีวิต เมื่อประหารนั้นอย่าให้โลหิตแลอาศภตกลงในแผ่นดิน ให้ใส่แพลอยเสียตามกระแสน้ำ แผ่นดินหนา 240,000 โยชน์ (มาตรา 1 พระไอยการกระบดศึก ในกฎหมายตราสามดวง เล่ม 4 น. 124 หนังสือชุดภาษาไทยของครุสภา พ.ศ. 2537)

ผู้เขียนไม่พบข้อกำหนดเกี่ยวกับ อย่าให้มีโลหิตตกพื้นนี้ในส่วนอื่นๆ ของกฎหมายตราสามดวงเลย ถ้ากระนั้นใครคือกบถ นางวันทอง หรือ?

ภาพวาดพระพันวษา จากภาพยาซิกาแร็ตชุด ขุนช้างขุนแผน ที่พิมพ์เป็นแผ่นเล็กๆ บรรจุอยู่ในซองบุหรี่ยี่ห้อ EAGLE ออกจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2468

ฉากขึ้นศาล

เสภาตอนนี้อยู่ก่อนหน้าบทลงโทษ ก่อนที่จะทรงตัดสินลงทัณฑ์นางวันทอง พระพันวษาทรงเกือบลงพระอาญากับอีก 2 คน และบทลงโทษในส่วนนี้ก็ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง

ประการที่ 1 นางวันทองให้การว่าขุนช้างใช้กำลังชิงตัวนางเมื่อหลายปีที่ผ่านมา และขุนช้างอ้างว่าเขากระทำไปเพราะมีพระบรมราชโองการสั่งมา พระพันวษาทรงพระพิโรธหนัก และทรงเปล่งพระสุรเสียงว่า

ครานั้นพระองค์ผู้ทรงภพ ฟังจบกริ้วขุนช้างเป็นหนักหนา

มีพระสิงหนาทตวาดมา อ้ายบ้าเย่อหยิ่งอ้ายลิงโลน

ตกว่ากูหาเป็นเจ้าชีวิตไม่ มึงถือใจว่าเป็นเจ้าที่โรงโขน

เป็นไม่มีอาญาสิทธิ์คิดดึงโดน เที่ยวทำโจรใจคะนองจองหองครัน

อีวันทองกูให้อ้ายแผนไป อ้ายช้างบังอาจใจทำจู่ลู่

ฉุดมันขึ้นช้างอ้างถึงกู ตะคอกขู่อีวันทองให้ตกใจ

ชอบตบให้สลบลงกับที่ เฆี่ยนตีเสียให้ยับไม่นับได้

มะพร้าวห้าวยัดปากให้สาใจ …

(ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 3 ตอนที่ 35 น. 229,230)

ตรงนี้ รายละเอียดสำคัญคือ ที่ทรงขู่ว่าจะลงโทษโดยให้เอา มะพร้าวห้าวยัดปาก ในทำนองเดียวกับบทลงโทษนางวันทอง โทษทัณฑ์นี้ปรากฏเพียงครั้งเดียวในกฎหมายตราสามดวงและอยู่ในแหล่งที่เห็นได้ชัดคือ มาตรา 1 พระไอยการอาญาหลวง เป็นบทที่ว่าด้วยการ ทำใจใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์ บรรยายโทษสำหรับการมี ถ้อยคำมิควรเจรจา ต่อพระมหากษัตริย์หรือก้าวล่วงถึงอำนาจของพระองค์ ใช้คำเหมือนกับในเสภาคือ “ให้เอามะพร้าวห้าวยัดปาก” (กฎหมายตราสามดวง เล่ม 4 น. 6) การ ให้ตัดปากเสีย ให้ตัดปากประจาน ฯลฯ พบในส่วนอื่นๆ ของกฎหมายตราสามดวง เป็นบทลงโทษสำหรับความผิดอื่นๆ เช่น รุกราชบาตรข่มเหงไพร่ฟ้า ประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติ รายละเอียดเกี่ยวกับใช้มะพร้าวห้าวยัดปาก ปรากฏครั้งเดียวใน มาตรา 1 ของพระไอยการอาญาหลวงนี้

ประการที่ 2 ขุนช้างบรรยายว่าพระไวยลักพานางวันทองมาจากเรือนของตน พระพันวษาทรงพระพิโรธและทรงเปล่งพระสุรเสียงว่า

ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช ฟังเหตุขุ่นเคืองเป็นหนักหนา

อ้ายหมื่นไวยทำใจอหังกา ตกว่าบ้านเมืองไม่มีนาย

จะปรึกษาตราสินให้ไม่ได้ จึงทำตามน้ำใจเอาง่ายง่าย

ถ้าฉวยเกิดฆ่าฟันกันล้มตาย อันตรายไพร่เมืองก็เคืองกู

อัยการศาลโรงก็มีอยู่ ฤาว่ากูตัดสินให้ไม่ได้

ชอบทวนด้วยลวดให้ปวดไป ปรับไหมให้เท่ากับชายชู้

(ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 3 ตอนที่ 35 น. 230)

ตรงนี้บทลงโทษค่อนข้างแปลกสักหน่อย แต่ประเด็นคือพระมหากษัตริย์ทรงเห็นว่าการกระทำของพระ ไวยนั้นเป็นการท้าทายอำนาจของพระองค์และเป็นอันตรายกับความมีระเบียบเรียบร้อยของสังคม

ฉากนี้ สำแดงให้เห็นความวิตกกังวลของพระมหากษัตริย์ แต่ใครเป็นขบถ? มีตัวละครสำคัญ 4 ตัว ซึ่งปรากฏหน้าพระพักตร์ (นางวันทอง ขุนช้าง ขุนแผน พระไวย) แต่ขุนแผน เป็นผู้เดียวซึ่งพระพันวษาไม่ได้ทรงพระพิโรธ

โครงสร้างของเค้าเรื่องเดิม

ขอให้ย้อนมาพิจารณาโครงสร้างเค้าเรื่องเดิมของเสภาอีกครั้ง ในบทความก่อนหน้า ผู้เขียนได้บรรยายให้เห็นว่า เค้าเรื่องเดิมคือเนื้อหาในตอนที่ 1-23, 35-36 สำหรับเรื่องราวของพระไวยนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นการแทรกเติมเสริมแต่งภาคพิสดาร 1 ซึ่งได้ถูกเพิ่มเข้าไปตรงกลางเค้าเรื่องเดิม ถ้าหากเราแยกเอาเฉพาะเค้าเรื่องเดิมออกมา จะพบว่ามีโครงสร้างแบ่งได้เป็น 4 ส่วน

ส่วนที่ 1 บทนำ (ตอนที่ 1-2) แนะนำสถานที่เกิดของเรื่องและตัวแสดงหลัก

ส่วนที่ 2 รักสามเส้า (ตอนที่ 3-15) บรรยายขุนแผนเป็นชู้กับนางพิมพ์ แต่งงาน แล้วขุนช้างแย่งชิงตัวนางวันทองไป

ส่วนที่ 3 ความขัดแย้ง (ตอนที่ 16-23) เมื่อขุนแผนตระเตรียมแผนการล้างแค้นขุนช้าง และ

ส่วนที่ 4 อวสาน (ตอนที่ 35-36) ฉากขึ้นศาลและฆ่านางวันทอง

อารมณ์ของเสภาเปลี่ยนเมื่อเนื้อเรื่องลื่นไหลจากส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่ 3 ขุนช้างได้ใช้เส้นสายที่พระราชสำนักเพื่อช่วยให้ตัวเองได้เปรียบเหนือขุนแผน ผลก็คือขุนแผนไม่ใช่เป็นเพียงคู่แข่งกับขุนช้างเพียงอย่างเดียว แต่แข่งกับอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วย จากจุดนี้ ขุนแผนเป็นคนเร่ร่อนเสมือนโรนินในนิทานญี่ปุ่น ที่เป็นซามูไรไร้นาย

เริ่มต้นเขาเตรียมป้องกันตัวเอง หาม้า ตีดาบ และกุมารทอง เหล็กที่ใช้ตีดาบมีส่วนผสมเป็นเหล็กจากเหมือง 2 แห่งที่ใช้เพื่อสร้างพระราชกกุธภัณฑ์ และเหล็กจากยอดปราสาทของพระมหาราชวัง ขุนแผนเรียกดาบนี้ว่า ดาบฟ้าฟื้น มีความหมายว่า ฟ้าร้องก่อนฝนมา และเป็นชื่อหนึ่งของอาวุธในบรรดาพระราชกกุธภัณฑ์ที่ถวายในพระราชพิธีครองราชย์ของขุนบรม พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในตำนานไทย-ลาว [1] ต่อมาขุนแผนบอกกับลูกชายว่า

อันฟ้าฟื้นเล่มนี้ดียิ่งนัก ดาบอื่นสักหมื่นแสนไม่แม้นเลย

ตัวพระแสงทรงองค์กษัตริย์ ไม่เทียมทัดของเราดอกเจ้าเอ๋ย

(ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 3 ตอนที่ 27 น. 34)

เมื่อมีอาวุธป้องกันตัวครบครัน ขุนแผนแสดงความฮึกเหิมเปิดเผยขึ้น “ถึงจะยกทัพตามสักสามพัน ลูกจะฟันให้เห็นภัสม์ธุลีลง” (ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 2 น. 29) เมื่อกุมารทองเตือนสติว่า “งดก่อนผ่อนพ่ออย่าเพ่อฆ่า ไม่กลัวอาญาเจ้าชีวิตฤา” (ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 2 น. 41) ขุนแผนสวนกลับว่า “เอออือกูไม่กลัวแล้วอาญา” (ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 2 ตอนที่ 17 น. 41)

นับจากจุดนี้ บทของขุนแผนในเสภามีการแนะนำตัวโดยมีบทยอเกียรติสั้นๆ แม้จะไม่วิจิตรพิสดารเสมือนที่บรรยายแนะนำองค์พระมหากษัตริย์ที่กระทำเป็นมาตรฐาน บทยอเกียรติขุนแผนนี้เฉลิมฉลองว่า “เรืองฤทธิ์ฤาดีไม่มีสอง” (ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 2 ตอนที่ 17 น. 27) และ “รุ่งฤทธิ์พริ้งเพริศระเหิดระหง” (ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 2 ตอนที่ 17 น. 31) [2]

ขุนช้างกล่าวโทษว่าขุนแผนเป็นขบถ แต่ตามแบบฉบับขุนช้าง เขาไม่เก่ง ขุนแผนจึงชนะความ ขุนเพชรและขุนรามกล่าวโทษว่าขุนแผนเป็นขบถ ขุนแผนโกรธจนลุแก่โทษ แล้วฆ่าพวกเขาเสีย

ขุนแผนกลายเป็นคนนอกกฎหมาย ร่อนเร่ไปอยู่ซ่องโจรของหมื่นหาญ พเนจรไปหมู่บ้านชาวละว้าและชาวกะเหรี่ยง เข้าป่าแถบทิวเขาตะนาวศรี ลี้ภัยไปหาพระพิจิตร ซึ่งมีชื่อเสียงว่าใจดีมักช่วยให้ที่พักพิงกับคนนอกกฎหมายที่เดือดร้อน

เมื่อขุนแผนยอมมอบตัว กลับไปอยุธยาเพื่อสู้คดีความ เขามั่นใจว่าเขาจะรอดตัว เพราะเขามีวิชา

ข้อหนึ่งว่าเราเข้ามาหา มิได้ไปจับมาแต่ป่ากว้าง

โทษทัณฑ์นั้นเล่าจะเบาบาง แล้วก็ขว้างด้วยกำลังวิทยา

(ฉบับวัดเกาะ เล่มที่ 18 น. 672)

หากความเข้าใจของผู้เขียนเกี่ยวกับโครงสร้างเค้าเรื่องเดิมของเสภาถูกต้อง หลังจากขุนแผนมอบตัว เนื้อเรื่องก็น่าจะดำเนินไปสู่บทขึ้นศาล และฆ่านางวันทอง

จุดสำคัญของเรื่อง

ในเค้าเรื่องเดิมส่วนที่ 3 ขุนแผนกลายเป็นผู้มีอำนาจพิเศษยิ่ง เขาแข่งกับอำนาจรัฐ และโดยนัยแข่งกับอำนาจพระมหากษัตริย์ ดูเหมือนว่าพระองค์จะรู้สึกได้ถึงสภาพการณ์นี้

อ้ายแสนกล [ขุนแผน] ถือตนว่ามีฤทธิ์ ตกมันคิดว่ากูสู้ไม่ได้

…………………………….   มันดีแล้วเป็นไรไม่เหาะเหิน

…………………………..

(ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 2 ตอนที่ 22 น. 125)

สมภารคงวัดแค ซึ่งสอนวิชาให้ทั้งขุนแผนและขุนไกรพ่อของเขา เชื่อว่าขุนแผนสามารถที่จะท้าทายอำนาจพระมหากษัตริย์ได้ สมภารขัดเคืองใจมากที่ขุนไกรถูกประหารดังที่กล่าวว่า

………………………..   ยังแค้นใจที่มันม้วยไม่ต่อมือ

โดยจะสิ้นความคิดวิทยา จะซานมาหากูไม่ได้ฤา

ถ้าใครกล้าตามมาไม่มีครือ จะฟันเสียให้ถือเป็นแทงลาว

(ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 1 ตอนที่ 5 น. 98)

นอกจากนั้น สมภารคงตำหนิที่ขุนแผนยอมถูกจำคุกเนิ่นนาน เมื่อกล่าวว่า

ถ้าแม้นเขาแล่นมาตามจับ จะผกผ้าพยนต์รับให้ต่อสู้

ช่างนิ่งเฉยเสียได้อ้ายนอกครู ความรู้ท่วมหัวยังกลัวคน

(ฉบับวัดเกาะ เล่มที่ 23 น. 898)

ฉากขึ้นศาลส่วนใหญ่ในตอนที่ 35 มีประเด็นหลักคืออำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกท้าทายหรือไม่? เริ่มแรกพระพันวษาทรงกล่าวโทษว่าขุนช้างท้าทายพระองค์ ต่อมาทรงกล่าวโทษพระไวยเช่นเดียวกัน และคนต่อไปที่จะถูกกล่าวโทษนี้ก็น่าจะเป็นคนที่อยู่หน้าพระพักตร์คนที่ 3 คือขุนแผน

โครงสร้างของเค้าเรื่องเดิม ฉากนี้ก็น่าจะเริ่มจากเรื่องราวของขุนแผนในฐานะเป็นคนนอกกฎหมาย ประเด็นที่ว่า ขุนแผนมีความสามารถที่จะท้าทาย บังอาจขัดอำนาจของพระองค์ หรือเป็นอุปสรรคต่อพระมหากษัตริย์หรือไม่ ปรากฏอยู่แต่ ณ จุดวิกฤตนี้ พระพันวษาไม่ได้ทรงเผชิญหน้ากับขุนแผนกลับทรงหันไปที่นางวันทอง

มันเกิดเหตุทั้งนี้ก็เพราะหญิง จึงหึงหวงช่วงชิงยุ่งยิ่งอยู่

(ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เล่ม 3 ตอนที่ 35 น. 231)

จากจุดหักเหนี้ ความตายของนางวันทอง จึงเป็นการบูชายัญ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างขุนแผนกับพระพันวษา ในแง่ของพล็อตเรื่อง ฆ่านางวันทอง จึงเป็นบทอวสานของเสภาที่โศกสุดๆ และจับใจมาก ในแง่ของเนื้อหาว่าด้วยอำนาจและการกบถ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของเรื่องมาโดยตลอด บทอวสานนี้ทิ้งท้ายประเด็นไว้ โดยไม่มีคำตอบชัดเจน เพราะว่าจริงๆ แล้ว ตอบไม่ได้

ฉาก ฆ่า วันทอง
ฆ่านางวันทอง ภาพวาดโดย อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ประกอบหนังสือเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน สำนวนกาญจนาคพันธุ์ และ นายตำรา ณ เมืองใต้ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504

เสภาเป็นตำรา

เสภา ขุนช้างขุนแผน ไม่ใช่ผลงานของใครคนใดคนหนึ่ง เสภาได้พัฒนามาเป็นเวลาช้านาน นักเสภา นักกวี และนักชำระหลายคนมีส่วน เสภาได้รับความนิยมสูง เพราะเนื้อหามีความหมายแก่ผู้ฟัง และเสภายิ่งได้รับความนิยมสูงเมื่อนักเสภาปรับปรุงเรื่องราวให้สนองรสนิยมของผู้ฟัง นักเสภาเพิ่มเติมพล็อต ขยายบทสนทนา นำเอานิทานอื่นๆ เข้ามาเสริมแต่งพัฒนาตัวละครให้ถูกรสนิยมผู้ฟังของแต่ละสมัย

ด้วยกระบวนการเหล่านี้ งานเสภาเรื่องนี้จึงกลายเป็นหีบสมบัติที่บรรจุ คุณค่า วิธีทำความเข้าใจกับโลก และบทเรียนแห่งชีวิตไว้เต็มเพียบ กลอนเสภาคงความนิยมอยู่ตลอดมาเพราะว่า คนแต่ละรุ่นสามารถที่จะอ่านแล้วหาความหมายให้กับตัวเองได้ทุกรุ่น ในแง่นี้เสภาขุนช้างขุนแผนจึงเป็นเสมือนตำนาน เรื่องเล่า นิยายปรัมปรา และนิทานพื้นบ้าน ไม่ใช่นวนิยายสมัยใหม่

งานวรรณกรรมเช่นนี้ ให้ความหมายหลายระดับ ไม่มีวิธีอ่านวรรณกรรมนี้อย่างถูกต้องวิธีเดียว มีหลายวิธี แน่นอนว่า ความตายของวันทองสำแดงให้เห็นความต่างระหว่างชายกับหญิงแบบสุดขั้วในช่วงเวลานั้น แต่ความตายของนางก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวเกี่ยวกับอำนาจด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] Souneth Phothisane. The Nidan Khun Borom : annotated translation and analysis. Ph.D Thesis, University of Queensland, 1996. p. 126.

[2] บทยอเกียรติครั้งแรกพบในกลอนวรรคแรกตอนที่ 14 จะกล่าวถึงขุนแผนแสนสนิท เรืองฤทธิ์ข้าศึกนึกสยอง แต่ดังที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์ไปในบทความก่อนหน้าว่า ตอนที่ 14 น่าจะเป็นอีกสำนวนของตอนที่ 17 แต่ได้มีการปรับแต่งแล้วย้ายมาอยู่ตอนก่อนหน้า


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2561